Posted: 09 Dec 2017 09:03 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังจากที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกกล่าวหาในเรื่องอำนาจนิยมมาเป็นปี ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 'รอดริโก ดูเตอร์เต' และนายกรัฐมนตรี 'ฮุนเซน' ของกัมพูชา ก็ได้รับเสนอชื่อเข้ารับ 'รางวัลสันติภาพขงจื๊อ' (Confucius Peace Prize) ซึ่งถูกมองว่าเป็นรางวัลที่โต้ตอบ 'รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ' ที่เคยมอบให้ 'หลิวเสี่ยวโป'


ที่มาภาพ: แฟ้มภาพ Wikimedia Commons

9 ธ.ค. 2560 รางวัลขงจื๊อถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2553 โดยสมาคมศิลปะพื้นบ้านจีน (Association of Chinese Indigenous Arts) ซึ่งเป็นรางวัลของจีนที่ต้องการคู่ขนานรางวัลสันติภาพโนเบล โดยรัฐบาลจีนตอบรับข้อเสนอการจัดรางวัลนี้จากนักธุรกิจจีนที่ชื่อหลิวจือชีน (Liu Zhiqin) โดยอ้างว่าเป็นการประกาศรางวัล "ส่งเสริมสันติภาพของโลกจากมุมมองของตะวันออก" แต่ก็มีคนมองว่าพวกเขาต้องการโต้ตอบการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับหลิวเสี่ยวโป นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนที่เคยถูกทางการจีนสั่งจำคุก และเขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

การประกาศรางวัลดังกล่าวมีการประกาศเป็นรายปีนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา และมีการเสนอรางวัลเป็นเงินจำนวน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 490,000 บาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) ในจำนวนผู้ที่เคยได้รับประกาศชนะผลรางวัลมีทั้งอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน (ปี 2555) วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (ปี 2554) ฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคนสำคัญของคิวบา (ปี 2557) หรือแม้กระทั่งโรเบิร์ต มูกาเบ (ปี 2558) อดีตผู้นำอื้อฉาวของซิมบับเวที่เพิ่งถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา

ทุกคนที่ถูกประกาศรางวัลนี้ไม่มีใครเลยที่เข้าร่วมพิธีรับรางวัล ในปี 2554 มีนักศึกษารัสเซีย 2 คนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับปูตินถูกเลือกให้ไปรับรางวัลแทน ในปี 2558 ที่ให้รางวัลกับมูกาเบ คณะกรรมการชื่นชมผู้นำอื้อฉาวผู้นี้ว่า "ทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับประเทศของเขา นำสันติภาพมาสู่ประชาชนซิมบับเว"

อยางไรก็ตามในเวลาต่อมาทางการจีนก็พยายามย้ำว่ารางวัลนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับรัฐบาลจีนเลย และหลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อปี 2554 คณะกรรมการกลุ่มนี้ก็ถูกย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกงและถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์จีนเพื่อการวิจัยสันติภาพนานาชาติ" (China International Peace Research Center)

Shanghaiist รายงานว่าในปีที่แล้วคณะกรรมการรางวัลสันติภาพขงจื๊อดูจะพายามประนีประนอมกับนานาชาติอยู่บ้างด้วยการประกาศให้รางวัลชาวจีน 3 ที่เสียชีวิตตอนที่ร่วมปฏิบัติการในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่แอฟริกา แต่ในปีนี้ดูเหมือนว่าพวกเขาจะหันกลับมาเลือกกลุ่มผู้นำเผด็จการที่สนับสนุนทางการจีนอีกครั้ง

เช่นเดียวกับมูกาเบผู้เคยถูกกล่าวหาเรื่องการเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งดูเตอร์เตและฮุนเซนต่างก็เป็นผู้นำที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบ้านตัวเอง ดูเตอร์เตเคยถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าเขาก่อ "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" จากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากมีผู้เสียชีวิตหลายรายเป็นเด็กโดยอ้างเรื่องการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ยังไม่ยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ออกตัวว่าเคยฆาตกรรมคนเมื่ออายุ 16 และขู่ฆ่าคนอื่น

อีกรายหนึ่งที่ได้รับเสนอชื่อคือฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2528 ในช่วงปีนี้เขาพยายามเอาชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้าด้วยการใช้วิธีต่าง ๆ กำจัดคู่แข่ง เช่นการสั่งยุบพรรคฝ่ายค้าน จับกุมผู้นำฝ่ายค้านและฟ้องร้องพวกเขาข้อหาทรยศชาติ ขณะเดียวกันก็ล่วงล้ำเสรีภาพสื่อและพยายามสั่งปิดกลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มหลัก ๆ ของประเทศ มีอีกข้อสังเกตอีกว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาฮุนเซนเคยเรียกร้องให้มีการสั่งห้ามธงทิเบตและธงไต้หวันในกัมพูชาเพื่อเคารพอธิปไตยของจีน

Shanghaiist รายงานว่าจะมีการประกาศผู้ชนะรางวัลสันติภาพขงจื้อภายในเดือน ธ.ค. นี้


เรียบเรียงจาก

Duterte, Hun Sen in the running for this year's Confucius Peace Prize, Shanghaiist, 07-12-2017
http://shanghaiist.com/2017/12/07/confucius-peace-prize.php

Duterte, Hun Sen nominated for 2017 Confucius Peace Prize, Asian Correspondent, 06-12-2017
https://asiancorrespondent.com/2017/12/duterte-hun-sen-nominated-2017-confucius-peace-prize/#172kFULaJZzXox4q.97


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Confucius_Peace_Prize
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.