Posted: 14 Dec 2017 12:52 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เวียง-วชิระ บัวสนธ์

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการ สนพ.สามัญชน เคยเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ไว้เมื่อหลายปีก่อน ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อรำลึกถึง ธัญญา ผลอนันต์ ในโอกาสนี้

ภาพ: Anuchit Nimtalung


โดยย่นย่อ อาจบอกได้ว่า ‘ถนนไปสู่ก้อนเมฆ’ คือเรื่องราวของหนุ่มไทยวัยยี่สิบสามปีคนหนึ่ง ได้ตัดสินใจหลบหนีความเหงาเร้ารุมจากบ้านเกิดเมืองนอน ไปรอนแรมในต่างแดนเป็นเวลาประมาณสองเดือน

ธัญญา ผลอนันต์ เปิดฉากแรกแห่งการเดินทางของ ‘เขา’ ให้เราเห็นด้วยภาพรถไฟสายปารีส-เจนีวาเคลื่อนเข้าจอดเทียบชานชาลาสถานีจนสงบนิ่ง ภายหลังจากใช้เวลาอยู่ในดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ไม่ถึงสามสิบชั่วโมง จึงมุ่งหน้าสู่มิลาน, เจนัว, โรม และอีกหลายเมืองในประเทศอิตาลี ก่อนเข้ากรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ แล้วต่อไปยังตุรกี กระทั่งเข้าสู่อัฟกานิสถานในที่สุด

ตลอดการเดินทางไปบนเส้นทางข้างต้นนี้ อาจกล่าวได้ว่า ‘เขา’ อาศัยโบกรถแทบทั้งหมด!

วิธีเดินทางดังกล่าว แน่นอนว่าผู้เดินทางย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะกำหนดความเป็นไปได้เลย หากขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือน้ำใจไมตรีของผู้อื่นมากกว่า ต่อเรื่องนี้ ชายหนุ่มนักเดินทางชาวเยอรมันคนหนึ่งได้รำพึงเอาไว้อย่างรวบรัดชัดเจนแล้วว่า “มันเป็นการท่องไปในทะเลแห่งความไม่แน่นอน เราไม่มีวันรู้ว่ากลางคืนของแต่ละวัน เราจะต้องค้างที่เมืองใด เราไม่มีสูตรว่ารถคันที่เท่าไรจะรับเรา เราไม่มีวันเดาได้ว่าคนที่รับเราจะเป็นคนชนิดไหน”

ทั้งที่เป็นเช่นนั้น ทำไมคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจึงพิสมัยวิธีการเดินทางอย่างนี้อีก

แม้ผู้เขียนจะมิได้ให้เหตุผลในกรณีของ ‘เขา’ เอาไว้ ทว่าเมื่อพิจารณาความในใจของหนุ่มชาวสเปนที่ได้สารภาพเอาไว้ในเวลาเดียวกันกับเพื่อนเยอรมันของเขา ว่า “บางครั้งน่าเบื่อ บางครั้งเหงาบรรลัย บางครั้งก็สนุกกับมันอย่างไม่เคยสนุกอย่างนั้นมาเลยในชีวิต”

นั่นอาจถือเป็นถ้อยอธิบายที่ตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

พ้นไปจากกรรมวิธีเดินทางดังกล่าว สิ่งซึ่งชวนให้ใคร่ครวญคิดต่อ เห็นจะอยู่ตรงรายละเอียดที่ว่า การเดินทางครั้งนี้ของ ‘เขา’ แท้แล้วหาได้ดำเนินไปตามแบบฉบับของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ซึ่งนิยมไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ แม้บางที่บางแห่ง ‘เขา’ จะไม่พลาดโอกาสไปเยือน กระนั้นน้ำเสียงและท่าทีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ก็ปรากฏในลักษณะเชิงรายงานแบบผ่านๆ มากกว่าเน้นย้ำให้จำต้องตระหนัก ว่านั่นเป็นเรื่องสลักสำคัญ

พูดกันอีกแบบก็คือ ธัญญา ผลอนันต์ ไม่ได้ต้องการชักชวนให้ใครไปเยือนสถานที่ใด หรือแจกแจงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของสถานที่นั้นๆ แต่ประการใด

เขาใช้วิธีบรรยายสภาพและบรรยากาศในแต่ละที่แต่ละแห่งด้วยภาษาเรียบง่ายและกระชับ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เผยให้รับรู้ภาวะความรู้สึกของชายหนุ่มที่มีต่อสิ่งต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ โดยอาศัยการปะทะเผชิญสภาพในยามนั้นอันสะกิดให้หวนรำลึกนึกถึงเรื่องราวหนหลัง สมทบกับภาพฝันยามค่ำคืนไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ทั้งหมดนี้ยิ่งขับเน้นทัศนคติที่มีต่อโลกต่อชีวิตและสังคมของคนหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่โดยตรง

คงไม่เกินเลยแต่อย่างใด หากจะกล่าวว่า ‘ถนนไปสู่ก้อนเมฆ’ มิใช่เป็นเพียงบันทึกเดินทางสามัญ ด้วยว่าเนื้อสารของมันมีพลังในระดับซึมลึก ชวนให้อดนึกทบทวนตัวเองไปด้วยไม่ได้

การเดินทางด้วยวิธี ‘โบกรถ’ โดยนัยแล้ว ก็คือการเชิดชูเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ตลอดจนเป็นการประกาศถึงความเสมอภาคของมนุษย์อยู่ในที ยังไม่นับไปถึงโอกาสที่จะได้เรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมสายพันธุ์แปลกหน้า อันมีนัยแห่งการเป็น ‘ขบถ’ ต่อความเหลวไหลในกรณีชนชั้นที่คนรุ่นเก่าพากันยึดถือสืบมารุ่นแล้วรุ่นเล่าอีกด้วย

‘ถนนไปสู่ก้อนเมฆ’ ปรารภรำพึงถึงปัญหาสำคัญๆ ของยุคสมัยเอาไว้หลายประเด็น ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าเป็นผลจากการที่ผู้เขียนเติบโตขึ้นมาในยุคสงครามเวียดนามยังระอุคุอยู่ ประกอบกับขบวนบุปผาชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแนวคิดต่อต้านสงครามและเทิดทูนสันติ-เสรีภาพกำลังมีบทบาทเข้มข้นในช่วงนั้น ในฐานะคนหนุ่มผู้มีจิตใจรักความเป็นธรรม ย่อมไม่แปลกที่ธัญญา ผลอนันต์ จะสมาทานแนวคิดดังกล่าวมาแทรกไว้ในผลงานเล่มแรกของเขาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง กระทั่งควรได้รับความชื่นชมด้วยซ้ำในแง่รู้จักสกัดเอาแต่เฉพาะแก่นแท้แห่งอุดมคติที่นับเป็นกระแสหนึ่งในด้านดีของยุคสมัยตน มาเผยแพร่บอกต่อให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับรับรู้ อาทิ การตั้งข้อสงสัยต่อแบบแผนชีวิตที่นิยมถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งปวงโดยไม่เลือกวิธี อีกทั้งมุ่งเน้นผลกำไรและกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติอย่างเห็นแก่ตัว รวมถึงการใช้อำนาจบาตรใหญ่ไปรุกรานรังแกข่มเหงผู้ด้อยกว่าของมหาอำนาจอย่างอเมริกา ฯลฯ

กล่าวในแง่รูปแบบการเขียน ‘ถนนไปสู่ก้อนเมฆ’ ยังได้รับการยอมรับอีกว่าเป็นผลงานเล่มแรกๆ ในประวัติวรรณกรรมไทยที่ละลายเส้นแบ่งระหว่างงานเรื่องแต่งกับสารคดีเข้าด้วยกัน กลายเป็นวรรณกรรมแนวใหม่ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวโดดเด่นเล่มหนึ่งตราบถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น สิ่งซึ่งถือเป็นวิญญาณสำคัญสูงสุดของหนังสือเล่มนี้ชนิดไม่มีวันจาง นั่นคือแรงเร้าในแบบเหงาๆ ที่ทำให้เรามักต้องละอายใจ โดยเฉพาะในยามหมกมุ่นคร่นคิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว

หนังสือบางๆ เล่มหนึ่ง สามารถกระตุ้นเตือนคนอ่านให้รู้จักไตร่ตรอง มองโลกมองชีวิตได้ทั้งกว้างและลึกถึงเพียงนี้ ไฉนเลยไม่นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับนักเขียนคนหนึ่ง!



หมายเหตุ: บางส่วนจากเล่ม | ‘สำหรับเขา เมื่อรู้ว่าการเดินทางสิ้นสุด ก็เห็นว่าตลอดยี่สิบสามปีแห่งการเดินทางที่เริ่มด้วยการแหวกว่ายแข่งกับเชื้ออสุจิอื่น มาจนถึงก้อนเมฆนั้น มีเพียงช่วงสองเดือนหลังเท่านั้นที่เขามีชีวิตอยู่ ชีวิตที่เป็นของเขาเอง เขาดีใจที่อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง เขาได้มีโอกาสเช่นนั้น’


ที่มา: FacebookVieng-Vachira Buason

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.