Posted: 12 Dec 2017 12:07 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เอกชัย พงส์กังวาน

นอกจากการขาดแคลนงบประมาณด้านสาธารณสุข ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง

3. การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ: หลายคนเชื่อว่า ไทยมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ แต่ความเชื่อนี้เป็นจริงหรือไม่ ?

- ไทยมีแพทย์กว่า 52,000 คน หากเทียบกับจำนวนประชากร 65.9 ล้านคน จะมีอัตราส่วนแพทย์ 0.79 คนต่อประชากร 1,000 คน

- ไทยมีพยาบาลวิชาชีพมีกว่า 191,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาล วิชาชีพ 2.90 คนต่อประชากร 1,000 คน

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราส่วนบุคคลากรทางการแพทย์ (แพทย์+พยาบาล) ต่อประชากรที่ 2.28 คนต่อประชากร 1,000 คน

ไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ 3.07 คนต่อประชากร 1,000 คน ดังนั้นไทยจึงไม่อยู่ในสภาวะแพทย์-พยาบาลขาดแคลน แต่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ไหน ?

ปัจจุบันไทยมีทหารกว่า 420,000 คน ตำรวจกว่า 220,000 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ (19 กระทรวง 1 สำนักนายกรัฐมนตรี) กว่า 420,000 คน (ไม่รวมลูกจ้างชั่วคราว) รวมจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนทหารกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทหารมีจำนวนเท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ

ในจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ กระทรวงสาธารณสุขมีเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุดคือ กว่า 210,000 คน หรือครึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด

- แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐมีกว่า 13,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 0.20 คนต่อประชากร 1,000 คน

- พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนกว่า 98,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาล 1.49 คนต่อประชากร 1,000 คน

ด้วยอัตรานี้จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลรัฐมีบุคลากรทางการแพทย์เพียง 1.69 คนต่อประชากร 1,000 คน ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนอย่างรุนแรงเกิดจากหลายปัจจัย เช่น งานหนัก รายได้น้อย และการฟ้องร้องจากคนไข้ โรงพยาบาลเอกชนใช้โปรโมชั่นเพื่อดึงดูดแพทย์

- โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีการประกันรายได้ให้กับแพทย์ที่มีประสบการณ์ถึง 200,000 บาทต่อเดือน ขณะที่แพทย์ที่มีประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐมีรายได้เฉลี่ย 70,000 บาทต่อเดือน

- โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังรับผิดชอบในกรณีเกิดความผิดพลาดจากการรักษา ขณะที่แพทย์ที่มีประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐไม่มี

ด้วยเหตุนี้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐจึงมีแนวโน้มลาออกเพื่อไปทำงานในภาคเอกชนปีละ 600-700 คน ซ้ำเติมภาวะขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น

ขณะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2568 ปัญหาการขาดแคลนแพทย์-พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

แต่ละปีไทยมีการผลิตแพทย์ 2,500-3,000 คนต่อปี แต่แนวทางนี้ไม่ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีเพียงพอ

การสร้างรายได้ที่จูงใจ การก่อตั้งกองทุนเพื่อรับผิดชอบจากความผิดพลาดจากการรักษา สิ่งเหล่านี้จะช่วยฉุดรั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ไม่ให้ไหลไปทำงานภาคเอกชนที่ดีกว่า

หากรัฐปรับลดทหารเกณฑ์ที่มีจำนวนมากเกินความจำเป็น รัฐจะประหยัดงบประมาณมากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้สามารถอุดหนุนให้กับสวัสดิการเหล่านี้






เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (1)
ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (2)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.