Posted: 13 Dec 2017 04:10 AM PST

เอกชัย หงส์กังวาน

นอกจากการขาดแคลนงบประมาณจะมีผลให้ต่อการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ ความเลื่อมล้ำของแพทย์ในกรุงเทพ-ต่างจังหวัดก็เป็นปัญหาสำคัญ

4. ความเลื่อมล้ำของแพทย์ในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด: ไทยมีแพทย์กว่า 52,000 คน แต่แพทย์เหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมากกว่าต่างจังหวัด

- กรุงเทพมีประชากร 8.3 ล้านคน มีแพทย์กว่า 11,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 1.33 คนต่อประชากร 1,000 คน

- ต่างจังหวัดมีประชากร 47.6 ล้านคน มีแพทย์กว่า 40,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 0.84 คนต่อประชากร 1,000 คน

ความเลื่อมล้ำนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากจำนวนโรงพยาบาลในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด (ไม่รวมคลีนิก, ศูนย์ทันตกรรม และศูนย์ศัลยกรรมเสริมความงาม)

- กรุงเทพมีโรงพยาบาลกว่า 130 แห่ง (โรงพยาบาลเฉพาะทาง 7 แห่ง เช่น โรคพยาบาลผิวหนัง) รวมจำนวนเตียงคนไข้กว่า 14,000 หลัง คิดเป็นอัตราส่วนประชากร 593 คนต่อ 1 เตียง

- ต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลกว่า 160 แห่ง (ไม่นับรวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) รวมจำนวนเตียงคนไข้กว่า 20,000 หลัง คิดเป็นอัตราส่วนประชากร 2,380 คนต่อ 1 เตียง

ส่วนสถานีอนามัยที่ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีกว่า 1,000 แห่ง และสถานีอนามัยที่ยังไม่ได้รับการยกฐานะกว่า 9,000 แห่ง แต่ไม่มีข้อมูลจำนวนเตียงที่ชัดเจน

แม้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล-สถานีอนามัยจะมีกระจายอยู่ทุกตำบล แต่สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ประสบปัญหาหลายอย่าง

- ระยะทาง: บางหมู่บ้านอยู่ห่างจากสถานบริการสาธารณสุขกว่า 20 กิโลเมตร แถมถนนมีสภาพไม่สมบูรณ์

- บุคลากรทางการแพทย์: สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ให้บริการระดับปฐมภูมิ (Primary Care) มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงแห่งละ 1-3 คน แพทย์บางคนต้องดูแลหลายสถานบริการสาธารณสุข ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่มีอาการรุนแรง แถมหลายแห่งไม่มีรถพยาบาลรับ-ส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลอื่น

- การบริหารงาน: สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ขาดการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง และขาดแคลนงบประมาณ, เครื่องมือแพทย์ และยา

อัตราส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของการบริการทางการแพทย์ระหว่างกรุงเทพ-ต่างจังหวัด แพทย์ในต่างจังหวัดจึงรับผิดชอบคนไข้มากกว่าแพทย์ในกรุงเทพ

เมื่อจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดมีไม่เพียงพอ (โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ) จึงมีผลให้คุณภาพการรักษาต่ำ การฟ้องร้องคดีของคนไข้จากการรักษาที่ผิดพลาดจึงมีมากกว่าแพทย์ในกรุงเทพ

เมื่อโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดไม่สามารถให้บริการทางการแพทย์กับชาวต่างจังหวัดอย่างเต็มที่ ชาวต่างจังหวัดบางส่วนจึงเลือกที่จะเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ในกรุงเทพ ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพมีคนไข้ล้นโรงพยาบาล

นอกจากนี้ความสมดุลของการผลิตแพทย์ก็เป็นปัญหาสำคัญ ไทยมีวิทยาลัยแพทย์ 20 แห่ง (กรุงเทพ 8 แห่ง-ต่างจังหวัด 12 แห่ง)

ผู้ที่เข้าศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพ-ปริมณฑล หลังสำเร็จการศึกษาพวกเขาจึงเลือกที่จะทำงานในกรุงเทพ-ปริมณฑลมากกว่าต่างจังหวัด

แม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการก่อตั้งศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกเพื่อสร้างแพทย์ชั้นคลินิกกว่า 40 แห่งในต่างจังหวัดรองรับสถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ แต่จำนวนแพทย์ที่ผลิตเพิ่มยังไม่ปรากฎผลที่ชัดเจน

การกระจายอำนาจสู่สถานบริการสาธารณสุขในต่างจังหวัด การขยายวิทยาลัยแพทย์ในต่างจังหวัดเพื่อสร้างแพทย์ท้องถิ่นรับใช้ท้องถิ่น การพัฒนาถนน-ระบบขนส่งสาธารณะราคาประหยัดเพื่อรับ-ส่งประชาชนเข้าสู่ตัวเมืองเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ไขความเลื่อมล้ำของการให้บริการสาธารณสุขในต่างจังหวัด และลดความแออัดของคนไข้ในกรุงเทพ

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.