ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระบุปัญหาการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ชอบธรรม ขอให้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นใหม่ พร้อมให้หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน
29 พ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตัวแทนประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเชบาย จากบ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าตื้ว จ.ยโสธร ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตายทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด
โดยรายละเอียดในหนังสือระบุว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบ และพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนในการก่อโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห้ฯแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และวันที่ 10 มีนาคม 2560 ซึ่งทั้งสองเวทีมีประชาชนทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีทั้งสองครั้ง เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบในภาพรวมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมได้เข้าใจในตัวโครงการก่อนที่จะเข้าร่วมให้ความคิดเห็น และทั้งสองเวทีมีการการกำหนดผู้เข้าร่วม โดยกีดกันไม่ให้ผู้ที่สนใจบางส่วนเข้าไปแสดงความคิดเห็น จึงเป็นการจัดเวทีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าร่วมอย่างคลอบคลุม
โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย และเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมภาคอีสาน ได้ติดตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องการโครงการทั้งสอง ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต้องมีการให้ข้อมูล และตอบข้อซักถามของชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพรวมของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน และรับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นทางกลุ่มจึงขอคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา และจะไม่เข้าร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทฯ อีก หากยังคงดำเนินการในลักษณะเดิม
ทั้งนี้ทางกลุ่มมีข้อกังวลว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเดิมได้มีการแจ้งว่าจะมีกำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันกลับมีข้อมูลว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 61 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงงานน้ำตาลมีกำลังผลิต 20,000 ตันต่อวัน ซึ่งหากสองโครงการเกิดขึ้นจะมีผลกระทบในการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรน้ำจากลำน้ำเซบาย ซึ่งประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภค
นอกจากนี้ทางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดทำรายงานวิเคราะห์ทางผลกระทบสิ่งเเวดล้อมของทั้งสองโครงการดังนี้
1.ไม่มีการเผยเเพร่ข้อมูลข่าวสารก่อนการดำเนินการศึกษาผลกระทบ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการจัดการประชุมการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์ และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 ประชาชนในที่พื้นที่ใกล้ที่ตั้งโครงการ ไม่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาก่อนล่วงหน้า
2.กระบวนการชี้แจงข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ทางบริษัทฯ ได้อธิบายแต่ข้อดีของการมีโรงน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล
3.ในการจัดประชุมกำหนดขอบเขตทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 จะต้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ทางบริษัทฯ กลับนำประชาชนนอกพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น
4.การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ทางกลุ่มเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกระบวนการ เนื่องจากมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้วสองครั้ง และการจัดเวทีเฉพาะกลุ่มครั้งที่สามเป็นเพียงการมาชี้แจงข้อดีของโครงการเท่านั้น ไม่ได้มีการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ทางกลุ่มมีข้อเสนอดังนี้
1ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติโครงการ รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการทั้งสองโครงการ
2.ให้บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างทำงานรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เนื่องจากกระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมดขาดความชอบธรรม
3.รัฐต้องให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินโครงการทั้งสอง เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้น ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน
4บริษัทไม่มีการศึกษาระบบนิเวศลำน้ำเซบายที่ครอบคลุมพื้นที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปละปลายน้ำ ซึ่งลำน้ำเซบายเป็นทางน้ำสาธารณะที่มีประชาชนใช้สอยร่วมกันและมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด 19 อำเภอ 530 ตำบล ที่มีประชากรรวมทั้งสิ้น 281,210 คน โดยทางกลุ่มเห็นว่าโครงการทั้งสองจำเป็นต้องผันน้ำจากลำน้ำเซบายเพื่อใช้ประโยชน์ ดังนั้นควรให้มีการจัประชาคมในระดับหมู่บ้านเพื่อที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบายด้วย
แสดงความคิดเห็น