ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ไปราชการขนอิฐจากกรุงเก่ามาสร้างกรุงเทพ... เมียมีชู้
เรื่องเกิดขึ้นในปีที่ 2 ของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ของรัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ. 2326


เรื่องดูจะเล็กๆ เพราะเป็นเมียของข้าราชการระดับเล็กคนหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ต้องประชุมเสนาบดี หรือลูกขุน ณ ศาลา กับลูกขุนศาลหลวง ทั้งสองคณะ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า เมื่อรัชกาลที่ 1 ที่มีพระนามในชั้นหลังว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น สถาปนาราชวงศ์ใหม่ และทรงสั่งสร้างเมืองหลวงให้อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เพียงด้านเดียว แทนการมีเมืองสองฝั่งแม่น้ำตามยุคกรุงธนบุรี

ทั้งทรงให้ขยายพื้นที่เมืองกรุงใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำออกไปอีกราวหนึ่งเท่าตัว ด้วยการขึ้นคลองรอบเมืองใหม่ จากบางลำพู โค้งมาทางทางภูเขาทอง ไปออกใต้สะพานพุทธ

ดังนั้น ภารกิจการสร้างกรุงใหม่นี้ อย่างแรกก็คือระดมแรงงานขุดคลองรอบเมือง อย่างที่สองคือรื้อกำแพงเมืองกรุงธนบุรีของพระเจ้าตากลงทั้งสองฝากฝั่งแม่น้ำ แล้วนำอิฐเหล่านั้นมาประกอบสร้างเป็นกำแพงของกรุงเทพ

นอกเหนือกำแพงเมืองกรุงแล้ว ยังต้องการอิฐในการสร้างกำแพงและอาคารในพระราชวังหลวง กำแพงและอาคารในพระราชวังหน้า สร้างวัดพระแก้ว สร้างวัดสำคัญในเมือง ดังนั้น จึงต้องการอิฐอีกจำนวนมาก

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ได้กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2326 เพื่อการสร้างกรุง อย่างแรกที่ต้องทำคือ “ให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวงสมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง” กล่าวคือ เหมือนการนับจำนวนประชากร ว่ามีคนจำนวนเท่าไหร่ มีไพร่สังกัดพระมหากษัตริย์เท่าไหร่ มีไพร่สังกัดมูลนายเท่าไหร่ เพื่อจะได้สั่งเกณฑ์ทำงานได้เหมาะสม

แล้วสั่ง “ให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าลงมาบ้าง”

ข้อมูลนี้บอกเราได้ชัดเจนมากขึ้นว่า กำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้เป็นศูนย์อำนาจทางการเมืองมา 17 ปีแล้วนั้น มีประโยชน์ต่อการสร้างกำแพงและพระราชวังของกรุงเทพ ดังนั้น การส่งแรงงานไปรื้ออิฐแล้วใส่เรือล่องลงมายังกรุงเทพ จึงเป็นวิธีการที่รวดเร็ว

หรือสรุปอีกนัยหนึ่ง กองทัพพม่าไม่ได้ทำลายกำแพงโดยรอบที่ยาว 12 กิโลเมตรครึ่งของกรุงศรีอยุธยา ในขณะสงครามนั้น ก็เพียงแค่ทำลายกำแพงเมืองเพียงช่องเดียวเพื่อบุกเข้ามา

ส่วนการพังทลายกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา ก็น่าจะเริ่มต้นจากยุคสร้างกรุงเทพนี้เป็นต้นมา นอกเหนือจากเอาอิฐมาใช้สอยแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เพื่อไม่ให้ใครที่มีกำพลใช้เมืองกรุงเก่าที่ยังมีกำแพงเมืองและป้อมต่างๆ ครบถ้วน ตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ที่เมืองกรุงเก่านี้อีกต่อไป

คราวนี้ การไปขนอิฐกรุงเก่า หรือขนอิฐจากกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยานั้น เกี่ยวพันกับเรื่องเมียมีชู้อย่างไร

นายเทษ มีตำแหน่งราชการเป็นปลัดเวรมหาดเล็ก แสดงว่าหน้าที่ราชการอยู่ในกรุงเทพนี้นั้นเอง

นายเทษได้ไปฟ้องกับ “พญานนทบุรีศรีมหาสมุด” ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าเมืองนนทบุรี อันเป็นเขตเกิดเหตุ หรือบ้านของนายเทษ โดยฟ้องว่า เมื่อตนเองไปราชการเพื่อขนอิฐจากกรุงเก่ามากรุงเทพ ซึ่งไม่ได้ระบุว่าไปนานกี่เดือนกี่วัน แต่อาจคิดได้ว่า นานต่อเนื่องหลายเดือน เพราะฝ่ายการก่อสร้างก่อเร่งงานเพื่อฉลองกรุงใหม่ให้ทันต้นปี หรือเดือนเมษายน พ.ศ.2328

นายเทษ ปลัดเวรมหาดเล็ก น่าจะมีฐานะเป็นมูลนายที่คุมไพร่หลวงในสังกัดพายเรือไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพกับกรุงเก่าเพื่อรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา

คราวนี้ ความแตก เมื่อรู้ว่า นายเกิด ไม่มีข้อมูลด้านอายุและภูมิหลัง ได้ “ทำชู้” กับนางฉิม ภรรยานายเทษ นายเทษจึงฟ้องตามกระบวนการเพื่อเรียกค่า “ปรับไหม”

ปรับไหม เป็นคำโบราณ พจนานุกรมว่าคือ ให้ผู้กระทำผิดหรือกระทำละเมิดชำระค่าสินไหมทดแทนหรือค่าปรับ

ฝ่ายเจ้าเมืองนนท์ก็คงให้ข้าราชการตรวจกฎหมายเก่าดูว่าหากปรับไหมนายเกิดชายชู้ จะปรับไหมได้เท่าไหร่

กฎหมายบทหนึ่งบอกว่า “ผัวไปราชการต่างเมือง เมียมีชู้ ให้ไหมทวีคูณ” อีกบทหนึ่งว่า “ผัวไปค้าเมืองเดียวกันปีหนึ่งมิมา ขาดจากผัวเมียกัน” (บทนี้ดูดี ช่วยปลดภาระการที่ผัวทิ้งหนีหายได้ ทำให้มีผัวใหม่ได้อย่างถูกต้องชอบธรรม)

คำถามฝ่ายเจ้าเมืองนนท์ที่ถามมายังส่วนกลางหรือกรุงเทพคือ “เมืองใดเป็นเมืองเดียวกัน เมืองใดเป็นต่างเมือง ในบทพระไอยะการมิได้มี” ดังนั้น จึงขอความชัดเจน

ฝ่ายส่วนกลางก็ตั้งข้อสังเกตว่า กรุงเทพกับกรุงเก่าระยะทางแค่นี้ จะเรียกว่าต่างเมืองได้หรือไม่ แถมตั้งข้อสังเกตอีกว่า “ทางเพียงนี้ เมียมีชู้สู่ชายอื่น” และยังจะปรับไหมทวีคูณได้มั้ย

ดังนั้น ในพระบรมมหาราชวังหลวง จึงมีการเรียกเสนาบดี กรมต่างๆ 14 คน ที่ชื่อว่า ลูกขุน ฯ ศาลา มาประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมาย ที่ชื่อว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง อีก 7 คน เป็นการประชุมร่วมครั้งสำคัญรวม 21 ขุนนางผู้ใหญ่

ผลสรุปออกมาว่า “ถ้าผัวไปราชการ 16 เมืองนี้ อยู่ภายหลังเมียมันมีชู้สู่ชายอื่นไซ้ ให้ไหมทวีคูน” ได้แก่เมือง พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ตาก พิชัย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ถลาง ทวาย ตะนาวศรี จันทบูรณ์

ส่วนเมืองอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อเป็น 16 เมืองข้างต้น ให้ถือหลักว่า “เป็นเมืองเดียวกัน” ปรับไหมทวีคูณไม่ได้ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วก็เน้นส่วนกลางคือกรุงเทพกับเมืองปริมณทล หรือเมืองในภาคกลางนั้นเอง

บทสรุปนี้ นายเทษ ได้ปรับไหมนายเกิดที่ทำชู้กับเมียตนได้เพียงชั้นเดียว

เอกสารนี้ไม่ได้บอกว่า นายเทษ กับนางฉิม ยังครองกันเป็นครอบครัวต่อมาหรือว่าแยกทางกัน

แต่เรื่องนี้ ทำให้เราเห็นข้อมูลว่า การสร้างเมืองกรุงเทพ ความต้องการอิฐจากกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา ทำให้เมียนายเทษ ปลัดเวรมหาดเล็ก มีชู้

กำแพงกรุงศรีอยุธยาเริ่มพังทลายอย่างจริงจังเพราะการนำมาสร้างกรุงเทพ ไม่ใช่เพราะฝีมือกองทัพพม่าแบบที่เราชอบใช้อ้างๆ กันมา

เอกสาร
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2526. หน้า 45-46.

ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉบับหลวง ตรา 3 ดวง. เล่ม 3. กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), หน้า 80-82.

บรรยายโดย ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

จากเพจ - อ. ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.