Posted: 31 Dec 2017 11:58 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'คิมจองอึน ' ระบุ การเตรียมกำลังนิวเคลียร์ของปี 2560 เสร็จแล้ว แต่ยังต้องผลิตหัวรบเพิ่ม ขู่สหรัฐฯ ปุ่มกดนิวเคลียร์อยู่บนโต๊ะทำงาน พร้อมใช้อาวุธตอบโต้เมื่อความมั่นคงถูกคุกคาม เกาหลีเหนือมีแผนส่งนักกีฬาเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2561 ณ เกาหลีใต้ โดยผู้นำทั้งเกาหลีเหนือ-ใต้ หวังมหกรรมกีฬาจะช่วยสานสัมพันธ์


คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ (ที่มาภาพ: วิกิพีเดีย)

1 ม.ค. 2561 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ประเทศสหราชอาณาจักรรายงานว่า คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้ออกมาเตือนสหรัฐฯ ว่าการสร้างกำลังรบทางอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และสามารถกดปุ่มยิงระเบิดนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา

ปี 2560 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนการทดสอบหลายครั้ง มีการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปสามครั้ง รวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่หก คิมจองอึน ได้ใช้โอกาสวันขึ้นปีใหม่ออกมาประกาศว่าแสนยานุภาพทางอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นเรื่องจริงผ่านการถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ของประเทศเกาหลีเหนือ โดยผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า เป้าหมายการสร้างขุมกำลังทางด้านนิวเคลียร์ของปี 2560 เสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังคงต้องผลิตผลิตหัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธให้มากขึ้น และเร่งกระบวนการติดตั้งอาวุธดังกล่าวอีก

คิมจองอึนยังระบุว่า สหรัฐฯ ควรรู้ว่าปุ่มกดนิวเคลียร์นั้นอยู่บนโต๊ะทำงานของเขา และพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งหมดอยู่ใต้พิสัยการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

“สหรัฐฯ ไม่สามารถก่อสงครามกับผมและประเทศของเรา อาวุธเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เมื่อความมั่นคงของพวกเราถูกคุกคามเท่านั้น” ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือระบุเพิ่มเติม

แต่ในทางกลับกันกับท่าทีต่อสหรัฐฯ ผู้นำเกาหลีเหนือมีท่าทีที่ค่อนข้างประนีประนอมกับเกาหลีใต้ โดยมีแผนที่จะส่งนักกีฬาทีมชาติเกาหลีเหนือเข้าร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ในเดือน ก.พ. ปีนี้ โดยระบุว่าโอลิมปิกที่จัดขึ้นในเกาหลีใต้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะแสดงสถานะแห่งความเป็นชาติเกาหลี ทั้งยังหวังว่ามหกรรมกีฬาจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุนแจอิน ได้สนับสนุนให้เกาหลีเหนือส่งนักกีฬามา โดยหวังว่าการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาจะช่วยลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีได้ โดยกีฬาโอลิมปิกจะมีขึ้นในวันที่ 9-25 ก.พ. 2561

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอบคำถามเรื่องปุ่มกดอาวุธนิวเคลียร์ของผู้นำโสมแดงในงานปาร์ตี้ปีใหม่ว่า “เราจะมาดูกัน”


ธงชาติเกาหลีเหนือ (ที่มา: North Korean Flag)



ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ระอุอยู่แล้วกลับทวีอุณหภูมิขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2560 เมื่อเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจบรรดามาตรการหนักเบาจากประชาคมนานาชาติ เกาหลีเหนือใช้การทดสอบขีปนาวุธเป็นเครื่องมือตอบโต้ท่าทีของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงแผนการนำโดรนจู่โจม ‘เกรย์ อีเกิลส์’ และระบบต่อต้านขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) ของสหรัฐฯ มาประจำในเกาหลีใต้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไปจนถึงการทดสอบขีปนาวุธหลังจากที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ มุนแจอิน เข้ารับตำแหน่ง รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า ปัจจุบันมี 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ โดยคาดว่าเกาหลีเหนือครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 10-20 หัว


ผู้นำโสมขาว สหรัฐฯ คูเวต เดินหน้าคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญชี้มาตรการที่มียังไม่พอ
เกาหลีเหนือยิงจรวดผ่านญี่ปุ่น(อีกแล้ว) คาดจะมีบ่อยขึ้น แนวโน้มโลกแห่พัฒนานิวเคลียร์
บทความ CNN 12 ข้อ ที่ควรรู้เกี่ยววิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือในยุค 'ทรัมป์' กับ 'คิมจองอึน'
สหรัฐฯ เตรียมติดตั้งโดรนจู่โจมในเกาหลีใต้-รับมือนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

วิวาทะเผ็ดร้อนระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือยังเป็นที่จับตามองของชาวโลก เมื่อทรัมป์ระบุว่ายังคงไม่ทิ้งมาตรการการใช้สงครามกับเกาหลีเหนือ ความตึงเครียดทางการทูตนำไปสู่ข่าวคราวว่าเกาหลีเหนือจะโจมตีเกาะกวม อันเป็นฐานที่มั่นทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อเดือนสิงหาคม จากนั้นก็มีการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ครั้งในปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระยะทางที่จรวดเดินทางเป็นการบอกใบ้ว่าเกาหลีเหนือสามารถยิงขีปนาวุธโจมตีเกาะกวมได้

ปัจจุบันสหประชาชาติและนานาชาติใช้มาตรการทางเศรษฐกิจคว่ำบาตรสินค้าและแรงงานจากเกาหลีเหนือ รวมไปถึงมาตรการทางการทูต เช่น ส่งผู้แทนทางการทูตของเกาหลีเหนือกลับประเทศ ไม่ต่อวีซาให้ชาวเกาหลีเหนือ เป็นต้น การตอบโต้ของเกาหลีเหนือและท่าทีของประเทศมหาอำนาจระดับโลกและภูมิภาคเช่นสหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่น รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้จะยังคงเป็นจุดสนใจ เพราะหากความขัดแย้งทวีความรุนแรงในยุคที่มีอาวุธทำลายล้างสูงขยายตัว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในคาบสมุทรเกาหลีที่จะขยายวงออกสู่ภูมิภาคใกล้เคียง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แปลและเรียบเรียงจาก

Kim Jong-un: North Korea's nuclear arsenal is now complete, The Guardian, Jan. 1, 2018[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.