Posted: 02 Feb 2018 07:46 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เทวฤทธิ์ มณีฉาย สัมภาษณ์
รำลึก 4 ปี เลือกตั้ง 2 ก.พ.57 คุยกับ 'พวงทอง สปป.' 'อ้วน กลุ่มพอกันที!' 'จิตรา พลังประชาธิปไตย' และ 'เอก Respect My Vote’ ถ้าเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ถูกทำให้โมฆะ และนัยของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปที่ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ กับการเอาทหารออกจากการเมือง
ครบรอบ 4 ปีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ.2557 หากไม่ถูกทำให้โมฆะและรัฐประหารในเวลาต่อมาไปเสียก่อน รัฐบาลจากการเลือกตั้งหากอยู่ครบเทอมก็จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยการทำให้โมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญยกเหตุผลว่า “การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน” แต่สาเหตุที่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ในวันเดียวเนื่องจากบางหน่วยถูกขัดขวางอย่างหนักจากกลุ่ม กปปส. จนไม่สามารถลงคะแนนได้ตั้งแต่วันเปิดรับสมัคร วันลงคะแนนเสียงล่วงหน้าและวันที่ 2 ก.พ.57 และเป็นคดีความบางที่ยกฟ้อง ขณะที่บางที่ศาลตัดสินจำคุก เช่น เมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพัทลุงสั่งจำคุก 5 ปี ทวี ภูมิสิงหราช อดีต ส.ว.พัทลุง และแกนนำ กปปส.พัทลุง โดยไม่รอลงอาญา พร้อมด้วยพวกรวม 10 คน โดยได้รับโทษลดลงไป 1-5 ปี
แม้จะมีกลุ่มที่ขัดขวางแต่ก็มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงกว่า 20 ล้านคน จัดการเลือกตั้งสำเร็จถึง 89.2 % ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด และมี 59 จังหวัดที่สามารถจัดได้โดยมีมีปัญหา นอกจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิแล้ว ยังมีกลุ่มประชาชน นักกิจกรรมและนักวิชาการที่ออกมารณรงค์หาทางออกวิกฤติการเมืองขณะนั้น ด้วยการสนับสนุนให้ใช้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นทางออกที่เคารพทุกเสียง เช่น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กลุ่มพอกันที หรือพรรคการเมืองทางเลือกอย่างพรรคพลังประชาธิปไตย เป็นต้น
Timeline : ใครทำลายการเลือกตั้ง
จำคุกอดีต ส.ว.พัทลุง-แกนนำ กปปส. คดีขวางเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่รอลงอาญา
โดยประชาไท พูดคุยกับ พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กิตติชัย งามชัยพิสิฐ จากกลุ่มพอกันที! หรือ ‘อ้วน YT’ (Youth Training Center) ในแวดวงนักกิจกรรมทางสังคม จัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานและผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่สองของพรรคพลังประชาธิปไตย (เบอร์ 8) รวมทั้ง เอก อัตถากร ผู้ชูป้าย ‘Respect My Vote’ ใส่ 'อภิสิทธิ์' ขณะร่ายพิมพ์เขียวปฎิรูปประเทศไทย ช่วงก่อนเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อสอบถามถึงมุมมองของพวกเขาหากเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ไม่ถูกทำให้โมฆะ การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร รวมทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. ที่ถูกเลือนออกไปเรื่อยๆ นี้
00000
ภาพ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)จัดกิจกรรม "คนเท่ากัน เดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมกันปฏิรูป" ณ อาคารบรรยายรวม 4 (บร.4) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 22 ธ.ค.2556
พวงทอง ภวัครพันธุ์ : สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กล่าวถึงการเคลื่อนไหวช่วงการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ว่า ตอนที่เราพยายามที่จะคัดค้านกลุ่ม กปปส. ที่ต้องการขัดขวางการเลือกตั้ง เรายืนยันว่าต้องมีการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยไปปฏิรูปทีหลังนั้น จริงๆ แล้วเป้าหมายเรามองเห็นถึงความพยายามของกลุ่ม กปปส. และอำนาจที่หนุนหลังเขาอยู่นั้น จะสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ เพราะลำพัง กปปส. ต่อให้ยึดกรุงเทพฯได้เป็นเดือน แต่พลังของคนกรุงเทพฯ ค่อนข้างอ่อนแอไม่สามารถร่วมการชุมนุมได้นาน และช่วงท้ายของ กปปส.นั้นก็อ่อนแอมาก ฉะนั้น กปปส.เองก็ต้องการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทหารเข้ามาแทรกแซงยึดอำนาจรัฐบาล เพราะก็หวังว่าจะขัดขวางความพยายามนี้ เพราะมองเห็นว่าหากมีการยึดอำนาจจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รัฐบาลทหารที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของการบริหารเรื่องคอร์รัปชั่น และปัญหาเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง มันยากมากเมื่อเอาทหารเข้ามาแล้วจะเอาออกจากการเมือง ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าต้องใช้วิธีการไล่ตลอดและมีการเสียเลือดเสียเนื้อ เรามองเห็นปัญหาเหล่านี้ เราก็ไม่อยากให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น
หากมองย้อนกลับไป ถามว่าถ้าวันนั้นสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้สำเร็จ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ประกาศให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 โมฆะ กกต.ทำหน้าที่ของตัวเอง ถามว่าวันนี้ประเทศชาติจะสงบอย่างเป็นปกติไหม ก็คงไม่ เพราะว่ากลุ่มขงอำนาจอนุรักษ์นิยมนี่ ซึ่งมี กปปส.เป็นแนวหน้าหลักในการเคลื่อนไหว เขาก็คงไม่ยุติความพยายามที่จะทำลายกลุ่มการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหมายถึงการทำลายระบอบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาด้วย เป้าหมายของเขาทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้ทักษิณออกไปจากการเมือง ซึ่งการที่ทักษิณออกจากการเมืองได้ แน่นอนว่าเขาไม่สนใจว่าการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภามันจะได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะฉะนั้นหลังเลือกตั้งเขาก็คงหาทางพยายามที่จะทำทุกอย่างที่จะยึดอำนาจขับไล่ทักษิณออกไป ปรากฎการณ์แบบ กปปส. ก็จะกลับขึ้นมาอีก และก็จะสามารถสร้างเงื่อนไขบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อระดมให้คนกรุงเทพฯ หรือคนภาคใต้ลุกฮือประท้วงขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเราก็จะเห็นว่าในช่วง 2 ปีกว่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ทำงานลำบากมาก โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ก็จะถูกขัดขวางโดยองค์กรอิสระทั้งหลายที่อยู่ภายใต้เครือข่ายอำนาจอนุรักษ์นิยมนี้
ฉะนั้นการเมืองไทยมันยากที่จะปรับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะว่ามีกลุ่มอำนาจที่ไม่ยอมรับกติกาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเขามองว่ากติกานี้มันจะทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองและกำหนดทิศทางของประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็เหมือนถูกสาปโดยความเชื่อของกลุ่มอำนาจเหล่านี้ ซึ่งมีชนชั้นกลางจำนวนมาก คนกรุงเทพจำนวนมากที่คล้อยตามแนวคิดของคนพวกนี้อย่างง่ายดาย
เราคงถูกสาปที่จะต้องอยู่กับการรัฐประหารแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ผ่านมาเมื่อมีรัฐประหารเมื่อใด ตามมาด้วยการนองเลือด เราก็คิดว่าเราได้สรุปบทเรียนแล้ว เราจะไม่ให้ทหารกลับเข้ามามีอำนาจอีก แต่หลังจากนั้นผ่านมาไม่ทันใด ไม่ถึงชั่วอายุคนเลย คนจำนวนมากก็ลืมประวัติศาสตร์เหล่านี้ แล้วก็เชื่อว่ากลุ่มอำนาจใหม่จะไม่เหมือนกลุ่มอำนาจเดิม เพราะเชื่อวาคนที่มาใหม่จะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม โดยไม่สนใจว่าระบบที่พวกเขาช่วยทำลายมันไม่มีทางที่จะทำให้คนที่มีอำนาจเข้ามาจะถูกตรวจสอบ
สำหรับการใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งแทนที่จะเป็นการรับประหารนั้น พวงทองกล่าวว่า มันแก้ได้ หากคนยอมรับกติกา แต่ปัญหาคือสิ่งที่ห็นจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 นั้น คนอีกฝั่งหนึ่งก็ไม่สนใจกติกาทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงบรรดาองค์กรอิสระและศาลที่ไม่ได้สนใจเรื่องกฎนิติรัฐเลย เพราะฉะนั้นการเมืองหากไม่มีหลักเกณ์หรือหลักการมันก็นำประเทศไทยมาสู่ภาวะทางตัน มันทำลายองค์กรทั้งหลายที่ร่วมมือกันทำลายกระบวนการตามกฎหมาย พวกเขาก็สูญเสียความชอบธรรมวันนี้พูดอะไรก็ไม่มีใครฟัง
องค์กรทั้งหลายที่เกิดมาจากรัฐธรรมนูญจะต้องทำตามหน้าที่ตามหลักการที่ได้สร้างองค์กรเหล่านั้นขึ้นมา และตามกฎหมาย แต่เราจะเห็นว่ามันมีการบิดเบือน ตีความมากมายเพื่อี่จะทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามของตัวเอง พร้อมกับทำลายความชอบธรรมของตัวเองไปด้วย
สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น พวงทองกล่าวว่า การเลือกตั้งโดยปกติที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเป็นการแข่งขันกันของพรรคการเมืองที่จะเข้าไปบริหารประเทศ แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถ้าจะมี ซึ่งไม่มั่นใจเลยว่าจะมีเมื่อไหร่ ถ้าจะมีนั้นประเด็นอันหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากพรรคการเมืองใหญ่ในขณะนี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะเป็นคู่ขัดแย้งต่อกัน แต่มีประเด็นร่วมกันก็คือการเอาทหารออกจากการเมืองอย่างไร แต่ประชาธิปัตย์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังต้องการทหารอยู่ อย่างไรก็ตามประเด็นร่วมที่ว่าจะเอาทหารออจากการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นแล้วว่าในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ คสช. มีปัญหามากมายที่เราไม่สามารถที่จะตรวจสอบเอาผิดผู้ที่ใช้อำนาจได้เลย
นอกจากนี้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปนั้น ในขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ต้องการเอาทหารออกจาการเมืองแล้ว ประชาชนจำนวนมากที่เห็นปัญหาและไม่พอใจกับการรัฐประหารที่คิดว่ามีครึ่งค่อนประเทศนั้น เขาก็หวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการเอาทหารออกจากการเมืองไปด้วย แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญที่จะมากำกับการเลือกตั้งนั้น มันเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบรัฐสภาเข้ามาแทรกแซง อำนาจนอกระบบรัฐสภาในที่นี้หมายถึงทหาร กลุ่มชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังทหารด้วย และสามารถที่จะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งหากมาจากพรรคการเมืองที่ไม่ยอมรับอำนาจเขา หรือเป็นพรรคการเมืองที่เขาไม่ชอบ เช่น พรรคเพื่อไทย ก็จะประสบกับปัญหาในการบริหารประเทศ โอกาสที่เราจะเห็นรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งสามารรถผลักดันนโยบายของตัวเองได้ นโยบายที่สัญญากับประชาชนในช่วงการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งนี้
ที่บอกว่ามีประชาชนจำนวนมากหวังว่าการเลือกตั้งนี้จะเอาทหารออกจากการเมืองนั้น ก็มีประชาชนอีกไม่น้อยเหมือนกันโดยเฉพาะกลุ่มที่ไปร่วมกันเป่านกหวีดกับ กปปส. ที่ทุกวันนี้ยังมองไม่เห็นว่าภายใต้อำนาจทหารมันก่อให้เกิดปัญหาประเทศนี้อย่างไร กลุ่มเหล่านี้คงไม่แคร์ที่จะเห็นทหารหรืออำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง แล้วก็จะฟังแต่วาทกรรมหรูๆทางการเมืองที่คุ้นเคยหูของเขาเท่านั้นเอง ปัญหาใหญ่คือความเกลียดชังนักการเมืองและพรรคการเมืองในกลุ่มชนชั้นกลางสูงมากๆ เสียจนเขาไม่สนใจว่าการเมืองต่อไปนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายอย่างไรแล้ว เพราะฉะนั้นอำนาจอื่นอะไรก็ได้ที่จะมาทำลายหรือทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอได้เขาจะยินดี ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และก็จะกระทบต่อพวกเขาด้วยแต่พวกเขาไม่เห็น
เป้าหมายของการเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร และปกป้องประชาธิปไตยรัฐสภาที่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามา และเราก็จะได้รัฐบาลที่อ่อนแอหลังจากนั้น ยกเว้นว่าจะเป็นรัฐบาลซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและทหารยอมรับ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลุ่มอำนาจนิยมก็จะหาทางที่จะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย "คนเท่ากัน เดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมกันปฏิรูป"
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยชี้ ‘5 ข้อสงสัยต่อกกต.’
วรเจตน์-เกษียร-ปิยบุตร: เหตุผลค้าน 'สภาประชาชน' หวั่นเกมนอกกติกานำสู่วิกฤตนองเลือด
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักกิจกรรมกลุ่มพอกันที
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ : กลุ่มพอกันที! จุดเทียนเขียนสันติภาพ
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักกิจกรรมกลุ่มพอกันที กล่าวว่าถ้ารณรงค์ให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 ได้สำเร็จ ความขัดแย้งก็จะยังคงมีอยู่ ฝ่ายที่ชอบหรือไม่ชอบนักการเมืองก็คงเคลื่อนไหวตามจุดยืนของตนเองต่อไป แต่จะยังคงอยู่ในกติกาประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องจัดการกับการชุมนุมตามวิถีทางประชาธิปไตยที่เคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันของคนสังคม ต่างจากการรัฐประหารที่ใช้กำลังกดข่มความขัดแย้ง มันไม่ช่วยให้สังคมเติบโตขึ้น เสียโอกาสในการแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างมีวุฒิภาวะ
นอกจากนั้น ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการตรวจสอบนโยบายและโครงการขนาดใหญ่จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะได้ตรวจสอบโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง พรบ.คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย เราจะได้พิจารณากฎหมายใหม่ๆ ที่ทางเครือข่ายประชาชนเสนออย่างการปฏิรูปที่ดิน พรบ.คู่ชีวิต พรบ.บำนาญแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย
และที่สำคัญ ถ้าเลือกตั้งในวันนั้นสำเร็จ ในวันนี้เราจะได้เลือกตั้งใหม่อีกครั้ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าต้องการให้ประเทศไทยไปในทิศทางใด
สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น กิตติชัย กล่าวว่า การเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและรัฐธรรมนูญที่กำเนิดมาจากคณะรัฐประหารและห้ามรณรงค์ไม่รับร่างนี่นะ ผมคุยกับหลายคน ค่อนข้างเห็นตรงกันว่า ณ วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือความหวัง เราขัดแย้งทางการเมืองกันด้วยเรื่องคอรัปชั่น เรื่องเกลียดใครชอบใคร เรื่องการพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเก่าๆ แต่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้เถียงกันเรื่องประเทศไทยจะไปทางไหนอย่างมีความหวังต่ออนาคตเลย หลายคนถึงขั้นอยากกลับสู่อดีตด้วยซ้ำไปในท่ามกลางบรรยากาศที่ความขัดแย้งถูกกดข่มไว้ด้วยความรุนแรง ผนวกกับภาวะไร้ความหวังของสังคมไทย ร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับริดรอนอำนาจประชาชน การเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนี้ อาจจะมีฐานะเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจอย่างยาวนานของเครือข่ายรัฐประหารก็ได้ ออกจะดูย้อนแย้งปนขำนิดหน่อย เพราะว่ามันไปพ้องกับคำพูดติดปากช่วงหนึ่งของกลุ่มขัดขวางเลือกตั้ง 2 กพ. ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง”
อย่างไรก็ตาม ผมยังคงสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งนะครับ อย่างน้อยนี่คือหนทางที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เป็นวิถีทางที่เราต้องยืนหยัด ยืนยันว่าประชาชนคือคนกลางที่จะตัดสินว่าใครคือตัวแทนของตนเองในการบริหารประเทศ จากนั้นทั้งในรัฐสภาและภาคประชาสังคมเองก็ต้องขยับขับเคลื่อนกันเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น สร้างสังคมที่เคารพกติกาประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษชน ขจัดอำนาจนอกระบบ และสร้างความหวังต่ออนาคตร่วมกัน
คุยกับ ‘กิตติชัย งามชัยพิสิฐ’ พอกันที! ความรุนแรง โค้งสุดท้ายรณรงค์ชวนคนไปเลือกตั้ง
กลุ่มพอกันที จัด ‘จุดเทียน’ ครั้งที่ 4 ขยายพื้นที่สันติทั่วประเทศ
กลุ่มพอกันที! ยกธงขาว กราบทุกฝ่าย วอนหยุดความรุนแรง
แกนนำพรรคพลังประชาธิปไตยเดินสายหาเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่
จิตรา คชเดช : พรรคพลังประชาธิปไตย
จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่สองของพรรคพลังประชาธิปไตย (เบอร์ 8) ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 กล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นจะสำเร็จไ เพราะตอนนั้นพรรคการเมืองใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทยไม่สร้างบรรยากาศการเลืกตั้ง ไม่พยายามให้มีการเลือกตั้ง มีเพียงพรรคเล็กและประชาชนที่มาจุดเทียบให้มีการเลือกตั้ง ประกอบกับมีการขัดขวางการเลือกตั้ง มีการรณรงค์ไม่เอาเลือตั้งจากกลุ่ม กปปส.อีกด้วย
แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งนั้นสำเร็จ คิดว่าพรรคเพื่อไทยคงมีเสียงข้างมากเหมือนเดิมและคงมีพรรคเล็กเข้ามาบ้าง และมันคงจบอย่างรวดเร็วยังไม่ได้ดำเนินการอะไร คงเกิดรัฐประหารตั้งแต่ตอนนั้นเลย คงไม่รอเวลาจนถึง 22 พ.ค.2557 เพราะคิดว่าเป็นช่วงที่ทหารหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะรัฐประหารอยู่แล้ว ถ้าเลือกตั้งสำเร็จ รัฐประหารก็เร็วเท่านั้นเอง
สำหรับการเลือกตั้งที่จะเดขึ้นนั้น คิดว่าคงอีนานจนกว่า คสช.จะมั่นใจว่าการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคเล็ก จะมีพรรคการเมืองใหม่ที่อดีต ส.ส.จะเข้าสังกัดภายใต้ทหาร การเลือกตั้งจึงจะเกิดขึ้น เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนุญทำให้กลุ่มอำนาจทหารยังคงอยู่ การแต่งตั้ง สนช.เป็นเครื่องมือสำคัญของอำนาจทาร ประชาชนเป็นเพียงเครืองมือให้เผด็จการดูเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเอง แต่เสียงของประชาชนไม่สามารถกำหนดทิศทางการเมืองได้
สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น จิตรา กล่าวว่า ต่างจากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 อย่างแน่นอน เพราะการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้เป็นการสร้างภาพให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเป็นารแปลงร่างขงเผด็จการที่จะสืบทอดอำนาจอย่างชอบธรรม เงื่อนไขรัฐธรรมนูญก็แตกต่างกันหลายอย่าง เพราะการเขียนรัฐธรรมนุญ 60 นั้น เป็นการเขียนเพื่อเป้าหมายให้ประชาชนไม่มีอำนาจที่แท้จริงผ่านการเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้ประชาชนมีประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพที่แท้จริง เพราะรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าวงจึงจะทำให้ประเทศมีประชาธิปไตย การเลือกตั้งด้วยเงื่อนไขเผด็จการไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้
คุยกับ จิตรา คชเดช: ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ พรรคพลังประชาธิปไตย
คุยกับผู้สมัครพรรคเล็กในวงล้อม กปปส. ณ สน.ดินแดง – กระสุนปริศนา
‘จิตรา-ประแสง’เปิดพรรคใหม่ ชูรัฐสวัสดิการ ต้านคอรัปชั่น กระจายอำนาจ
เอก อัตถากร ผู้ชูป้าย ‘Respect My Vote’ ในงานปฏิรูปประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากทวิตเตอร์ @doung_dailynews)
เอก อัตถากร : Respect My Vote
เอก อัตถากร ผู้ชูป้าย ‘Respect My Vote’ ในงานปฏิรูปประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่แตกต่างอะไรกับปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ สุดท้ายผลการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นโมฆะ ด้วยเหตุจากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะหาเรื่องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งจาก กกต. ที่ตั้งธงปฏิเสธการจัดการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า ทั้งจากกลุ่มกปปส.ที่จับมือกับกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันตามที่นายสุเทพเคยให้สัมภาษณ์ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่กลุ่มต่างๆ สร้างขึ้นจะเป็นข้ออ้างให้คณะ คสช.เปิดเกมรัฐประหารตามแผนที่วางไว้ร่วมกับขั้วอำนาจต่าง ๆ ที่อยู่ตรงข้ามรบ.ในขณะนั้น
"เลือกตั้งสำเร็จ ก็ปฏิวัติเหมือนเดิม" เอก กล่าวย้ำ
สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้า เอก มองว่า แตกต่างจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 อย่างสิ้นเชิง มีอยู่อย่างเดียวที่เหมือนกันคือจะเป็น "การเลือกตั้งในสถานการณ์ไม่ปกติ" ขอไม่พูดถึงรายละเอียดและปัญหาของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาตามที่พวกเราทราบข้อมูลกันดี แต่ที่น่าเป็นกังวลคือเลือกตั้งในครั้งใหม่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของฉนวนความขัดแย้ง จากรธน. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กลุ่ม ส.ว.ลากตั้งทั้งคณะ ม.44 ฯลฯ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่มาก ๆ ที่คสช.กับคณะวางไว้ให้กับประเทศ เพราะหากพิจารณาดี ๆ ไม่ว่าผลจะออกมายังไง ทั้งฝ่ายทหารปัจจุบัน หรือฝ่ายการเมืองตรงข้ามชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าใครได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีปัญหา
หากทหารในคราบนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองฝากฝั่งทหารชนะ ได้ฟอกขาวตัวเองผ่านการเลือกตั้ง รวมเสียงจากสว.ลากตั้งที่เตรียมไว้เลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ รัฐบาลก็จะโดนต่อต้านจากทั้งในและต่างประเทศ ประชาชนอาจจะถูกลิดรอนสิทธิอย่างถูกกฏหมาย และประเทศจะติดกับดักยุทธศาสตร์ชาติเต็มรูปแบบ แถมยังกลายเป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านกม.พิเศษที่ตัวเองร่างไว้ล่วงหน้า
หากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามชนะเลือกตั้ง จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะกลายเป็นรัฐบาลง่อยเปลี้ยเสียขา เกิดความขัดแย้งรุนแรงจากกลุ่มสว.ลากตั้ง และคณะกรรมการต่าง ๆ ที่คสช.กับพวกได้วางหมากไว้ รวมถึงกองทัพที่เป็นฝากฝั่งเดียวกับคสช.ก็ดักทางทุกอย่างไว้ รัฐบาลจะไม่สามารถบริหารประเทศได้ 100%
คุยกับหนุ่มชูป้าย 'RESPECT MY VOTE' ใส่ ‘อภิสิทธิ์’ ขณะร่ายพิมพ์เขียวปฎิรูปฯ
ภาคีประชาชนคือคนกลางฯ แถลงเดินหน้าเลือกตั้ง ย้ำปชช.กำหนดอนาคตตัวเองได้
[full-post]
แสดงความคิดเห็น