ประชาชนที่ใช้เสรีภาพเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดี
ที่มา: www.matichonweekly.com/hot-news/article_78962
ที่มา: www.matichonweekly.com/hot-news/article_78962
Posted: 02 Feb 2018 07:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สุรพศ ทวีศักดิ์
อันที่จริงทั้งนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ หรือนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปควรจะส่งเสียงออกมาอย่าง “เอกฉันท์” ได้แล้วว่า การดำรงอยู่ของ ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสดงออก คือ “ความขัดแย้งภายในตัวระบบการปกครอง” ที่กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดกันเองอย่างสับสนอลเวง
ความขัดแย้งภายในตัวระบบการปกครอง คือการที่ “อำนาจรัฐมีสองลักษณะขัดแย้งกัน” โดยผู้มีอำนาจรัฐอ้างว่าตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ถามว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อิงกฎหมายใด ก็คงอิง “ม.44” เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ฉะนั้น ตามรัฐธรรมนูญประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด รัฐบาลต้องใช้อำนาจภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามที่รัฐธรรมรับรองไว้ ม.44 และคำสั่ง คสช.ที่ขัดรัฐธรรมนูญจึงต้องถูกยกเลิกไปตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว
แต่การที่รัฐบาล คสช.ยังคง ม.44 ไว้ เท่ากับว่ารัฐบาล คสช.ได้สร้างระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจขัดแย้งกันเองขึ้นมาให้กลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเสียเอง
เนื่องจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตาม ม.44 เป็น "อำนาจแบบเผด็จการ” ขณะที่อำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็น “อำนาจแบบประชาธิปไตย” (ผมตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่อง “ความเป็นประชาธิปไตย” อยู่มาก แต่ในที่นี้พูดให้เห็นความแต่งต่างระหว่าง สองอำนาจคร่าวๆ) สองระบบอำนาจนี้อยู่บนปรัชญาการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะอำนาจแบบเผด็จการเรียกร้องความภักดี เชื่อฟังผู้ปกครอง ประชาชนไม่มีสิทธิและอำนาจเป็นของตัวเอง ไม่มีเสรีภาพในการตรวจ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่อำนาจแบบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิและอำนาจเป็นของตนเอง มีเสรีภาพในการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
การสร้างระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจขัดแย้งกันเช่นนี้ขึ้นมา จึงเป็นการสร้างระบบการปกครองที่ “ประหลาดมาก” เพราะมันส่งผลให้สิ่งที่รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนกลายเป็น “สารที่ไร้ความหมาย” เช่นเมื่อรัฐบาลพูดเรื่อง “ความมั่นคง” คำถามที่ตามมาคือ ความมั่นคงของอะไร ถ้าเป็นความมั่นคงของอำนาจแบบประชาธิปไตย อำนาจนี้ก็ไม่มั่นคง หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตาม ม.44 กดทับไว้ แต่ถ้าหมายถึงความมั่นคงของอำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ก็ไม่มีหลักประกันว่าอำนาจแบบนี้จะมั่นคงได้ เพราะประชาชนก็ย่อมอ้างอิงรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วว่า มันจะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่มีเหตุผล และความชอบธรรมใดๆ รองรับ
ฉะนั้น ความขัดแย้งของสังคมไทย ณ วันนี้ ไม่ได้เกิดจากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่เกิดจากรัฐบาล คสช.สร้างระบบการปกครอง (ซึ่งไม่รู้จะเรียกระบบการปกครองอะไร) ที่มีสองระบบอำนาจที่ขัดแย้งกันเองขึ้นมา คืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตาม ม.44 ที่ละเมิดหลักเสรีภาพในการแสดงออกและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรม ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองสองระบบอำนาจนี้ คือ “ความขัดแย้งในทางปฏิบัติของรัฐบาล คสช.เอง” เพราะสองอำนาจที่ตัวเองสร้างขึ้นมานี้ทำให้รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล และขัดแย้งในตนเองตลอดเวลา
เช่น ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ขณะที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างสันติถูกแจ้งความดำเนินคดี แต่ประชาชนกลุ่มที่ออกมาเชียผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลับไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ฯลฯ
ประชาชนที่เชียร์พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดี
ที่มา: www.matichon.co.th/news/824500
ที่สำคัญก็คือ ไม่ควรมีประชาชนกลุ่มใดๆ ที่ใช้เสรีภาพแสดงออกอย่างสันติต้องถูกดำเนินคดี เพราะเป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การดำเนินคดีกับประชาชนจึงเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเสียเอง
การใช้อำนาจขัดกันเช่นนี้ย่อมทำให้รัฐบาลขัดแย้งกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สะท้อนความขัดแย้งในคำพูดและการกระทำของรัฐบาลเอง เพราะรัฐบาลประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลกลับไม่ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง
เมื่อไม่ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช.ที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญรับรอง ก็เท่ากับคงสภาวะขัดแย้งระหว่างสองระบบอำนาจไว้ให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นเหตุเป็นผลและขัดแย้งในตัวเองตลอดเวลา
การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ ความปรองดองสมานฉันท์ก็เกิดขึ้นจริงไม่ได้ การใช้อำนาจปิดปากประชาชนด้วยการดำเนินคดีแบบเหวี่ยงแหก็ย่อมไม่อาจนำไปสู่ความสงบสุขทางสังคมได้จริง
สังคมเราจึงควร “ตาสว่าง” และมีวุฒิภาวะที่จะยอมรับ “ความเป็นจริง” ร่วมกันเสียทีว่า ประชาชนทุกฝ่ายที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผู้สร้างความขัดแย้ง แต่ระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจซึ่งขัดแย้งกันเองต่างหาก คือสภาวะความขัดแย้งในตัวมันเอง และกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้านรัฐประหารและฝายที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร
[full-post]
แสดงความคิดเห็น