แฟ้มภาพ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

Posted: 01 Feb 2018 02:14 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ประธาน กรธ.เผยได้รับร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. - และการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้ว คาดตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ 9 ก.พ.นี้ ระบุชัดไม่ขัดแย้งปมเลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน หาก สนช. คิดว่าเพียงพอต่อการเตรียมการเลือกตั้งก็ยอมรับ

1 ก.พ. 2561 มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรธ.ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) และร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.) ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว หลังจากนี้ กรธ.จะหารือกันเพื่อตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ที่มีการปรับแก้ไข คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะส่งความเห็นแย้งเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ วันที่ 9 ก.พ. นี้

มีชัย กล่าวถึงกรณีที่ สนช. ปรับแก้ไขให้ที่มาของผู้สมัคร ส.ว. ลดลงเหลือ 10 กลุ่มอาชีพ จากเดิมที่ กรธ. ตั้งไว้ 20 กลุ่มอาชีพ ว่า ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น กรธ.ต้องการเปลี่ยนจากสภาผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นสภาของประชาชน และเป็นช่องทางที่ประชาชนทุกสาขาอาชีพสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ กรธ. ไม่ได้กำหนด 20 กลุ่มอาชีพขึ้นมาลอยๆ แต่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรธ.ได้ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่าเหตุใดจึงแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ หากแยกกลุ่มอาชีพมากขึ้นจะทำให้จำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มนั้นลดน้อยลง ทั้งในแต่ละอำเภอ จังหวัดก็จะลดลง และอาจทำให้การเลือกนั้นเกิดปัญหาได้ ส่วนเหตุผลที่ กรธ.ไม่จัดกลุ่มอาชีพให้น้อยกว่า 20 กลุ่ม นั้น เนื่องจากโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ในแต่ละกลุ่มนั้น อาจเป็นตัวแทนได้ยากขึ้น เช่น กลุ่มสตรี หากนำไปรวมกับกลุ่มอื่น จะทำให้หลักประกันที่จะได้ตัวแทนของกลุ่มสตรีเป็น ส.ว.นั้น ลดลง ซึ่งที่ผ่านมา สนช. อาจยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ ดังนั้น กรธ.จำเป็นต้องอธิบายให้ สนช. เข้าใจความมุ่งหมายดังกล่าวให้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้ระบุว่าให้ทุกสาขาอาชีพเข้ามามีส่วนร่วมได้ หากมีจำนวนกลุ่มอาชีพมากขึ้นก็จะมีผู้สมัคร ส.ว.ที่มีความหลากหลายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ต่อข้อถามถึงกรณีที่ สนช.ปรับแก้ไขให้ ส.ว.มาจากทั้งผู้สมัครอิสระและองค์กร อาจขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองขององค์กรใด หากกำหนดให้องค์กรเป็นผู้ส่งผู้สมัคร ส.ว. ก็แสดงว่าองค์กรเป็นผู้คัดเลือก ดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ทุกคนมีความเสมอภาคกัน อย่างไรก็ตาม กรธ.ไม่สามารถระบุได้ว่ากรณีดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยังไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรธ.ต้องพยายามอธิบายให้ สนช.เข้าใจให้ตรงกันอย่างสุดความสามารถ ส่วนประเด็นที่ สนช.ปรับแก้ไขยกเลิกระบบเลือกไขว้ผู้สมัคร ส.ว.แต่ละกลุ่มอาชีพ เนื่องจากเห็นว่าอาจทำให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดกันได้ง่ายนั้น ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการเลือกโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หาก สนช. มีเหตุผลเพียงพอก็พร้อมยอมรับแนวทางดังกล่าว แต่หาก กรธ.มีเหตุผลที่ดีกว่าก็ขอให้ สนช.พิจารณาด้วย

สำหรับกรณีที่มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีชียระบุว่า ที่ กรธ.สงวนความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นเพราะต้องการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด แต่หาก สนช.เห็นว่าควรขยายเวลาบังคับใช้ออกไป กรธ.ก็ไม่มีเหตุผลที่จะโต้แย้งเรื่องนี้

ส่วนเหตุผลที่ สนช. ระบุว่า กรอบเวลาที่กำหนดให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150 วัน หลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการด้านทางธุรกรรมทางการเมือง และส่งผลให้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งขั้นต้น หรือทำไพรมารีโหวตไม่ทัน จึงจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป มีชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรอบเวลาในการจัดทำไพรมารีโหวตนั้นยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังต้องรอ กกต.ออกประกาศขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตก่อน ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ อีกทั้งยังเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งการขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ส่วนตัวเห็นว่าพรรคการเมืองได้รับเวลาที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งแต่ละพรรคต้องหาสมาชิกพรรคที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ได้ก่อน จึงจะสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลของกฎหมายที่กำหนดให้ดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวตในเขตนั้น

มีชัย กล่าวถึงกรณีที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุว่า การขยายเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน จะเพียงพอสำหรับการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองว่า หาก สนช. เห็นว่าเวลาดังกล่าวเพียงพอก็พร้อมยอมรับ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าหากไม่ขยายกรอบเวลาออกไปก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะอาจมีเพียง 1-2 พรรคเท่านั้นที่สามารถทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัครได้ทัน และอาจส่งได้ไม่ครบทุกเขต อีกทั้งขณะนี้ยังไม่สามารถเรียกประชุมใหญ่ได้ เนื่องจากติดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังไม่ปลดล็อคให้พรรคดำเนินกิจกรรมได้ และไม่ยังทราบแน่ชัดว่าแต่ละพรรคมีจำนวนสมาชิกพรรคเท่าใด ซึ่งก่อนหน้านี้ กรธ.เคยคัดค้านการทำไพรมารีโหวต เพราะกังวลว่าอาจทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอุปสรรคในข้อกฎหมาย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูกอย่างแน่นอน



เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา 1, 2

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.