ภาพการชุมนุมของ กลุ่ม กปปส. แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.57 (ที่มาภาพ เพจ หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)

Posted: 01 Feb 2018 12:53 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลอาญายกฟ้อง 4 จำเลย คดีระเบิดเวที กปปส. แจ้งวัฒนะ 3 ครั้งในช่วงต้นปี 57 เหตุไม่มีประจักษ์พยานและจุดยิงที่ตำรวจสันนิษฐานมีทั้งทหารประจำจุดและแนวรั้วยางของผู้ชุมนุมอยู่หากมีการยิงตามจุดเหล่านั้นเจ้าหน้าที่ก็ติดตามจับกุมได้ อีกทั้งศาลยังรับฟังพยานปากสำคัญ 'แดง ชินจัง' ว่าถูกเจ้าหน้าที่จูงใจให้สารภาพว่าร่วมก่อเหตุกับจำเลยคดีนี้แล้วจะไม่ดำเนินคดี

1 ก.พ.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พิพากษายกฟ้องคดีเหตุระเบิดที่ชุมนุม กปปส. ที่ถนนแจ้งวัฒนะ 3 ครั้ง ตอนต้นปี 2557 ได้แก่ 8 ก.พ., 10 มี.ค. และ 10 เม.ย. 57 ซึ่งมีจำเลย 4 คน ได้แก่ ชัชวาล ปราบบำรุง, สมศรี มาฤทธิ์, สุนทร ผิผ่วนนอกและ ทวีชัย วิชาคำ ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าโดยเจตนา และครอบครองยุทธภัณฑ์ ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนฯ

ศาลอาญายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน โดยยกเหตุไม่มีประจักษ์พยานและจุดยิงที่ตำรวจสันนิษฐานมีทั้งทหารประจำจุดและแนวรั้วยางของผู้ชุมนุมอยู่หากมีการยิงตามจุดเหล่านั้นเจ้าหน้าที่ก็ติดตามจับกุมได้ อีกทั้งศาลยังรับฟังพยานปากสำคัญ คือ ยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” ว่าถูกเจ้าหน้าที่จูงใจให้สารภาพว่าร่วมก่อเหตุกับจำเลยคดีนี้แล้วจะไม่ดำเนินคดี

ทนายตามหา ‘แดง ชินจัง’ ทหารระบุเจ้าตัวสมัครใจขออยู่ต่อ
แม่ยืนยัน ผู้คุมซ้อม'แดง ชินจัง' เรือนจำขอเวลาสอบสวน 2 สัปดาห์ แต่เบื้องต้นไกล่เกลี่ยคู่กรณีแล้ว

โดยศาลบรรยายว่าโจทก์มี พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และตำรวจท้องที่สน.ทุ่งสองห้อง และพนักงานสอบสวนกองปราบฯ มาเบิกความสอดคล้องกันว่า จากเหตุทั้ง 3 ครั้ง จำเลยทั้ง 4 คนและ ยงยุทธ บุญดี ร่วมกันไปก่อเหตุยิง M79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส. บนถนนแจ้งวัฒนะ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในวันที่ 8 ก.พ.และ 10 เม.ย. รวม 3 คน แต่พยานเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ไม่ได้เห็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยตรง ส่วนพยานผู้บาดเจ็บทั้งสามคนก็เบิกความตรงกันว่าไม่เห็นตัวผู้ก่อเหตุ

นอกจากนี้คำเบิกความของพยานตำรวจในท้องที่และผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่มีการสันนิษฐานถึงจุดยิง M79ในทั้งสามครั้งว่าเป็นสถานที่โล่งแจ้งเป็นทางสัญจรไปมา และยังมีจุดตรวจของทหารอยู่ไม่ห่างจากจุดที่สันนิษฐานไว้ว่าเป็นจุดยิง หากมีเสียงดังจากการยิง M79จากจุดที่สันนิษฐานไว้ทหารที่อยู่ในป้อมก็มีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธก็สามารถติดตามจับกุมได้ทันท่วงที อีกทั้งยังผิดวิสัยของผู้กระทำความผิดที่จะต้องปกปิดการกระทำไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้

อีกทั้งยังมีแนวยางรถยนต์และด่านตรวจของผู้ชุมนุมที่หากใครจะผ่านเข้าออกจะต้องได้รับอนุญาตจากการ์ดผู้ชุมนุม กปปส. ก่อนแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ จุดยิงที่สันนิษฐานไว้จึงเป็นเพียงการคาดเดาของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีผู้เกี่ยวข้องใดที่ยืนยันได้ว่ากระสุนถูกยิงมาจากจุดดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมีผู้ตรวจวิถีการยิงจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เบิกความว่าเครื่องยิง M79 ยิงได้ในระยะไม่เกิน 400 ม. จากทุกทิศทางและจากการตรวจวิถีการยิงไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ยิง อีกทั้งในคดีนี้ก็ไม่พบของกลางที่เป็นเครื่องยิง M79 ที่ใช้ก่อเหตุ ในคดีนี้มีเพียงผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น นอกจากนั้นจากคำให้การพยานโจทก์ที่กล่าวว่าในเหตุการณ์วันที่ 8ก.พ.จำเลยใช้เส้นทางซอยแจ้งวัฒนะ 10 ในการหลบหนีก็ไม่หลักฐานยืนยันตามที่พยานโจทก์กล่าวอ้าง

อีกทั้งยงยุทธ บุญดี พยานโจทก์ปากสำคัญ ยังเบิกความว่าระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามอำนาจของกฎอัยการศึกถูกทำร้ายและบังคับให้สารภาพว่าร่วมก่อเหตุทั้ง 3 ครั้ง และยงยุทธยังได้รับคำมั่นจากเจ้าหน้าที่ว่าหากให้การเช่นนั้นจะกันเป็นพยานไม่ดำเนินคดี อีกทั้งไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจอยู่ในการสอบสวนด้วย นอกจากนั้นบันทึกคำให้การของยงยุทธในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ใช้พยานหลักฐานของชั้นเจ้าหน้าที่ทหารโดยคัดลอกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสามครั้งมา และยงยุทธก็ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย จึงน่าเชื่อว่าเป็นคำให้การที่มาจากการให้คำมั่นสัญญาของเจ้าหน้าที่ คำให้การของยงยุทธจึงไม่น่าเชื่อถือไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

สุดท้ายโจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าเห็นจำเลยทั้ง 4 คนเป็นผู้ก่อเหตุยิง M79 ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน

ก่อนหน้าทั้ง 4 คน จะถูกฟ้องในคดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยพิพากษาจำเลยทั้ง 4 คน ในคดีที่ถูกฟ้องว่าได้ใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ลงที่หน้าห้าง Big C ราชดำริ เมื่อ 17.00 น. วันที่ 23 ก.พ. 2557 ในขณะที่มีการชุมนุมของ กปปส. แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ คดีนี้ศาลพิพากษาประหารชีวิต แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษจำคุกตลอดชีวิต และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอศาลฎีกาพิจารณา(อ่าน ที่นี่)

จำเลยทั้ง 4 คน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2557 และถูกทหารนำตัวไปควบคุมตัวที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 โดยไม่มีโอกาสได้ติดต่อญาติหรือทนายความ และไม่ทราบแม้แต่ตนเองถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใดเป็นเวลา8-9 วัน ซึ่งเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึก และไม่มีทนายความอยู่ด้วยระหว่างกระบวนการซักถามภายในค่ายทหาร จากนั้นจึงถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี พวกเขารับสารภาพตั้งแต่ชั้นซักถามในค่ายทหารและชั้นสอบสวนของตำรวจ จำเลยทั้ง 4 คนถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาโดยตลอด จำเลยทั้ง 4 คน ได้ร้องเรียนต่อทนายความว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวภายในค่ายทหาร

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.