วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. 

Posted: 31 Jan 2018 07:46 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์


31 ม.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่าวันนี้ (31 ม.ค.61) วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า ที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2561 วันที่ 31 ม.ค. 2561 ได้พิจารณากรณี องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch- HRW) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ เผยแพร่รายงานจำนวน 2 ฉบับ คือ 1. รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 และ 2. รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงไทย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารายงานทั้งสองฉบับ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 26 (4) และ มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2561

กระทรวงต่างประเทศประณาม 'ฮิวแมน ไรท์ วอทช์' ออกรายงานสิทธิฯ อย่างมีอคติทางการเมือง

วัส กล่าวว่า อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.กสม. ที่อ้างถึงข้างต้นมีสาระสำคัญว่า เมื่อความปรากฏต่อ กสม. ไม่ว่าโดยทางใดว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม กสม. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นโดยไม่ชักช้า เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งการตรวจสอบรายงานทั้งสองฉบับของ Human Rights Watch นับเป็นกรณีแรกของการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.กสม.ข้างต้น

“ที่ประชุม กสม. ได้วางหลักในการตรวจสอบว่า ในชั้นแรกให้คณะทำงานฯ นำรายงานการตรวจสอบ และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายของ กสม. ที่เสนอต่อรัฐบาล รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่สอดคล้องในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และรายงานวิจัยเรื่องโซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยของ Human Rights Watch มาพิจารณาควบคู่ไปกับผลการดำเนินการของรัฐบาลตามรายงานหรือข้อเสนอแนะของ กสม. และการดำเนินการที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีกรอบระยะเวลาการพิจารณาประมาณ 30 วัน” ประธาน กสม. กล่าว

วัส กล่าวด้วยว่า ในชั้นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ กสม.ชุดปัจจุบัน องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและ Human Rights Watch เคยทำหนังสือต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ตัดอำนาจและหน้าที่ของ กสม. ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าการชี้แจงว่ารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขององค์กรต่าง ๆ จะมีความถูกต้องและเป็นธรรมต่อประเทศไทยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจและหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดให้เป็นภารกิจของ กสม. ดังนั้น กสม. จึงจำเป็นต้องวางหลักเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่นี้โดยไม่เอนเอียงหรือก้าวล่วงบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องคํานึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยและผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสําคัญด้วย

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.