Posted: 31 Jan 2018 01:32 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

"ปัทมาวตี" เป็นภาพยนตร์ที่มีกระแสประท้วงอย่างหนักก่อนหน้านี้ ถูกพูดถึงในอีกมุมมองหนึ่งผ่านการวิจารณ์ภาพยนตร์ของอังกูร์ ปาทัก นักเขียนของสื่อฮัฟฟิงตันโพสต์ โดยมองตัวละคร "เควียร์" ที่แสดงออกต่างกันสองตัวละครและระบุว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำลาย "เพดานที่มองไม่เห็น" ในเรื่องการแสดงออกของผู้มีความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์อินเดีย แต่กระนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องการนำเสนอภาพสร้างความชอบธรรม ให้ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความรุนแรง

อังกูร์ ปาทัก นักเขียนของสื่อฮัฟฟิงตันวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "ปัทมาวตี" จากผลงานกำกับของ สันชัย ลีลา บันสาลี ในมุมมองเพศวิถี ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของอะลาอุดดิน คิลจี แสดงโดยรันวีร์ สิงห์ ทรราชผู้ที่มีพฤติกรรมโหดเหี้ยม เลือดเย็น ไม่คำนึงถึงใจผู้อื่น ใช้ทุกวิธีเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ แสดงความหลงตัวเองเมื่อมองตัวเองในกระจกที่มีหญิงมารายล้อม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากบทกวีเรื่องแต่งในเชิงเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ผสมการตีความของผู้กำกับ โดยแสดงให้เห็นภาพของคิลจีผู้ที่พยายามพิชิตดินแดนเพื่อให้ได้ราชินีหญิงที่ชื่อปัทมาวตีมาครอบครอง และการครอบครองสตรีของเขาก็เป็นเพียงแค่ "ของรางวัล" การพิชิตอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่ก็พยายามแสร้งกลบเกลื่อนมันด้วยความรักแบบโรแมนติกจนแทบจะกลายเป็นการหลอกตัวเอง ขณะเดียวกันก็เก็บกดความรักสองเพศของตัวเองเอาไว้

ปาทักเขียนเกี่ยวกับตัวละครอีกตัวหนึ่งคือมาลิค คาฟูร์ ผู้มีความเป็นชายในแบบที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยตรงกันข้ามกับคิลจี โดยที่ผู้กำกับทำให้ความเป็นชายเชิงทำลายล้างของคิลจีถูกกลบด้วยความอ่อนโยนของคาฟูร์ ขณะเดียวกันนักวิจารณ์ก็ชื่นชมการนำเสนอเกี่ยวกับตัวละครที่ไม่ใช่รักต่างเพศในแบบที่มีความหลากหลายแตกต่างจากภาพยนตร์กระแสหลักของอินเดียที่มักจะเป็นการนำเสนอคนรักเพศเดียวกันเป็นแค่ตัวตลกที่ถูกนำมาล้อเลียน แต่เรื่องปัทมาวตีนำเสนอภาพของคนรักสองเพศได้ในแบบที่เป็นส่วนหนึ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน และเป็นตัวละครหลักที่มีบทพูดเด่น

อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เคยทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากชาวฮินดูฝ่ายขวาจากที่พวกเขามองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อิงประวัติศาสตร์ที่สุลต่านมุสลิมโจมตีดินแดนของฮินดู กล่าวหาว่าเป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นภาพความใฝ่ฝันของสุลต่านอิสลามในการครอบครองราชินีฮินดูและข้อหาอื่นๆ แต่ผู้กำกับปฏิเสธว่า ไม่ได้มีเนื้อหาดังกล่าวในภาพยนตร์เลย

นอกเหนือจากกลุ่มฮินดูแล้วมีข้อวิจารณ์อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประเพณีการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายเชิงเกียรติยศเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้ต้องแต่งงานกับสุลต่านแบบที่เรียกว่า "เจาฮาร์" ซึ่ง ดิวยา อารยา ผู้สื่อข่าวบีบีซีสายประเด็นสตรี ระบุว่าปัญหาที่แท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการนำเสนอภาพการจุดไฟเผาตัวเองของผู้หญิงเพื่อรักษาเกียรติยศในแบบที่ดูสวยงามเกินจริง เป็นการส่งเสริมชื่นชมสภาพที่ผู้หญิงเผชิญความรุนแรงจนไม่มีทางออก ด้วยการอ้างความชอบธรรมเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้ชายที่อยู่เหนือผู้หญิง ซึ่งนักวิจารณ์ปาทักก็เขียนวิจารณ์ไว้ในทำนองเดียวกัน



เรียบเรียงจาก

'Padmaavat' Review: Ranveer Singh's Queer Act Shatters The Glass Ceiling In Indian Film Writing, Ankur Pathak, Huffington Post, 24-01-2018
http://www.huffingtonpost.in/2018/01/23/padmaavat-review-ranveer-singhs-queer-act-shatters-the-glass-ceiling-in-indian-film-writing_a_23341645/

Padmaavat: India clashes as controversial film opens, BBC, 25-01-2018
http://www.bbc.com/news/world-asia-india-42815702[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.