Posted: 09 Aug 2018 06:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-08-09 20:58


เครือข่ายตรวจสอบการลงทุนในเขื่อนลาว และประชาสังคมเกาหลีออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ลาวเลิกใช้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ให้บริษัทร่วมทุนไทย-ลาว-เกาหลี ยืดอกขอโทษและรับผิดชอบอย่างเปิดเผย โปร่งใส เยียวยาเหยื่อทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

9 ส.ค. 2561 มีการแถลงคำประกาศจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (Laos Dam Investment Monitor [LDIM]) และเครือข่ายที่สองคือคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยลาวแตก โดยประสงค์จะประกาศ เผยแพร่มุมมอง และข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศ สปป. ลาว ดังนี้

ประการแรก - เขื่อนพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยไม่เหลือความชอบธรรมในการดำเนินการอีกต่อไป

เราตระหนักว่าอุบัติภัยของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลลาวได้มีถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการตรวจสอบเขื่อนที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศและระงับการพิจารณาการลงทุนใหม่ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำของลาวต่อไป แม้เรายังไม่ทราบถึงขั้นตอนต่อไปที่รัฐบาลลาวจะปฏิบัติ แต่เราขอยืนยันว่าในขณะนี้ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยได้สูญเสียความชอบธรรมที่จะดำเนินการต่อไปในฐานะเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไปแล้ว เขื่อนดังกล่าวซึ่งมีแผนการจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ประเทศไทยเพียงเพื่อไปสมทบกับจำนวนพลังงานที่มีอยู่มากกว่าความต้องการที่แท้จริงของประเทศไทยอยู่แล้ว ได้คร่าชีวิตของคนอย่างน้อย 35 คน และเป็นสาเหตุของความทุกข์ทรมานในระยะยาวแก่ประชาชนอีกนับหมื่นคนทั้งในประเทศลาวและกัมพูชา ยังไม่นับความเสียหายที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากภัยพิบัติดังกล่าวที่มากเกินกว่าคำอธิบาย

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดต่อรัฐบาลลาวและกลุ่มบริษัทผู้สร้างเขื่อนคือการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือและรักษาความปลอดภัยของชีวิตและอนาคตของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกู้คืนสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายลง กลุ่มนักลงทุนที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับและเรียนรู้ถึงผลกระทบที่รุนแรงจากการพังทลายของเขื่อนที่โลกได้เห็น รัฐบาลลาว รัฐบาลเกาหลีและหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศไทยต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ณ ขณะนี้ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยได้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สำคัญของโศกนาฏกรรมที่มีต่อประชาชน ประเทศและของโลก

ประการที่สอง - การแถลงอย่างโปร่งใสและเร่งด่วนของกลุ่มบริษัทผู้ลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเกิดขึ้นทันที

ผลกระทบจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยไปไกลเกินขอบเขตของประเทศ ความคาดหวังของประชาชนชาวไทย เกาหลีและทั่วโลกผู้ติดตามสถานการณ์คือการได้เห็นการขอโทษอย่างเป็นทางการและเป็นกิจจะลักษณะของบริษัทเอสเคเอ็นจิเนียร์แอนด์คอนสตรัคชั่น บริษัทเกาหลีเวสเทิร์นพาวเวอร์ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว โดยความร่วมมือกับรัฐบาลลาว การขอโทษคือขั้นตอนแรกเพื่อการประกาศให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการยอมรับในความรับผิดชอบของบริษัทผู้ได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนในโครงการที่มีต่อชีวิตและวิถีชีวิตของประชาชน และทรัพยากรของลุ่มน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย สายน้ำอื่นๆ และสภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งมวล

กระบวนการของการตรวจสอบโดยรัฐบาลลาวและรัฐบาลเกาหลีเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ บริษัท กลุ่มรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนดังเช่นบริษัทเกาหลีทั้งสองและราชบุรีโฮลดิ้งของไทยเป็นสิ่งจำเป็น รวมไปถึงกระบวนการการใช้เงินสาธารณะของเกาหลีในฐานะเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (โอดีเอ) ต้องมีการแถลงให้ทราบและติดตามโดยสาธารณะ ด้านความรับผิดชอบตามกฎหมายและการประเมินความเป็นไปได้ในทางกฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการติดตามและมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบโดยประชาชน ชุมชนและกลุ่มใดๆ ที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในภารกิจช่วยเหลือในสถานการณ์ปัจจุบันและฟื้นฟูในอนาคตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในลาวและกัมพูชา

ประการสุดท้าย การชดเชย - การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือและชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคือเรื่องที่เร่งด่วนที่สุด

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนในขณะนี้คือการปฏิเสธและผลักความรับผิดชอบของบริษัทและหน่วยงานที่รับผิดชอบ แทนที่จะพยายามผลักภาระให้พ้นตัว ชุมชนโลกกำลังอยากเห็นการมีส่วนร่วมโดยตรงของบุคลากรสูงสุดของทุกบริษัทผู้ร่วมลงทุนในการเดินทางเพื่อพบและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังคมจมอยู่ในโคลนตาในประเทศลาว ทุกบริษัทจำเป็นต้องยอมรับอย่างเป็นทางการในข้อเท็จจริงที่ว่า ในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ ยังมีผู้คนที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออย่างแท้จริงด้วยความหิวโหยและทุกข์ทรมาน บริษัทต้องเข้าทำงานในประเทศลาวโดยตรงในระยะเร่งด่วน รวมทั้งในระยะกลางและยาวต่อปัญหาอื่นๆ ที่ได้รับการประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปีหรือนับทศวรรษ การทำให้ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูสภาพการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชน

ในท้ายที่สุดและที่สำคัญมาก เราขอยืนยันว่ากลุ่มบริษัทผู้ลงทุนและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้ค่าชดเชยที่เกิดขึ้นย้อนกลับมาเป็นค่าไฟฟ้าหรือนำมาจากเงินทุนสาธารณะที่ประชาชนพลเมืองไทย เกาหลีและลาวจะต้องเป็นผู้ชดใช้ บริษัทและกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการต้องรับค่าใช้จ่ายในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง

ด้วยสามประเด็นที่ระบุในคำประกาศฉบับนี้ เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาวและคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยลาวแตก ขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สำคัญที่สุดที่การเข้าร่วมของประชาชนลาว ประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศจะต้องได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลลาว ทั้งนี้ เราขอยืนยันความมุ่งมั่นของเราในการติดตามและทำงานเพื่อได้เห็นการยุติโครงการ การประกาศความรับผิดชอบ และการชดเชยพร้อมการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดของรัฐบาลลาว เกาหลี ไทยและหน่วยงานพลังงานของไทยเพื่อสนองต่อศักดิ์ศรีและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนลาวและกัมพูชา ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือทุกสิ่งของพวกเราทั้งหลาย

เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาวและคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยลาวแตก

สันเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า "เซเปียน-เซน้ำน้อย" แตกคืนวันที่ 23 ก.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว โดยเขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างดังกล่าวผู้ลงทุนคือ บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC)

บริษัท PNPC เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% หากก่อสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 27 ปีขณะที่ราชบุรีโฮลดิ้งชี้แจงว่า 1 ใน 5 สันเขื่อนกั้นช่องเขา คือสันเขื่อนส่วน D แตกร้าว โดยอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งกระทบต่อการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีหน้านั้น


ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย

ขณะเดียวกัน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ในวันนี้ (24 ก.ค.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ โดยตอนหนึ่งระบุว่า "เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดห้าเขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้ โครงการนี้ตั้งอยู่บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จุดที่แม่น้ำเซเปียนบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ปากเซ"

"จากข้อมูลที่มีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณสองทุ่มเมื่อคืนที่ผ่านมา"
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.