Posted: 13 Aug 2018 11:19 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-08-14 13:19

1. การจัดการ "มรดก" คณะรัฐประหาร

หลักการ
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างร้าวลึกตลอดทศวรรษ จนดูเหมือนว่าไม่อาจหาฉันทามติร่วมกันได้ ทำให้กองทัพฉวยโอกาสก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสองครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ในช่วงของการครองอำนาจ คณะรัฐประหารได้สร้าง “มรดก” ในรูปของ “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมาย” ไว้จำนวนมาก เพื่อเป็นกลไกรับประกันว่าระบอบการเมืองในฝันของคณะรัฐประหารจะสามารถดำรงอยู่ได้ “มรดก” เหล่านี้ มีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขาดความชอบธรรมและการมีส่วนร่วมจากประชาชน หากไม่จัดการ “มรดก” ของคณะรัฐประหาร จะทำให้ระบอบรัฐประหารดำรงอยู่กับเราต่อไปจนยากที่จะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้
ข้อเสนอที่ 1.1.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
เหตุผล
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ตามมาตรฐานตามแบบประชาธิปไตย คสช.จำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รณรงค์อย่างเต็มที่ มีบุคคลจำนวนมากที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่กลับถูกจับกุมและดำเนินคดี ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีความชอบธรรม
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศที่สถาปนาโดยประชาชน เพื่อกำหนดระบอบการเมืองการปกครอง ก่อตั้งสถาบันการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง และประกันสิทธิเสรีภาพ ด้วยความสำคัญและเป็นกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานเช่นนี้เอง ทำให้รัฐธรรมนูญต้องเกิดจากฉันทามติของคนในสังคม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขาดแคลนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มานานแล้ว อาจพอกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่เป็นฉันทามติ (consensus) ของสังคมไทย ที่เกิดจากความเห็นพ้องต้องกันและพอจะยอมรับกันได้ทุกฝักฝ่าย คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ 2549 2550 2557 และ 2560 ต่างก็เป็นรัฐธรรมนูญแบบ “ตอบโต้” กับระบบและสภาพการณ์ที่มีมาก่อนหน้า มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ร่างเพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของรัฐประหาร และไม่ได้ถูกร่างภายใต้บรรยากาศของการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง รัฐธรรมนูญลักษณะเช่นนี้ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีและทุกฝ่ายยอมรับกันได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการสถาปานารัฐธรรมนูญได้ตัดสินใจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
วิธีการ
(1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีเนื้อหาตามกรอบของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
(2.) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตาม (1.) ให้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และมาตรา 256 ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับหมวด 15 นี้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
(3.) เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้ว จะต้องมีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ได้แก่
ครั้งแรก การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ คร้้งที่สอง การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น
ข้อเสนอที่ 1.2. ยกเลิกมาตรา 279
เหตุผล
มาตรา 279 ได้รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2560) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย ในขณะที่ศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้องกรณีเหล่านี้ โดยอ้างมาตรา 279 ว่ารับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้หมดแล้ว ดังนั้น แม้การกระทำเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ยุติธรรม การกระทำเหล่านี้ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสมอ กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด
เพื่อทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 279
วิธีการ
เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพื่อยกเลิกมาตรา 279
ข้อเสนอที่ 1.3. ทบทวน แก้ไข ยกเลิก ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.
เหตุผล
นับตั้งแต่ คสช. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ออกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนมาก โดย “เสก” ให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้มีสถานะเป็น “กฎหมาย” และกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2557 และ 2560 เพื่อรับรองให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายตลอดกาล
ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม และสร้างให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายสองระบบในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ระบบปกติที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบบพิเศษของ คสช. ที่ได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
วิธีการ
(1.) แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่จำแนกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด
(2.) กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมาย และมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์ไปโดยสุจริต ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง และคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี
(3.) กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้ว
ข้อเสนอที่ 1.4. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป
วิธีการ
เสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560
ข้อเสนอที่ 1.5. การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน
วิธีการ
จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ดังนี้
(1.) ประกาศให้รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 48 (บทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
(2.) บัญญัติให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน
(3.) บัญญัติให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้

2. สิทธิและเสรีภาพของบุคคล

ข้อเสนอที่ 2.1. แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เหตุผล
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นเสรีภาพพื้นฐานอันเป็นหัวใจของสังคมประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและข้อตกลงระหว่างประเทศได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ แต่อนุญาตให้มีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพนี้ได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือรักษาความสงบเรียบร้อย
ในทางปฏิบัติ แม้รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพแสดงความคิดเห็นไว้ แต่กฎหมายกลับกำหนดข้อจำกัดเสรีภาพนี้ไว้จนเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็น เช่น การกำหนดความผิดอาญา การกำหนดโทษอาญาในอัตราที่สูงจนเกินไป ตลอดจนแนวทางการใช้และการตีความกฎหมายเหล่านี้ไม่แน่นอนชัดเจน จนทำให้บุคคลไม่แน่ใจว่าการใช้เสรีภาพของตนนั้นจะมีความผิดหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกรณีองค์กรของรัฐและเอกชนเลือกใช้วิธีการดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นไม่ให้บุคคลอื่นแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในทางสาธารณะ
กรณีทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลให้บุคคลเลือกที่จะไม่ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นเพื่อความปลอดภัยของตนเอง
เพื่อให้บุคคลสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และเพื่อสร้าง “สนาม” แห่งการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ตามแบบสังคมประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
วิธีการ
(1.) แก้ไขกฎหมายกำหนดความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาททั้งระบบ ในประเด็นดังต่อไปนี้
(1.1.) ยกเลิกโทษจำคุก ให้เหลือเพียงโทษปรับ หรือยกเลิกความผิดอาญา ให้เหลือเพียงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายทางแพ่ง
(1.2.) กำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อขัดขวางการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
(2.) กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
วัตถุประสงค์พื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ การแก้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ ได้แก่ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และการกระทำความผิดต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้ไม่อาจใช้ประมวลกฎหมายอาญาจัดการได้ เพราะ องค์ประกอบความผิดอาญาเท่าที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา (เช่น การลักทรัพย์ การทำให้เสียทรัพย์ การบุกรุก เป็นต้น) ไม่ครอบคลุมถึงอาชญากรรมดังกล่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อกำหนดฐานความผิดใหม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นมา
จะเห็นได้ว่า จุดกำเนิดของกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มิได้มุ่งหมายจัดการเนื้อหาที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางคอมพิวเตอร์ หากแต่มุ่งจัดการการกระทำต่อตัวระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น การจารกรรมหรือดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ การก่อวินาศกรรมระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง “Cybercrime” หรือ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” คือ อาชญากรรมที่เกิดจากหรือกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยแท้ ไม่ใช่การกระทำความผิดอาญาอื่นๆแต่นำมาเผยแพร่ผ่านคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 14 กลับนำความผิดอาญาอื่นๆที่ปรากฏอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญามากำหนดไว้ เพื่อจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาผ่านคอมพิวเตอร์ จนทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ไม่ใช่การจัดการ Cybercrime แต่กลายเป็น การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ แทน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในประเด็นดังต่อไปนี้
(2.1.) ยกเลิกความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ทั้งหมด เพราะ ความผิดอาญาต่างๆที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาครอบคลุมเพียงพอและสามารถปรับใช้ได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ความผิดฐานเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารเพื่อการพาณิชย์ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นอันก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การนำความผิดอาญาเหล่านี้มาบัญญัติซ้ำอีกครั้งในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทำให้ความผิดอาญาทั้งหมดกลายเป็น “ความผิดอาญาแผ่นดิน” เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐนำกฎหมายนี้มาใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือ “ปิดปาก” ไม่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางอินเตอร์เน็ต
(2.2.) แก้ไขมาตรา 15 ยกเลิกความผิดของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เทียบเท่ากับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต
(2.3.) แก้ไขมาตรา 20 กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งระงับการเผยแพร่ได้ในกรณีที่จำกัดยกเว้นอย่างยิ่ง (ต้องเขียนกรณีเหล่านี้ให้ชัดเจนและจำกัดอย่างยิ่ง) และให้บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครอง
(2.4.) ลดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด
(3.) แก้ไขกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ
ข้อเสนอที่ 2.2. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
เหตุผล
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่มากจนเกินไป ปราศจากระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจและระบบความรับผิด นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายบางฉบับที่เป็นช่องทางให้กองทัพฉวยโอกาสยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนได้อีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจัดการปัญหาความมั่นคงและเรื่องฉุกเฉินทั้งหมด โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริหารราชการในสถานการณ์จำเป็นและวิกฤติ พร้อมๆกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
วิธีการ
(1.) ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และตราพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกขึ้นใหม่ทั้งฉบับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ได้แก่
(1.1.) เหตุแห่งการประกาศกฎอัยการศึก คือ สถานการณ์ในสภาวะสงครามเท่านั้น เหตุการณ์จลาจล การชุมนุมสาธารณะ การนัดหยุดงาน การประท้วงรัฐบาล ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่เป็นเหตุให้ต้องประกาศกฎอัยการศึก แต่ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
(1.2.) อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกทั้งในกรณีบางพื้นที่และทั้งในกรณีทั่วราชอาณาจักรเป็นของรัฐบาลพลเรือน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประกาศกฎอัยการศึก
(1.3.) ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก รัฐบาลพลเรือนยังคงมีอำนาจเหนือกองทัพ นายกรัฐมนตรี คือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในช่วงประกาศกฎอัยการศึก
(1.4.) การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง บุคคลผู้เสียหายจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายศาลปกครอง และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
(1.5.) ผู้บัญชาการกองทัพที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกตามลำพัง โดยพลการ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลพลเรือน มีความผิดอาญาและวินัย
(1.6.) นายทหารที่ทราบว่าผู้บังคับบัญชากำลังตระเตรียมกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลหรือประกาศกฎอัยการศึกโดยพลการ แล้วไม่แจ้งให้รัฐบาลทราบ ให้ถือว่านายทหารผู้นั้นมีความผิดฐานผู้สนับสนุน
(2.) แก้ไขพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้แก่
(2.1.) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล โดยมีระยะเวลา 15 วัน ในกรณีที่ต้องการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และขยายระยะเวลาได้ครั้งละ 15 วัน
(2.2.) ในกรณีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพ้นระยะเวลาเกิน 60 วันไปแล้ว ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาว่าเหตุผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีอยู่หรือไม่
(2.3.) กำหนดให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง
(3.) ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
ข้อเสนอที่ 2.3.ผูกมัดและปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
เหตุผล
ในอดีต ประเทศไทยได้การยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นประเทศที่เคารพและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช.และรัฐบาลทหารใช้อำนาจและดำเนินมาตรการต่างๆที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจำนวนมาก องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้จัดทำรายงานและมีข้อห่วงใย สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตกต่ำลง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีสากล และสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนในมิติระหว่างประเทศ
วิธีการ 
(1.) ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ 2002
(2.) ตรากฎหมายและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด
(3.) ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
(4.) นำประเทศไทยให้กลับมามีบทบาทในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ

3. การปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับประชาธิปไตย

ข้อเสนอที่ 3.1. หลักรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
วิธีการ
(1.) บัญญัติรับรองหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2.) แก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม การแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็นอำนาจของรัฐบาล มิใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
(3.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ รับเรื่องร้องเรียนจากนายทหารชั้นผู้น้อย
ข้อเสนอที่ 3.2. ปรับปรุงระบบการเกณฑ์ทหาร การศึกษาวิชาทหาร
วิธีการ
(1.) ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
(2.) สร้างสวัสดิการให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย
(3.) ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาทหารให้มีความสัมพันธ์กับพลเรือนมากขึ้น
ข้อเสนอที่ 3.3. สร้างระบบการคุ้มครองสิทธินายทหารชั้นผู้น้อย
วิธีการ
(1.) ยกเลิกศาลทหารหรืออย่างน้อยปรับปรุงระบบศาลทหารให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามรายงานของสหประชาชาติ (หลักการ Decaux)
(2.) รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง
(3.) สร้างระบบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของทหารชั้นผู้น้อย

4. การปฏิรูประบบศาลให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

วิธีการ
(1.) การได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลสูง - ให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอรายชื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(2.) กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง
(3.) กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้นต่อสาธารณะ
(4.) คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
(5.) ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษา ตุลาการ และว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล
(6.) แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้แทนของประชาชน
(7.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการศาลแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของศาล การปฏิบัติหน้าที่ของศาล และทำรายงานเสนอสภาผู้แทนราษฎร
(8.) กำหนดให้การศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย

5. ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

วิธีการ
(1.) ตั้งคณะกรรมการ transitional justice ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ริเริ่มดำเนินคดี ตลอดจนจัดทำรายงานและข้อเสนอเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา
(2.) ยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในคดีทางการเมือง และตรากฎหมายนิรโทษกรรมในคดีการเมืองให้แก่ “ผู้ต้องหาและนักโทษ” ของระบอบ คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.