Posted: 20 Aug 2018 01:22 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-20 15:22
ศุภรดา เฟื่องฟู
พ.ต.ต กิจชัยยะ สุรารักษ์
‘แดน สเลเทอร์’ อาจารย์มหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า ความหลากหลายทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของอาเซียน ทำจีนไม่อาจเป็นผู้นำเอเชียได้อย่างจริงจัง เผยไทยมีแนวโน้มยอมรับการปฏิวัติโดยทหารมากกว่าประเทศอื่น สังเกตจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติยึดอำนาจในไทยที่ผ่านม
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาหัวข้อ “Disruptive World: Innovative Political Science?” รัฐศาสตร์นวัตกรรมในโลกแห่งความพลิกผัน เนื่องในโอกาสครอบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล อาคารเกษม อุทยานิน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยช่วงแรกของภาคเช้ามีการปาฐกถาโดย แดน สเลเทอร์ (Dan Slater) อาจารย์จากมหาวิทยาลัย มิชิแกน สหรัฐอเมริกา
แดน สเลเทอร์ ชี้ให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองในแต่ละประเทศ ทำให้แม้ประเทศจีนจะพยายามแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วยการพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางอวกาศหรือการทหารก็ตาม แต่ด้วยความหลากหลายดังกล่าว จึงทำให้จีนยังไม่สามารถเป็นผู้นำของภูมิภาคได้อย่างจริงจัง และสเลเทอร์ยังมีความเห็นว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรป จะมีการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ
สเลเทอร์กล่าวอีกว่า การที่จะทำความเข้าใจระบบการเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจรูปแบบทางการเมืองของประเทศต่างๆ จึงได้มีการจัดกลุ่มประเทศโดยแบ่งจากแนวทางการพัฒนารูปแบบการเมือง ออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้
1.) กลุ่มคตินิยมการพัฒนา (Developmental Statism) ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน
2.) กลุ่มนักการทหาร (Developmental Militarism) ประกอบไปด้วยประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเมียนมาร์ และประเทศไทย
3.) กลุ่มประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ (Developmental Britannia) ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์
4.) กลุ่มสังคมนิยม (Developmental Socialist) ประกอบไปด้วยประเทศจีน และเวียดนาม
นอกจากนี้ สเลเทอร์ยังได้กล่าวถึงความแตกต่างของอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น กับ อิทธิพลของประเทศจีนในปัจจุบันว่า ในยุค ค.ศ.1970 นั้น โลกมีขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียวคือสหรัฐอเมริกา แต่ในปัจจุบันภายใต้สภาะความพลิกผันของโลก ทำให้มีประเทศต่างๆ พัฒนาศักยภาพของตนเอง ทำให้แม้ประเทศจีนจะได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจก็ตาม แต่คงต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถส่งอิทธิพลหรือสามารถครอบงำประเทศต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ประเด็นในเรื่องความยากในการเข้าถึงภาษาจีน (ซึ่งสเลเทอร์มีความเห็นว่าภาษาจีนมีความยากในการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้กว่าภาษาอังกฤษ) ก็อาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้อิทธิพลของประเทศจีนยังไม่สามารถขยายไปได้อันเนื่องจากปัญหาในทางการสื่อสาร
อีกทั้ง สเลเทอร์ได้กล่าวถึงความแตกต่างของรูปแบบทางการเมืองของประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยว่า ถึงแม้จะอยู่ในกลุ่มนักการทหารเช่นเดียวกัน แต่ยังมีความแตกต่างกันในรูปแบบแนวคิด กล่าวคือ ในประเทศอินโดนีเซียนั้นพรรคการเมืองหรือรัฐบาลจะมีลักษณะท่าทีที่เป็นมิตรกับกองทัพ ทำให้ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองเป็นไปในลักษณะที่มีอำนาจทางการทหารช่วยสนับสนุน แต่หากมีการปฏิวัติโดยทหารในประเทศอินโดนีเซียประชาชนจะไม่ให้การยอมรับ แต่ในขณะที่ประเทศไทยกับมีแนวโน้มที่จะยอมรับการปฏิวัติยึดอำนาจโดยทหารมากกว่า โดยสังเกตจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติยึดอำนาจในประเทศไทยที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น