Posted: 26 Aug 2018 08:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-26 22:18
ใบตองแห้ง
โลกออนไลน์แห่ต้านกฎหมายจราจร เพิ่มโทษไม่มีและไม่พกใบขับขี่ ปรับสูงถึง 50,000 และ 10,000 บาท โดยคนส่วนมากถามกลับว่า ลดอุบัติเหตุได้จริงหรือ จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจมิชอบไหม
แต่ก็มีบางส่วน เช่นอีเจี๊ยบ เลียบด่วน เห็นควรปรับให้หวาดกลัว ไม่งั้นก็ยังมีเด็ก 15 ขโมยรถพ่อมาขับชนคนตาย
ถามว่าลดอุบัติเหตุได้ไหม คิดแบบอีเจี๊ยบ ก็ลดได้มั้ง แต่อุบัติเหตุที่เกิดจากเด็กไม่มีใบขับขี่ มีซักเท่าไหร่ 99.99% ที่ขับวายป่วง เทกระจาด ชนคนตาย มีใบขับขี่ทั้งนั้น ใบขับขี่ไม่ใช่หลักประกันว่าขับรถดีมีวินัย อีกอย่าง คนไม่มีใบขับขี่ประสบอุบัติเหตุ ก็โดนเพิ่มโทษและประกันไม่จ่ายค่าเสียหายอยู่แล้ว
เรื่องที่คนไม่เห็นด้วยมาก คือใช่เลย มันผิดครับ แต่ทำไมโทษปรับสูงลิบ แค่ลืมใบขับขี่ ปรับ 10,000 เมาแล้วขับปรับ 10,000-20,000 เทียบความผิดร้ายแรงกว่ากันกี่เท่า ส่วนไม่มีใบขับขี่ปรับ 50,000 นี่ก็ชวนให้นึกถึง “ตายได้ห้าหมื่น” ค่าชีวิตเบื้องต้นที่ประกันบุคคลที่สามจ่ายให้สมัยก่อน (ปัจจุบัน 65,000)
ในหลักกฎหมายเรียกว่า กำหนดโทษเกินสมควรแก่เหตุ ไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับความผิดอื่น ในกฎหมายฉบับเดียวกันหรือฉบับอื่น เช่น ยิงปืนในที่ชุมนุมชน ยังมีโทษปรับแค่ไม่เกิน 5,000 (น้อยกว่าขายน้ำข้าวหมากอีกนะนั่น) แต่กฎหมายไทยว่ากันตามกระแส เรื่องไหนทีสังคมฮือฮา หรือรัฐขึงขังจริงจัง ก็มุ่งแต่จะเพิ่มโทษ เพิ่มความผิด โดยคิดว่ายาแรงแก้ปัญหาได้ จนทำให้กฎหมายลักลั่น
กรณีนี้ก็ทายได้เลย ถ้าเพิ่มโทษไม่มีไม่พกใบขับขี่สำเร็จ ค่าปรับก็จะสูงโด่ง ล้ำความผิดอื่น ต่อไปโทษฝ่าฝืนกฎจราจรต่างๆ ก็ต้องปรับตามเป็น 5,000 10,000 หรือ 20,000 จึงสมเหตุสมผลกัน
คำถามสำคัญคือ อุบัติเหตุประเทศไทยครองแชมป์โลก เป็นเพราะคนไทยนิสัยไม่ดี ต้องเพิ่มโทษ เพิ่มมาตรการบังคับ หรือเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่ มันหย่อนยาน มันไม่มีมาตรฐาน ไม่เสมอหน้า หรือเกินกำลังที่จะบังคับใช้ได้จริง จนกวดขันได้เป็นพักๆ เท่านั้น
พูดอีกอย่าง ชาวบ้านผิด หรือรัฐผิด บังคับใช้กฎหมายไม่สำเร็จ แล้วก็มาเพิ่มโทษให้ร้ายแรงหวังให้คนหวาดกลัว มันจะแก้ได้จริงไหม
ไม่ได้จ้องด่าตำรวจไทย ว่าเป็นช่องให้รีดไถ แต่เอาง่ายๆ ช่วงรถติดเช้าเย็นจราจรมีเวลาจับใครไหม เห็นแต่สายๆ บ่ายๆ ค่อยตั้งด่าน คนไม่มีใบขับขี่ไม่ขับช่วงนั้นก็รอดไป
กรณีนี้ท้ายที่สุด กรมขนส่งคงถอย ลดโทษปรับให้น้อยลง ปัดโธ่ ม.44 ห้ามนั่งหลังรถกระบะยังต้องถอย ขนส่งเป็นใครมาจากไหน
แต่ถ้ามองภาพกว้าง วิธีคิดเดียวกัน คำถามเดียวกัน ไม่เคยหายไป ความคิดแบบรัฐราชการที่มุ่งจัดระเบียบ มุ่งเข้มงวดประชาชน เป็นหนทางแก้ไขปัญหา โดยไม่มองย้อนว่าปัญหาสั่งสมมาจากการปฏิบัติของรัฐเองหรือไม่
การใช้อำนาจแก้ปัญหามันง่ายดีไงครับ เพิ่มอำนาจ เพิ่มกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษ แล้วเชื่อว่าราชการจะมีคุณภาพประสิทธิภาพบังคับใช้ได้
นี่ไม่ต่างอะไรกับกฎเหล็กคุมเด็กของกระทรวงศึกษา ซึ่งเพิ่มอำนาจครอบจักรวาลโดยไม่สามารถบังคับใช้เป็นมาตรฐาน นอกจากจะไปเลือกวินิจฉัย
หรือไม่ ถ้าปัญหามันซับซ้อนจัดการยาก ก็ใช้อำนาจกวาดไปเลย โคตรง่าย แบบทวงคืนผืนป่า ชูป้ายกวาดล้างนายทุน แล้วก็กวาดชาวบ้านเกลี้ยงเกลา ทั้งที่มีหลายปัญหาสั่งสมมานาน หรืออย่าง กทม.ก็กวาดล้างแผงลอยซะเกลี้ยงเกลา ขณะที่สิงคโปร์จัดการอีกอย่าง กระทั่งจะจดทะเบียนสตรีทฟู้ดเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว
ความคิดอย่างนี้ไม่ได้มีเฉพาะยุคนี้สมัยนี้หรอก ราชการเป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย แต่สี่ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในยุครัฐราชการเป็นใหญ่ ซึ่งคิดว่าประเทศชาติจะมั่นคงได้ ต้องทำให้รัฐเข้มแข็ง ใช้อำนาจเข้มงวดประชาชน ดูแลให้เป็นคนมีคุณภาพ มีวินัย อย่าทำตามใจตัวเอง อย่าเรียกร้องมาก รู้จักหน้าที่ และอย่าเลือกคนไม่ดี
ความคิดที่ว่าประชาชนผิด ต้องเข้มงวด ต้องจัดระเบียบ นี่ยังถูกอกถูกใจคนชั้นกลางในเมือง “ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร” เพราะไม่เคยเข้าใจว่าชาวบ้านต้องนั่งท้ายรถกระบะ เด็ก 14-15 ในชนบทต้องขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่เคยรู้ว่าน้ำข้าวหมากกับสาโทต่างกันอย่างไร หรือยังไงมันก็เหล้าเอาโทษหนักไว้แหละดี
คนในเมือง โดยเฉพาะคนมีฐานะ จะนิยมชมชอบ “ยาแรง” และรู้สึกว่ารัฐเข้มแข็ง รัฐที่มีอำนาจมาก มีไว้ปกป้องตัวเอง ซึ่งต่างกันสิ้นเชิงกับคนจนเมืองหรือคนชนบท ที่จะไม่ไว้วางใจอำนาจรัฐเป็นพื้นฐาน
ที่มา: www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1487074
แสดงความคิดเห็น