Posted: 28 Aug 2018 06:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-08-28 20:46
สื่อเจแปนไทม์เสนอเรื่องราวแพทย์หญิงผู้สู้ชีวิต ฝ่าฟันการเลือกปฏิบัติทางเพศจนได้รับใบอนุญาตคนแรกของญี่ปุ่นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ระบุ เหมาะสมจะพูดถึงตอนนี้ เหตุก่อนหน้านี้มีกรณีอื้อฉาวที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวจงใจปรับลดคะแนนผู้สอบหญิงซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจงใจเลือกปฏิบัติทางเพศในแบบที่ถ้าโอกิโนะเห็นคงถอดใจว่าไม่ต่างจากร้อยปีที่แล้ว
กิงโกะ โอกิโนะมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 2394-2456 ได้รับใบประกอบโรคศิลป์สำหรับแพทย์เมื่อปี 2428 เรื่องราวการต่อสู้ตะเกียกตะกายไปสู่ฝันของเธอได้รับการถ่ายทอดในธีมนิยายที่ชื่อ "ฮานะอุซุมิ" (ไกลกว่าทุ่งดอกไม้) เมื่อปี 2536 จากผลงานของนักเขียนอีกคนหนึ่งที่เป็นหมอ สื่อเจแปนไทม์ระบุว่าถ้าหากเธอมีชีวิตอยู่ปัจจุบันและได้รับรู้เรื่องอื้อฉาวมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวแล้วเธอคงบอกว่า "แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย"
สหพันธ์แพทย์หญิงญี่ปุ่นวิจารณ์กรณีมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวสั่งตัดคะแนนผู้สมัครสอบหญิง
พื้นเพของแพทย์หญิงคนนี้มาจากจังหวัดมุซาชิโนะ ซึ่งในปัจจุบันคือจังหวัดไซตามะ เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่ร่ำรวย สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอคือการที่เธอติดโรคหนองในแท้ (gonorrhea) จากสามีเมื่ออายุ 16 ปี หลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยุ่งกับผู้ชายอีกและให้แม่เธอช่วยฝ่าฝืนประเพณีด้วยการให้เธอหย่าจนเป็นอิสระ
โอกิโนะเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้และชอบอ่านหนังสือมาก ครูของเธอคนแรกเป็นคนสอนศาสนาขงจื่อที่รู้จักกับคนของโรงพยาบาลการแพทย์ตะวันตกในโตเกียวซึ่งเป็นที่ๆ เขาส่งเธอไปรักษาโรคหนองใน แต่การแพทย์ในยุคนั้นปฏิบัติกับผู้หญิงไม่ดีนักในแง่ที่ไม่สนใจสภาพจิตใจของเธอ ซึ่งทำให้โอกิโนะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีหมอที่เป็นผู้หญิงเลย และนั่นทำให้เธอเองตัดสินใจว่าจะเป็นหมอผู้หญิง
ทีแรกแม่ของโอกิโนะเองต่อว่าเธอว่า "การผ่าตัดแขนขา การเห็นเลือด ไม่เหมาะกับผู้หญิง" ถึงขั้นคิดว่าเพื่อนบ้านจะหัวเราะเยาะและเสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเพราะมีแพทย์เป็นผู้หญิง แต่โอกิโนะกลับไม่ยอมละความมุ่งมั่นเธอพร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป แต่อุปสรรคสำคัญที่สุดคือสังคมวิชาการแพทย์เอง จะมีวิทยาลัยแพทย์แห่งไหนที่รับเธอ?
แต่ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ของเธอทำให้เธอได้เข้าไปเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เรียนกอยู่ในวิทยาลัยแพทย์ท่ามกลางผู้ชายทั้งหลายที่พูดเหยียดหยามเธอ เธอต่อสู้มาได้จนกระทั่งจบจากมหาวิทยาลัยจุนเทนโดในโตเกียว
กระนั้นอุปสรรคจากอคติทางเพศก็ยังกลายมาเป็นอุปสรรคเมื่อโอกิโนะต้องรับงานแรกในฐานะนักศึกษาฝึกงาน คนไข้คนแรกของเธอเป็นชายวัยกลางคนที่มีอาชีพเป็นพนักงานร้านค้า แต่มีรากฐานครอบครัวจากชนชั้นซามูไร เขาเป็นแผลที่แขนต้องเอาหนองออกและพันแผล แต่คนไข้ก็ไม่ยอมให้เธอที่เป็นผู้หญิงแตะตัวเขา โอกิโนะพยายามเอาใจและโน้มน้าวคนไข้จนกระทั่งชนะใจเขาได้และยอมให้เธอรักษา
สิ่งที่โอกิโนะต้องการต่อมาก็คือการได้ใบอนุญาตเปิดคลินิคนรีเวชวิทยาซึ่งไม่เคยมีผู้หญิงได้ใบอนุญาตนี้เลย เธอพยายามยื่นจดหมายขอไปยังทางการก็ไม่มีการตอบกลับ เมื่อเธอไปถามตัวต่อตัวก็โดนดูถูกและเผชิญอคติแบบเดิมๆ ที่ไล่ให้ผู้หญิงไปแต่งงาน นอกจากนี้ยังกล่าวอ้างเรื่องที่ผู้หญิงต้องลางานเวลาตั้งครรภ์และพูดว่าประจำเดือนของผู้หญิง "ไม่สะอาด" จุุดนี้เองที่เจแปนไทม์ชี้ว่าคล้ายกับกรณีที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวกล่าวอ้างในเรื่องอื้อฉาวครั้งล่าสุด
ในด้านอาชีพการงาน หลังจากที่โอกิโนะได้รับใบอนุญาตให้เป็นแพทย์เธอก็ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลโอกิโนะที่ยูชิมะในปีเดียวกัน เธอเปิดรับคนไข้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะทางสูติศาสตร์และทางนรีเวชศาสตร์ รวมถึงคนไข้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นงานแบบที่เธอได้คาดหวังไว้ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์แพทย์ให้วิทยาลัยสตรีของมหาวิทยาลัยเมย์จิกะคุอินด้วย การที่เธอได้เป็นแพทย์ถือเป็นการฝ่า ‘เพดานแก้ว’ ที่ปิดกั้นผู้หญิงจากวิชาชีพนี้ได้สำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ในญี่ปุ่นให้เข้ามาทำงานในสาขาวิชานี้
เรียบเรียงจาก
The efforts of Japan’s first female doctor are worth remembering, Japan Times, Aug. 25, 2018
Gingo Ogino: Japan’s First Female Physician, Wiki Gender[full-post]
แสดงความคิดเห็น