พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แฟ้มภาพเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง

Posted: 22 Aug 2018 08:24 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-08-22 22:24


พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยเตรียมกรอบความผิดในการหาเสียงออนไลน์ พร้อมตั้งทีมพิเศษจัดการเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิด ปฏิเสธไม่เคยเสนอแก้ไพรมารีโหวต เพียงแค่พิจารณาแนวทางที่รัฐบาลเสนอมา

22 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด การคิดค่าใช้จ่าย โดยในช่วงต้นอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย

ภายหลังการประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า จากหลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ สามารถออกระเบียบรองรับได้ทันที ซึ่งเนื้อหาโดยรวมจะกำหนดขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัครว่าจะดำเนินการในลักษณะใดได้บ้าง และต้องแจ้งต่อ กกต. ล่วงหน้า ต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมกรณีการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียโดยนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ

“เว้นแต่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต.ได้ จากนั้น กกต.จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบภายใน 1 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.จะลบข้อความเอง อย่างไรก็ตาม แม้จะลบข้อความไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าความผิดจะหายไปด้วย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ต้องรับผิดทางอาญา และหากมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตจนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งต้องเสียไปก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย” เลขาธิการกกต. กล่าว

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ในช่วงที่จะเลือกตั้ง จะตั้งวอร์รูมพิเศษซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนมามอนิเตอร์เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่แม้ยังไม่ตั้งวอร์รูม ข้อมูลที่ส่งผ่านทางอิเล็คทรอนิกส์จะถูกบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วยและสามารถค้นหาต้นตอผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลได้ ส่วนค่าใช้จ่ายการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคิดคำนวณ กกต. จึงมอบให้ แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ที่รับผิดชอบงานด้านพรรคการเมืองพิจารณารูปแบบต่อไป

ด้าน อิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ได้มอบนโยบายระหว่างการประชุม โดยแสดงความเป็นห่วงว่าในอนาคตการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้น จึงหวังให้คณะกรรมการชุดนี้ดูแลอย่างเต็มที่
เผย กกต. ไม่เคยเสนอให้แก้ไพรมารีโหวต เพียงแค่รับแนวทางที่เสนอมา

นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า กกต.ไม่เคยเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำไพรมารีโหวต เพราะขณะนี้เตรียมการสำหรับการดำเนินการไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้วและเป็นแนวทางเดียวที่กกต.ดำเนินการมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นคงไม่ขอให้คลายล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้ 100 คน เพื่อทำกระบวนไพรมารีโหวตและแบ่งเขตเลือกตั้ง หลังจากที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ครบ 90 วัน

“หากเปลี่ยนวิธีทำไพรมารีโหวต ไม่ใช่ข้อเสนอของกกต.แน่นอน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำแนวทางที่แก้ไขจากการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมส่งให้ กกต.พิจารณา ซึ่ง กกต.ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางที่ส่งมาเท่านั้น ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่จะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องเป็นผู้ตอบ เพราะหลายพรรคบอกว่าสามารถทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองได้” เลขาธิการกกต. กล่าว


ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

เรื่องน่ารู้จากดราม่า 'เฟซบุ๊ก' ข้อมูลรั่วให้บริษัทรณรงค์หาเสียงให้ 'ทรัมป์'

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากประเด็นเรื่องเนื้อหาที่เป็นการใส่ร้ายและค่าใช้จ่ายการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียที่ กกต.ไทยดูเหมือนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเด็นโซเชียลมีเดียกับการรณรงค์ทางการเมืองที่เป็นประเด็นระดับสากลคือกรณีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลชาวอเมริกัน 50 ล้านคน รั่วไหลจากเฟซบุ๊ก ไปยังบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2559 และไปใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์จริตฐานเสียงส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนต่อมา มาร์ค ซักเกอเบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ต้องออกมาขอโทษและแจงมาตรการป้องกันเหตุในอนาคต และยังส่งผลให้หุ้นของเฟซบุ๊กตกลงร้อยละ 7 ทำให้มูลค่าของบริษัทไอทีแห่งนี้สูญไป 37,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.