Posted: 11 Aug 2018 07:04 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-08-11 21:04



วงเสวนาครบรอบ 30 ปีการประชาชนลุกฮือต้านรัฐบาลเผด็จการพม่าในปี 2531 รำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่นำไปสู่การเสียชีวิตของชาวพม่าถึง 3,000 คน ชวนมองไปข้างหน้า ข้อท้าทายของประเทศที่กำลังผลัดใบสู่ประชาธิปไตยและการสร้างสันติภาพ แปรสภาพเป็นสหพันธรัฐที่มีโรดแมปชัดเจน

11 ส.ค. 2561 มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมและวงสนทนา "30 ปี เจตนารมณ์ 8888 การต่อสู้เผด็จการกับพลังการเปลี่ยนแปลงในพม่า" ในวาระครบรอบ 30 ปีการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษา-ประชาชนในปี 2531 เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเน วิน ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2505

ผู้จัดงานได้เชิญผู้ร่วมขบวนการนักศึกษา 8888 อดีตนักโทษการเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้เชี่ยวชาญพม่าศึกษามาร่วมสนทนา ประกอบด้วยจ่อ ซวา หมู่ (Kyaw Zwa Moe) อดีตนักศึกษาผู้ร่วมขบวนการ 8888 บรรณาธิการอาวุโสภาคภาษาอังกฤษของสำนักข่าวอิระวดี ชู บิ้ก ทะอ่อง (Ceu Bik Thawang) แนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์ ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา ดำเนินการสนทนาโดย นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า

จ่อ ซวา หมู่ เล่าถึงความหลังสมัยเขาเข้าร่วมขบวนการนักศึกษา 8888 ว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในสมัยที่เขาอยู่ชั้น ม.4 นั้น ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศพม่าหลายเล่ม ได้เข้าใจว่าตอนนั้นรัฐบาลแบบไหนที่พม่ามีในตอนนั้นและสังคมถูกปิดกั้น กดขี่ขนาดไหน หลายคนก็เลือกลงมาประท้วงบนถนนเพราะสภาพสังคมที่ถูกกดขี่และสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ข้อเรียกร้องสมัยนั้นอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบจากรัฐบาลทหารให้มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยที่จะนำมาสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม ผลก็คือประชาชนถูกปราบปราม คนเสียชีวิตราวสามพันคน ต้องลี้ภัยนับหมื่น หลายคนถูกทรมาน ถูกสอบสวน ตัวเองก็ถูกจับและถูกขังคุกอยู่แปดปี เมื่อออกมาก็ลี้ภัยเหมือนกับที่คนอื่นๆ ทำ



พิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือเมื่อปี 2531 ผู้เข้าร่วมร่วมวางดอกไม้และจุดเทียนที่เรียงเป็นเลข 8888 ซึ่งมาจากวัน-เดือน-ปีที่การลุกฮือเริ่มต้นในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988

บ.ก. สำนักข่าวอิระวดีกล่าวว่า จนถึงตอนนี้ครบรอบสามสิบปีการเคลื่อนไหว 8888 ปัจจุบันพม่าก็ไม่มีระบอบที่กดขี่ดังเช่นอดีต กระบวนการปฏิรูปกำลังเดินหน้า แต่ก็มีเหล่าชนชั้นนำทางทหารก็ยังคงมีอำนาจในทางการเมืองอยู่ ยังมีหลายอย่างที่ยังถูกกดไว้ พูดบางอย่างไม่ได้ วิจารณ์ผู้นำมากก็อาจต้องระวังแม้ไม่มีกฎหมายแต่ก็มีเส้นจำกัดที่มองไม่เห็นอยู่ สิ่งที่หวังไว้จาก 8888 ก็ยังไม่ได้บรรลุผลเสียทีเดียว

ชู บิ้ก ทะอ่อง กล่าวว่า ตนไม่มีความทรงจำมากนักสมัยปี 2531 เพราะว่ายังเด็กมากและอาศัยในพื้นที่ชนบทใกล้ชายแดนอินเดียเพียง 20 กม สมัยนั้นเมื่อมีความไม่สงบเกิดขึ้นก็ดีใจเพราะว่าโรงเรียนปิดเลยมีเวลาเล่น รู้แค่นั้น แต่ต่อมามีนักศึกษาจากในเมืองผ่านมาเพื่อเดินทางหนีไปอินเดีย หมู่บ้านก็ถูกปิด จากนั้นชุมชนที่ตนอยู่ก็กลายเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกกดขี่ มีทหารใช้ชาวบ้านให้ช่วยขนข้าวจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง

ชู บิ๊ก ทะอ่องกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เห็นของการเคลื่อนไหว 8888 คือเป็นเรื่องความสามัคคีที่เป็นประวัติศาสตร์ในการสร้างความเคลื่อนไหวได้ขนาดนั้น เพราะคนทุกเพศ ทุกวัย หลากชาติพันธุ์เข้าร่วมการเคลื่อนไหว แต่เมื่อพูดถึงดอกผล ความสำเร็จของการเคลื่อนไหว คงจะพูดได้ว่าไม่เห็นความคืบหน้าเพราะตอนนี้มีแค่ประชาธิปไตยกับการบริหารในแบบประชาธิปไตย แม้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาล แต่ทหารก็ยังมีอำนาจในสภา การวิพากษ์วิจารณ์ยังคงทำไม่ได้มาก ความหวังที่จะเอาทหารออกจากระบอบก็ยังทำไม่ได้ ระบอบที่เป็นตอนนี้อาจไปสู่การปกครองแบบผสมระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐบาลทหาร

เมื่อพูดถึงกระบวนการสันติภาพกับชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ถึงขั้นสู้รบกันมาก่อน สมาชิกแนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์ยังกล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์กับต่างๆ กับคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยควรรวมตัวกันสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ แต่ตอนที่ตนเข้าร่วมประชุมสันติภาพ ความเห็นของกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลก็มีจุดยืนที่ต่างกันทั้งๆ ที่ควรจะยืนข้างเดียวกัน

ชู บิ้ก ทะอ่อง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการพูดคุยเรื่องสถานภาพของรัฐพม่าในแบบสหพันธรัฐนั้นมีความสำคัญ สมัยสนธิสัญญาปางโหลงเมื่อปี 2490 ที่มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวก็พังทลายลงเพราะรัฐธรรมนูญพม่าในเวลาต่อมาบัญญัติให้พม่ามีสภาพรัฐเป็นสหภาพ การพูดคุยระหว่างชาติพันธุ์บนฐานการสร้างสหพันธรัฐก็ขัดกับรัฐธรรมนูญไป แต่ตอนนี้ในกลไกสร้างสันติภาพก็เป็นระบบ มีคณะกรรมาธิการสนธิสัญญาสันติภาพหยุดยิง (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) เป็นกรอบสำหรับการสานเสวนาทางการเมือง ในข้อตกลงมีโรดแมปหกข้อ หนึ่งในนั้นคือจะมีสิ่งที่เรียกว่าข้อตกลงสหภาพ (union accord) ไปยังรัฐสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หมายความว่า ผลของกระบวนการสันติภาพสุดท้ายคือแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อให้นำไปสู่การเกิดระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ แต่กระบวนการก็มีข้อท้าทายอยู่ว่า แม้รัฐบาลประชาธิปไตย และกลุ่มชาติพันธุ์มีจุดยืนที่เหมือนกันในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีความคิดปลีกย่อยที่ต่างกันในส่วนของสหพันธรัฐ เช่น การจัดสรรทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิแบบใดที่กลุ่มชาติพันธุ์พึงมี และอาจมีอีกหลายมุมมองที่คิดไม่เหมือนกัน

ดุลยภาคกล่าวว่า หนึ่งในดอกผลที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว 8888 คือการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอว์ การเคลื่อนไหว 8888 ที่ย่างกุ้งนั้น ผู้ประท้วงได้ปิดล้อมอาคารรัฐบาลและค่ายทหาร แม้การประท้วงถูกทหารสลายไปแต่ ตาน ฉ่วย หนึ่งในนายทหารที่ทำการรัฐประหารใน พ.ศ. 2531 ได้รู้ถึงพลังของฝ่ายประท้วง จึงมีดำริจะย้ายเมืองหลวงไปให้ไกลออกไปจากศูนย์กลางการประท้วง ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในมรดกทางประวัติศาสตร์ของการประท้วง และปัจจุบันเนปิดอว์ ก็เป็นสถานที่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำงานบริหารรัฐจากที่นั้น

ดุลยภาคกล่าวต่อไปว่า จุดหักเหทางประวัติศาสตร์ของพม่าต้องพิจารณาเหตุการณ์สี่เหตุการณ์ หนึ่ง การพูดคุยเรื่องสนธิสัญญาปางโหลงครั้งที่สอง การร่างรัฐธรรมนูญและการเสียชีวิตของนายพลอองซาน ตัวแทนฝ่ายพม่า สมัยนั้นยังขาดความเข้าใจเรื่องการสร้างรัฐ วิธีสร้างสหพันธรัฐ แต่ในที่สุด กระบวนการทั้งหลายนำไปสู่การสร้างสหภาพพม่า ต่อมาเมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษก็เกิดสงครามกลางเมืองอย่างยาวนาน และรัฐบาลประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นโอกาสให้กองทัพพม่า (ทัดมาดอ) มีที่ทางสั่งสมอำนาจขึ้นมา

สอง ในปี 2505 เน วิน ตัดสินใจสร้างระบอบการเมืองที่รวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง เป็นยุคที่ทหารประสบความสำเร็จในการรวบอำนาจทางการเมืองและครอบครองพม่าอยู่ 26 ปี และสี่ ในปี 2531 เมื่อสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่นำไปสู่การประท้วง แต่ก็จบด้วยการเกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่จะครอบครองพม่าต่อไปอีกสองทศวรรษ กองทัพพม่ามีกำลังในการโต้กลับพลังประชาธฺืไตยหลังสั่งสมอิทธิพลในการเมืองมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2490 หลังจากนั้นระบบเศรษฐกิจพม่าเปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมมากขึ้นจากเดิมที่เป็นสังคมนิยม มรดกทางการเมืองของปี 2531 คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของพม่า นำไปสู่ความพยายามปฏิรูปการเมืองในปี 2554 ที่กลับมาพูดคุยเรื่องสหพันธรัฐอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงการมีประชุมสัญญาปางโหลงอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 แต่สิ่งที่สำคัญคือคำว่าสหภาพ (Union) อันเป็นสถานภาพแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อะไรคือความหมายที่แท้จริงกันแน่ซึ่งตนก็ไม่รู้ แต่คิดว่ากองทัพพม่าคือกลุ่มที่มีอำนาจที่สุดในการให้ความหมาย

ดุลยภาคกล่าวถึงความท้าทายในอนาคตว่า ระบบการเมืองพม่าที่ปัจจุบันใช้ระบบประชาธิปไตยเสียงข้างมากในแบบที่คนชนะเลือกตั้งมีสิทธิ์และมีเสียงแบบกินรวบทั้งหมด ซึ่งอาจไม่เหมาะสมเพราะพม่ามีโครงสร้างชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เสียงส่วนน้อยก็ไม่มีอำนาจ จึงมีเสียงส่วนน้อยบางส่วนเสนอแนวคิดประชาธิปไตยแบบแบ่งอำนาจถัวเฉลี่ยให้ชนกลุ่มน้อยได้เข้าไปในสภา

ในประเด็นสหพันธรัฐก็มีหลายมิติ สิ่งที่สังคมพม่าถกเถียงกันอยู่ช่วงหนึ่งคือหลักเกณฑ์การแบ่งรัฐแบบใช้ภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์ หรือใช้ชาติพันธุ์เป็นเกณฑ์ ตัวแบบการแบ่งแบบชาติพันธุ์ที่ชัดเจนคือที่ควิเบกในแคนาดาที่แบ่งเขตให้และให้อิสระในการปกครองตัวเอง อิสระทางภาษา วัฒนธรรมที่พอสมควร แต่อำนาจรัฐบาลก็ยังคุมอยู่

ในแบบภูมิศาสตร์ก็มีตัวอย่างคือสหรัฐฯ ที่ไม่ได้แบ่งตามชาติพันธุ์ แต่แบ่งคร่าวๆ ตามภูมิศาสตร์ คำถามคือพม่าก็ถกเถียงกันอยู่ แล้วเขาจะใช้ตัวแบบไหน อาจจะผสมผสานกันก็ได้ แต่ความสำเร็จของการสร้างสหพันธรัฐมันอยู่ในการต่อรอง เจรจาในกระบวนการสันติภาพ ตอนนี้ก็มีองค์กร มีโรดแมป มีกลไกต่างๆ อีกอย่างคือเกมการใช้อำนาจ การใช้สงครามก็ยังมีอยู่แต่ความเข้มข้นลดลง ปฏิสัมพันธ์รหว่างสองกลไกนี้ทำให้ฝ่ายใดกุมมากก็มีอำนาจต่อรองในการสร้างสหพันธรัฐอย่างที่ฝ่ายตนต้องการ เช่น ฝ่ายทหารพม่าอาจจะชอบสหพันธรัฐแบบแบ่งตามภูมิศาสตร์ แต่ยังมีอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลางและห้ามแบ่งแยกดินแดน หรือแบ่งตามชาติพันธุ์เป็นบางส่วน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความคิดหลากหลายแต่ยังมีอำนาจต่อรองเป็นรองทางรัฐบาลอยู่ พม่าในปัจจุบันเป็นกึ่งสหพันธรัฐ กึ่งประชาธิปไตยภายใต้เสนาธิปัตย์อยู่ แต่ก็จะมีกลไกที่ทำให้พม่าเดินหน้าต่อไป ตรงนี้ก็คือกระบวนการสันติภาพ แม้จะมีการแย่งชิงอำนาจแต่เมื่อมันเป็นระบบแล้วก็ยังพอจะเดินต่อไปได้ ส่วนประเด็นสหพันธรัฐประชาธิปไตยนั้นได้ถูกผนวกเอาไว้ในกระบวนการสันติภาพแล้ว จะได้หรือไม่ได้อาจต้องใช้เวลา แต่เขากำหนดกรอบเวลาว่า ถ้าไม่มีอะไรขัดขวาง หลังเลือกตั้งปี 2563 จะเห็นการสร้างตัวนี้ (สหพันธรัฐประชาธิปไตย) ขึ้นมา

ดุลยภาคยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่าถือเป็นประเทศที่มีกระบวนการประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้น กล่าวคือ ขยับออกมาจากเผด็จการอำนาจนิยม มาสู่ประเทศที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตย ส่วนไทยนั้นขยับจากประชาธิปไตยแบบมีข้อบกพร่องมาเป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าของไทยก็อาจนำไปสู่ระบอบลูกผสมแบบพม่าปัจจุบัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.