Posted: 21 Aug 2018 04:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-08-21 18:04


ธนาคารแห่งประเทศไทยพบแรงงานเริ่มออกจากตลาดตั้งแต่อายุ 45 ปี ส่วนใหญ่เป็นหญิง สาเหตุหลักจากมีภาระดูแลสมาชิกในครอบครัว จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อคนทยอยลดลงจาก 47 ชม./สัปดาห์ในปี 2001 เหลือ 43 ชม./สัปดาห์ในปี 2017 และ 44% ของผู้มีงานทำทั้งหมดของไทยทำงานอยู่นอกระบบ


กราฟแสดง จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์(ซ้าย) และสัดส่วนผู้มีงานทำที่อยู่นอกระบบ (ขวา)

ที่มา: แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey: LFS) คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

การเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมทั้งสังคมไทยด้วย โดยที่รัฐบาลไทยเริ่มออกมาตรการรับมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การลดภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ (Reverse mortgage) และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความชื่อ "สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย (Thematic Studies) เพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์จากต่างประเทศในการรองรับความท้าทายจากสังคมสูงวัยเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายในบริบทของประเทศไทย (อ่านบทความฉบับเต็ทที่ เว็บไซต์ www.bot.or.th)
แผนภฺมิแสดง สาเหตุการออกจากกำลังแรงงานของผู้ชาย (ซ้าย) และผู้หญิง (ขวา) แยกตามกลุ่มอายุ


ที่มา: แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey: LFS) คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า จากการศึกษาบริบทตลาดแรงงานและลักษณะครอบครัวของไทย พบว่ามีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนหน้านี้ การออกแบบนโยบายของไทยจึงควรคำนึงถึงการตัดสินใจทำงานของแรงงานไทย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค โดยผลการศึกษาในระดับมหภาค พบว่าแรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งจาก (1) จำนวนแรงงานที่ลดลง (Extensive margin) จำานวนแรงงานไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการเกษียณอายุและออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยเกษียณ โดยแรงงานไทยประมาณปีละ 3 แสนคนจะเริ่มออกจากตลาดแรงงาน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าแรงงานจะเริ่มออกจากตลาดตั้งแต่อายุ 45 ปี และส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบประเทศญี่ปุ่นซึ่งเริ่มออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 55-59 ปี ในญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเริ่มออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 50-54 ปี และ (2) การลดลงของจำนวนชั่วโมงการทำงาน (Intensive margin) และการเพิ่มขึ้นของแรงงานนอกระบบ

โดยสาเหตุหลักที่ตัดสินใจออกจากตลาดแรงงานเนื่องจากมีภาระดูแลสมาชิกในครอบครัว อาจเป็นทั้งเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง Extensive margin และ Intensive margin ต่างมีผลต่อความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงทางการเงินของประชากรไทย ขณะที่แรงงานผู้ชายของไทยจะอยู่ในตลาดแรงงานนานกว่า โดยยังคงทำงานจนถึงช่วงอายุ 55-59 ปีในทุกระดับการศึกษา

สำหรับผู้มีงานทำจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อคนทยอยลดลงจาก 47 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2001 เหลือ 43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2017 โดยสังเกตได้ว่าแรงงานบางส่วนทำงานเพียง 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสูงอายุ ที่มีอายุระหว่าง 45 – 59 ปี จำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 44 ของผู้มีงานทำทั้งหมดของไทยทำงานอยู่นอกระบบ เช่น ช่วยกิจการ ในบ้าน ทำงานในภาคเกษตรกรรม หรือค้าขายขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน เป็นต้น แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญ ความเสี่ยงจากรายได้ที่ไม่แน่นอนและภาระรายจ่ายที่ส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมอยู่ในระบบสวัสดิการของรัฐ

ผลการศึกษาปัจจัยด้านบุคคลที่กำหนดอุปทานแรงงานของไทย พบว่า (1) ผู้มีงานทำที่มีระดับการศึกษาสูงมีโอกาสจะทำงานนานกว่าและทำงานอยู่ในระบบมากกว่า (2) ปัญหาสุขภาพมีผลต่อการตัดสินใจลดการทำงานโดยเฉพาะแรงงานชายที่มีปัญหาสุขภาพมีแนวโน้มจะลดชั่วโมงการทำงานมากกว่าแรงงานหญิง ขณะที่ผลการศึกษาปัจจัยด้านครอบครัว พบว่า (1) ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุแรงงานมักออกจากงานเร็วกว่าและทำงานน้อยลงโดยเฉพาะแรงงานหญิง ที่อาศัยอยู่นอกเมือง (2) ในครอบครัวที่มีเด็กเล็กโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่นอกเมือง แรงงานมีแนวโน้มทำงานน้อยลง หรือบางส่วนเลือกที่จะลดชั่วโมงการทำงานหรือทำงานนอกระบบแทน อย่างไรก็ดี แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะกลับมา ทำงานเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น แต่มักจะเลือกทำงานนอกระบบหรือทำงานในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นด้านเวลามากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบว่าปัญหาด้านสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ส่งผลให้สมาชิกวัยทำงานทำงานลดลง อย่างมีนัยสำคัญ

จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่การออกแบบนโยบายด้านแรงงานจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านครอบครัวของผู้มีงานทำประกอบด้วยเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัยนั้นนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อตลาดแรงงานจากจำนวนแรงงานที่มีอายุมากขึ้น ยังส่งผลทางอ้อมต่อการทำงานของแรงงานวัยทำงานในปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้น การออกแบบนโยบายด้านแรงงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในระยะยาวควรมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์โดย (1) ให้แรงงานได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและมีทางเลือกที่จะทำงานในระบบได้มากขึ้น ทั้งการเพิ่มทักษะ (Up-skill) และการเสริมทักษะใหม่ (Re-skill) ตลอดช่วงอายุ(life-long learning) (2) สร้างแรงจูงใจให้แรงงานทำงานมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและแรงงานหญิง โดยการออกแบบการทำงานให้มีลักษณะยืดหยุ่นจะเอื้อให้แรงงานสูงอายุและแรงงานหญิงสามารถหางานให้เหมาะสมตามความต้องการได้ และ (3) การขยายสิทธิประโยชน์ในการจ้างงานผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีทักษะและยังสามารถทำงานได้[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.