Posted: 26 Aug 2018 01:46 PM PDT
Submitted on Mon, 2018-08-27 03:46


เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์/เรียบเรียง


สัมภาษณ์อาห์เหม็ด ชาฮีด ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ ถึงความหมาย ความสำคัญ สถานการณ์ในเอเชีย/อาเซียน ความเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยแบบแยกไม่ขาด แนวทางที่รัฐสามารถจำกัด ดูแลการใช้สิทธิ เสรีภาพได้แบบควรแก่เหตุในยุคดิจิทัล

การพูดถึงศาสนาในโรงเรียนไทยนั้นอยู่บนเส้นเรื่องที่ว่า ไทยประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีประชากรส่วนมากเป็นคนพุทธ และลงท้ายด้วยคำสวยๆ ว่าไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม แต่ทุกศาสนาล้วนสอนให้คนเป็นคนดี ทว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือการอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่มีความเชื่อต่างกันทั้งในด้านปฏิสัมพันธ์ และความเคารพกันในทางความคิด ความเชื่อในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และเท่าเทียมกัน

โจทย์ปัญหาเดียวกันถูกถามสะท้อนไปมาทั่วโลก ในเมื่อทุกประเทศต่างมีความแตกต่างในด้านความเชื่อ มโนธรรมกันทั้งนั้น หน้าประวัติศาสตร์โลกต่างเห็นการเลือกปฏิบัติต่อคนที่นับถือศาสนาหรือความเชื่อชุดหนึ่งเหนือกว่าอีกชุดหนึ่งอยู่เสมอๆ และหลายครั้งจบลงด้วยบทโศกและความตายของคนจำนวนมาก ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดตอนนี้คือกรณีรัฐบาลพม่ากระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ในทางสิทธิมนุษยชน มนุษย์นั้นมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ความเชื่อและสามารถแสดงออกอย่างสันติ เสรีภาพนี้ถูกบรรจุอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งประชาไทได้รับเกียรติจากอาห์เหม็ด ชาฮีด ผู้รายงานพิเศษ องค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) ด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ มาให้สัมภาษณ์ถึงความหมาย ความสำคัญของเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ สถานการณ์ภาพรวมในเอเชีย ข้อกังวลและคำแนะนำกับการทำให้เกิดการเคารพซึ่งการมีความเชื่อที่ต่างกัน (หรือแม้แต่การเลือกที่จะไม่มี) ท่ามกลาง ‘อิสลาโมโฟเบีย’ และโซเชียลมีเดียที่ใช้กันแพร่หลาย


อาห์เหม็ด ชาฮีด

อาห์เหม็ดไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ประเทศไทยเนื่องจากไม่ได้อยู่ในระหว่างการมาเยือนประเทศ แต่การพูดคุยกันในประเทศที่งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และการบัญญัติหน้าที่ให้รัฐพึงป้องกันไม่ให้มีการบ่อนทำลายพุทธศาสนาในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ให้ภาพดูขัดแย้งกันดี

เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อคืออะไร

หลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อคือสิทธิมนุษยชนที่ใช้กับทุกผู้ทุกคน เสรีภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อ แต่มันคือการทำให้ปัจเจกชนหรือกลุ่มได้มีเสรีภาพในการมีความคิด มโนธรรม ศาสนาหรือความเชื่อ เป็นสิทธิมนุษยชนสากล และเนื่องจากมันเป็นเสรีภาพ มันจึงเป็นการให้พื้นที่ให้คนได้ใช้สิทธิดังกล่าว รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้และยังต้องคุ้มครองการแสดงออกซึ่งการใช้สิทธิดังกล่าวอย่างสันติ ทั้งนี้ การใช้สิทธินั้นสามารถถูกจำกัดได้แต่ก็เพียงแต่ในกรณีจำเพาะเจาะจงมาก ผมควรจะต้องเพิ่มเติมด้วยว่ามัน (เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ) คือความเท่าเทียมเพราะมันเป็นสิทธิที่ทุกคน ทุกเพศมีอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความศรัทธาต่อความเชื่อใดๆ ก็ตาม

คุณไม่สามารถแยกเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อออกจากสิทธิมนุษยชนที่เหลือด้วยเหตุผลว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อเป็นพื้นฐานที่สร้างบริบทให้คนสามารถใช้สิทธิอื่นๆ คุณไม่สามารถหารัฐใดๆ บนโลกที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในขณะที่เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐปกป้องเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิใดถูกสถาปนา แม้ว่าคุณจะเอาข้อที่ 18 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR: ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อถือ...) ออกไป คุณก็ยังสามารถใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อได้ เพราะว่าสิทธิอื่นๆ ยังคงให้ความคุ้มครองในการใช้สิทธิดังกล่าว แต่ความแตกต่างคือ เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นมากกว่าเสรีภาพในการแสดงออก เพราะตามข้อที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นสามารถถูกจำกัดได้ด้วยบางสาเหตุ เช่น ความมั่นคงของชาติ แต่เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อไม่สามารถถูกจำกัดด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยของสาธารณะ

เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อกับประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงกันไหม

คุณไม่สามารถหารัฐที่ปฏิเสธเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อและเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยคือเจตจำนงของประชาชน และจุดเริ่มต้นของความเป็นอิสระของคนก็คือมโนธรรมของคน ถ้าคุณไม่มีพื้นที่ให้เชื่อหรือประสงค์ที่จะเชื่อ คุณก็อยู่ในรัฐแบบออร์เวลเลียน (จอร์จ ออร์เวล ผู้เขียนนิยายเรื่อง 1984 ที่รัฐควบคุมประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ) ที่รัฐบาลต้องการจะล้างสมอง ใส่ความคิดเข้าไปในหัวและควบคุมวิธีคิดของคุณ ยิ่งประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการเชื่อ ก็หมายความว่ามีพื้นที่เสรีภาพที่มากขึ้น และนั่นคือสิ่งที่ประชาธิปไตยผูกแนบอยู่กับสิทธิมนุษยชน

ความสัมพันธ์อีกด้านหนึ่งมาจากการทดลองในหนังสือที่ชือว่า The Price of Freedom Denied มีการทดลองและพบว่ายิ่งมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อมากเท่าไหร่ สังคมก็ยิ่งมีแนวโน้มจะสงบสุขและขัดแย้งกันน้อยลง มีการทำวิจัยอื่นๆ ในเรื่องของความเท่าเทียมกันในแนวราบ พบว่า ยิ่งมีความเท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มทางเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีสันติสุขมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ในด้านที่สามคือความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจ ในประวัติศาสตร์เมื่อมีการก่อกวนหรือกวาดล้างขึ้นก็จะเกิดภาวะทุนหนีหาย เกิดภาวะสมองไหลและผู้คนย้ายถิ่น

ภาพรวมเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในเอเชียเป็นอย่างไรบ้าง

เอเชียเป็นกลุ่มก้อนของรัฐที่ใหญ่มาก และในหลายพื้นที่ก็มีปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เอเชียสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มๆ เอเชียตะวันตกส่วนมากเป็นประเทศมุสลิม เอเชียใต้ก็มีอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศหรือเนปาล และก็มีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงนี้ เอเชียกลางที่ประกอบด้วยคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และเอเชียตะวันออกไกลที่มีญี่ปุ่น จีนและเกาหลี

ในภาพรวม ทุกกลุ่มมีปัญหาที่น่ากังวลมากๆ ถ้าดูข้อมูลงานวิจัยจาก PEW Research Center ว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในระดับโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ตำแหน่งแห่งหนของประเทศในเอเชียมีความน่าเป็นห่วงกว่าประเทศอื่นในโลกในด้านความเข้มงวดของรัฐบาล และความโหดร้ายทารุณจากสังคม (ที่มีต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ)


ดัชนีความเข้มงวดกับศาสนาโดยรัฐและสังคมที่จัดทำโดย PEW Research Center ที่ในปี 2559 มีการจัดทำอันดับความเข้มงวดของรัฐบาลและสังคมต่อศาสนา และพบว่ารัฐบาลของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิคมีอัตราความเข้มงวดสูงกว่าพื้นที่อื่นในโลก (ที่มา: PEW Research Center)

และถ้าดูจากรายงานของคณะกรรมาธิการสำหรับเสรีภาพทางศาสนานานาชาติของสหรัฐฯ (United States Commission on International Religious Freedom - USCIRF) หน่วยงานที่สังเกตการณ์สถานการณ์เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อรอบโลก ในรายงานปี 2561 มี 28 ประเทศที่ USCIRF ใส่ไว้ในลิสต์ที่น่ากังวลซึ่งแบ่งเป็นสองเทียร์ เทียร์ที่หนึ่งมี 16 ประเทศ เป็นเอเชียไป 11 ในเทียร์สองมี 12 ประเทศ เป็นเอเชียไป 8

มีข้อกังวลอะไรกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่

ผมมีข้อกังวลเกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียนหลายข้อ เหตุผลหลักก็คือเทรนด์และความซับซ้อนในภูมิภาคนี้มีความเติบโตขึ้น ภูมิภาคนี้ค่อนข้างจะตามหลังภูมิภาคอื่นในการทำตามอาณัติที่ผมรับผิดชอบอยู่ ซึ่งอาณัตินี้มีความเป็นมาย้อนหลังไปถึงปี 2529 (ข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยผู้รายงานพิเศษเรื่องความไม่อดทนอดกลั้นกับศาสนา คือข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ของผู้รายงานพิเศษในการทำงานเกี่ยวกับกรณีเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อ) และเพิ่งมีสองประเทศที่ยอมรับการไปเยือนประเทศ คือลาวกับเวียดนาม การไปเยือนเวียดนามอีกครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาดีเท่าไหร่ เวียดนามเป็นประเทศที่รายงานของ PEW Research Center ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถานการณ์ที่น่ากังวล เนื่องจากรัฐบาลมีท่าทีรุนแรงต่อศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นหลังถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่มองศาสนาเป็นปัญหา ซึ่งในบริบทดังกล่าวก็มีบรรยากาศของความกดขี่ ความท้าทายสำหรับผู้คนที่นับถือศาสนาหรือความเชื่อ

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความลำบากในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน มีข้อเสนอแนะอะไรหรือไม่

แน่นอนว่ารัฐมีหน้าที่สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนไม่ว่าเป็นพลเรือนหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เสรีภาพในการนับถือศาสนาไม่ได้คุ้มครองคือการใช้ความรุนแรงในนามของศาสนา คุณไม่สามารถจับอาวุธขึ้นมาในนามของศาสนา และมันเป็นเรื่องต้องห้ามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อตกลงระหว่างประเทศมีระบุไว้ชัดเจนกรณีที่รัฐประกาศสงครามต่อรัฐอื่น แต่ไม่มีสิทธิใดที่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มใดๆ จะประกาศสงครามกับรัฐ คนเหล่าถือว่าล่วงละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ และรัฐก็มีหน้าที่ตอบโต้กลุ่มคนเหล่านั้น แต่รัฐเองก็มีกฎหมายทั้งเรื่องมนุษยธรรม เรื่องการสู้รบ ไปจนถึงกฎหมายอื่นๆ ที่กำกับกรอบการทำหน้าที่ของรัฐในกรณีดังกล่าว และสิ่งสำคัญคือความได้สัดส่วน รัฐนั้นมีหน้าที่ต้องจบความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถละเมิดสิทธิของเหล่านักรบ

สิ่งที่พบเห็นตอนนี้คือประเทศต่างๆ จำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในนามของการรักษาความสงบสุข ผมกำลังพูดถึงภาวะเกลียดกลัวอิสลาม (อิสลาโมโฟเบีย)

เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษยชนนั้นยอมให้มีการจำกัดจากรัฐได้อยู่บ้าง ผมอ้างอิงจากหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนสองข้อ หนึ่งคือข้อ 18 ของ ICCPR วงเล็บสาม ความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นฐานอย่างหนึ่งในการจำกัดเสรีภาพ อีกอย่างหนึ่งคือเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม คุณไม่สามารถใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการสร้างความวุ่นวายต่อสาธารณะและสถานการณ์ที่ไม่สงบสุข

เสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจ าเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยสุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น

อีกเงื่อนไขที่สามารถจำกัดเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อได้คือเรื่องสาธารณสุข คุณไม่สามารถใช้ศาสนารับรองการกระทำของคุณได้ถ้ามันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เมื่อมีโรคระบาดครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับเด็กจำนวนมากแต่มีคนบอกว่าศาสนาของเราไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน แบบนี้รัฐก็ต้องเข้ามาแทรกแซง และยังมีเหตุผลเรื่องศีลธรรมของสังคมอีก ไม่ใช่ศีลธรรมที่อิงอยู่กับศาสนา แต่อิงอยู่กับคุณค่าที่คนในสังคมยึดถือร่วมกันรวมไปถึงสิทธิของผู้อื่น ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้เป็นปัจจัยที่รัฐสามารถใช้นำมาจำกัดเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อได้แต่ก็ต้องมีเงื่อนไขอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น จะต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และการกระทำจะต้องได้สัดส่วนกับภัยคุกคามที่เกิด คุณไม่สามารถใช้ค้อนขนาดใหญ่มาทุบลูกนัทได้ มันต้องเป็นมาตรการที่ได้สัดส่วนที่อย่างน้อยก็ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

แต่ก็มีแนวโน้มที่รัฐจะใช้ความรุนแรงเพื่อทำให้เกิดเสรีภาพหรือสันติภาพ แล้วบังคับใช้มาตรการที่โหดร้ายจนไปทำลายสิทธิเหมือนกัน และนั่นเป็นเรื่องที่ผิด ยกตัวอย่างกรณีอิสลาโมโฟเบีย คำนี้ควรต้องถูกชี้แจงให้กระจ่าง การนับถือศาสนาหรือความเชื่อไม่มีอะไรผิด เพราะเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อไม่ได้คุ้มครองแนวคิด ข้อ 20 ของ ICCPR พูดถึงหน้าที่ของรัฐในการห้ามไม่ให้เกิดการรณรงค์ให้เกลียดชังศาสนาที่นำไปสู่การเกิดความรุนแรงต่อบุคคลอื่น ไม่ใช่ว่าทุกการกระทำที่มีแรงจูงใจจากศาสนาจะสามารถกระทำได้หมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐมีพื้นที่ในการทำลายสิทธิทุกอย่าง และก็มีบางกรณีที่รัฐมีสิทธิในการปกป้องประชาชนจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในนามศาสนา ซึ่งรัฐเองก็ต้องทำด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ปัญหาก็คืออิสลาโมโฟเบียที่ถูกมองเป็นว่าเป็นความเกลียดชังมุสลิมก็คือคุณไม่สามารถทำให้การเกลียดทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง เพราะมันขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ความหมายของอิสลาโมโฟเบียคือการมองมุสลิมทุกคนเป็นภัยคุกคามและสมควรได้รับการเลือกปฏิบัติ แต่นั่นเป็นเรื่องที่ผิดอย่างชัดเจนและก็เป็นอาชญากรรมด้วย

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างไรกับการสร้างเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อ


ต้องเข้าใจว่าการใช้เสรีภาพต้องเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ ตาม UDHR นั้น ปัจเจกบุคคลมีหน้าที่ของตัวเองต่อชุมชน แต่ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการทำลายสิทธิ สิทธิของผมในการจะเหวี่ยงแขนจบลงเมื่อมันไปโดนหน้าคนๆ หนึ่ง สิทธิที่ผมจะพูดอย่างเสรีจบเมื่อมันไปปลุกระดมคนอื่นให้ไปทำอันตรายกับคนอื่นๆ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาธิปไตยและสำหรับเราที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระในโลกแบบที่เราต้องการ แต่การไม่มีข้อจำกัดเลยนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

แล้วเราจะทำอย่างไรกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียล่ะ แทนที่จะปิดมันลงหรือว่าจะเซนเซอร์ คุณควรจะมีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด มีข้อแนะนำอยู่ในข้อที่ 20 ของ ICCPR เรื่องแนวทางของรัฐในการจัดการการกระทำในลักษณะแบบนั้น โดยมีเกณฑ์พิจารณาอยู่ห้าอย่าง
  1. ตัวผู้พูด อำนาจที่อยู่กับตัวผู้พูดมีผลมากน้อยขนาดไหน
  2. เนื้อหาที่พูดออกมา
  3. บริบทของการพูดว่ามีแนวโน้มจะทำให้เกิดความรุนแรงหรือไม่
  4. ขอบเขตของการพูด (extent)
  5. เจตนาของการพูด เช่น เป็นลักษณะของการอธิบาย หรือเป็นการอภิปรายในห้องเรียนที่จะต้องมีการวิพากษ์ หรือต่อหน้าม็อบที่กำลังโกรธ

มีหลายปัจจัยที่รัฐควรจะเข้ามาจัดการกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต แต่ประเด็นคือการทำให้การแบนมีน้อยและรับประกันว่าการแบนนั้นโปร่งใส อยู่บนหลักความรับผิดรับชอบ แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้กับการแสดงออกอย่างเสรี เพราะความเกลียดชังทางศาสนาสามารถถูกโต้ตอบได้ถ้ามีเสรีภาพการแสดงออก เมื่อไม่มีเสรีภาพการแสดงออกมันก็ทำให้ความเกลียดชังถูกฟูมฟักขึ้น และอาจมีอิหม่าม นักเทศน์ที่ออกมาพูดด้วยความเกลียดชัง ถ้ามีเสรีภาพในการแสดงออกก็จะมีคนอื่นสามารถมาท้าทายพวกเขาได้ แนวคิดของเสรีภาพการแสดงออกสามารถนำมาใช้ในทางบวกเพื่อโต้ตอบวาทกรรมที่ไม่ดีด้วยการสร้างวาทกรรมที่ดี และแสดงออกซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของวาทกรรมที่ไม่ดีและความเกลียดชัง

มีความเห็นอย่างไรถ้ารัฐบังคับใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติกับศาสนาหนึ่งจากอีกศาสนาหนึ่ง


รัฐทำให้เกิดภาวะอันตรายในระยะยาวถ้าทำเช่นนั้น ถ้าคนมีเสรีภาพในการใช้สิทธิ มีประชาธิปไตย มีผู้นำที่ดีที่ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิและได้มันมาโดยสันติ สังคมก็จะมีเสถียรภาพขึ้น สงบสุขและเข้มแข็ง เมื่อรัฐบาลปฏิเสธเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้ศาสนาหนึ่งอยู่เหนือกว่าศาสนาหนึ่ง ก็จะจบลงด้วยการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มหนึ่ง และการเลือกปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่ถูกห้ามในแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนทุกอย่าง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.