Posted: 14 Aug 2018 11:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-08-15 01:11
รังสิมันต์ โรม ปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มาภาพจากเพจ Banrasdr Photo
ข่าวการเมืองที่ระอุขึ้นมาในช่วงสอง สัปดาห์ที่ผ่านมา(นับจากต้นเดือน ส.ค. 2561) นอกจากข่าวประกาศสู้ในสงครามของทักษิณ ชินวัตร ข่าวเดินสายดูดนักการเมืองสนับสนุน ประยุทธ์ จันโอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ของกลุ่มสามมิตร กลุ่มนักการเมืองเก๋าประสบการณ์ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่สร้างรัฐบาลไทยรักไทยกับทักษิณ ข่าวการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ไร้ชื่อ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ได้ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถูกปลดจากตำแหน่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มาพร้อมกับการตั้งคำถามถือตำแหน่งแห่งที่ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าที่สุดแล้วสองคนนี้ใครคือหัวหน้าพรรคตัวจริงกันแน่ แต่ข่าวที่ดูจะมีผลต่ออนาคตอันใกล้ของการเมืองไทยมากที่สุดคือ การร่วมกันของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 ราย เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในประเด็นเรื่องการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการแก้ไขเกิดขึ้นจริงก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งที่เลือนมาแล้วหลายครั้ง จะต้องเลือนออกไปอีก
ชนวนเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากมีการลงมติเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กกต. ชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงระหว่างรอการแต่งตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งปฎิบัติหน้าที่ของ กกต. ชุดใหม่ กกต. ชุดปัจจุบันซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจนแล้วเสร็จครบทั้ง 77 จังหวัด ทำให้เกิดข้อครหาเกิดขึ้นว่า นี่คือการจนใจวางคนของตัวเองทิ้งทายก่อนที่จะลาจากตำแหน่งหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของ กกต. ชุดปัจจุบันก็ไม่ได้มีกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับใดที่ห้ามไว้ เพียงแต่การกระทำดังกล่าวถูกมองจากสมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่เสียมารยาท
การแก้ไขสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาดังกล่าวนี้ ในทางหนึ่งสามารถทำได้ เมื่อ กกต. ชุดใหม่เข้าปฎิบัติหน้าที่ ก็จะสามารถดำเนินการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดได้อีกครั้ง หากเห็นว่ารายชื่อใดที่มีปัญหาก็สามารถดำเนินการสรรหาใหม่ได้ทันที แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูกยกระดับโดยสมาชิก สนช. โดยเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมาย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 กฎหมายหลักที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง และสมาชิก สนช. บางรายก็ออกมาให้ความเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จริงก็จะทำให้การเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นไม่ทันเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ตามที่รัฐบาล คสช. เคยให้คำสัญญาไว้ในครั้งล่าสุด
- เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัดแล้ว ไม่รอ กกต. ชุดใหม่ ชี้ก่อนไปต้องทำงานให้คุ้มเงินหลวง
- พรเพชรเผยห้าม สนช. แก้พ.ร.ป.กกต. ปมเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้ วิษณุยันไร้ใบสั่งจาก รบ.
ต่อเรื่องดังกล่าว รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งโดย กกต. ชุดปัจุบัน หรือ กกต. ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้าปฎิบัติหน้าที่ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าสิ่งไหนจะดีไปกว่ากัน ประเด็นสำคัญที่สุดตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใครจะเป็นคนแต่งตั้ง คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนเรื่องของแก้ไขกฎหมายที่เห็นว่ายังมีปัญหา ควรให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่มีความชอบธรรมมากกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นประเทศไทยในเวลานี้จะยังไม่สามารถกลับไปสู่ประบอบประชาธิปไตยได้เหมือนเดิม เพราะยังมีรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ความชอบธรรม แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก ผู้แทนที่มาจากประชาชนก็จะรับฟังเสียงของประชาชน
“ที่สุดแล้วหากการเลือกตั้งถูกเลือนออกไป ซึ่งอาจจะนานกว่าหนึ่งปี ความหมายของมันก็คือ การแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว และเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกเลือนออกไปด้วย อย่าลืมนะครับเราอยู่กับระบอบนี้มานานถึง 4 ปีแล้ว การที่จะต้องอยู่ต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียวมันก็ถือว่านานเกินไป ลองนึกดูว่าเราต้องอยู่กับคุณประยุทธ์ต่อไปอีกเป็นปี สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้” รังสิมันต์
เขากล่าวด้วยว่า ประเทศไทยไม่สามารถสร้างอนาคตจากกองขยะได้ เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร และทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และความเสียเปรียบต่อประเทศมหาอำนาจอย่างจีน การที่ต้องยืนยันจะต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเพราะอย่างน้อยที่สุดการค่อยๆ เดินออกจากระบอบ คสช. จะทำให้ประชาชนได้พักหายใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อประชาชนต้องการแสดงความคิดเห็นก็ถูกจับกุมดำเนินคดี
เมื่อถามว่า การที่เกิดกระแสเลือนการเลือกตั้งออกไปอีก เป็นเพราะการเรียกร้องการเลือกตั้งลดน้อยถอยลงไปหรือไม่ หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 รังสิมันต์ เห็นว่าเรื่องนี้สามารถมองได้หลายมุม มุมหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ คสช. พยายามผูกโยงเรื่องการเลือกตั้งเข้ากับพิธีบรมราชาภิเษก โดยก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องมีพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นก่อน ซึ่งเมื่อ คสช. ระบุเช่นนั้นก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของประชาชนว่าที่สุดแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกมุมหนึ่งรังสิมันต์ เห็นว่ากระแสเรียกร้องของประชาชน และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถือว่าได้เรียกร้องอย่างถึงที่สุดแล้ว ซึ่งสามารถทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจ มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเลือกตั้งมากขึ้น เพียงแต่ปัญหาคือ กระแสเรียกร้องการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมานี้ยังไม่เพียงพอ และต้องอาศัยพลังจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่นพรรคการเมือง
วิป สนช. ขอสมาชิกทบทวนเสนอแก้กฎหมาย กกต. หวั่นอนาคต ส.ส. จะเลียนแบบ เพื่อแก้กฎหมายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แนวหน้าออนไลน์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว สนช. ว่า เวลานี้กลุ่ม สนช . ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้รับการประสานจาก วิป สนช. เพื่อขอให้ทบทวนการเสนอร่างกฎหมายก่อนยื่นเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว
แหล่งข่าวจาก สนช. ระบุว่า สาเหตุที่ขอให้มีการทบทวนการเสนอกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับความสำคัญรองลงมาจากการรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายเหมือนกฎหายทั่วไป นอกจากนี้ หาก สนช. ในฐานะฝ่ายนิติบัญัติไปริเริ่มแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐรรมนูญเอง โดยที่องค์กรอิสระในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม จาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในอนาคตได้
“โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรจะอาศัยแนวทางที่ สนช.ทำไว้ ด้วยการให้ ส.ส.เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1 ใน 10 ของสภาฯ แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่น กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อยกเลิกการทำไพรมารี่โหวต หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึงจะส่งผลเสียในระยะยาว" แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุ
แหล่งข่าว สนช.กล่าวว่า ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ คือ หาก กกต.ชุดปัจจุบันตัดสินใจว่าจะไม่ลงนามรับรองผู้ที่ผ่านการสรรหาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.ชุดใหม่ที่กำลังรอการโปรดเกล้าฯ มาทำการตรวจสอบรายชื่ออีกครั้ง วิป สนช.จะแจ้งข้อมูลไปยังคณะ สนช.ที่ริเริ่มเสนอกฎหมายให้ทบทวนต่อไป
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กกต. ผ่าน พลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักกิจการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี 36 สมาชิก สนช. ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. เนื่องจากเห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า กฎหมายต้องมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป รวมทั้งอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (1) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ สนช. ใช้สถานะไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฎิบิตราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ อย่างไรก็ตาม หากหลังทาง สนช. ได้ถอนร่างดังกล่าวออก กกต. ก็ยังสามารถพิจารณาเพื่อเอาผิดกับ สนช. ที่ร่วมลงชื่อได้ เพราะความผิดสำเร็จแล้ว และหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาถอดถอนสมาชิก สนช. ออกจากตำแหน่ง และหากมี สนช. รายใดลงมติสนุยสนุนร่างดังกล่าวในขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ก็จะมีการยื่นร้องเพื่อเอาผิดกับ สนช. ที่ลงมติอีกครั้ง
แสดงความคิดเห็น