Posted: 19 Aug 2018 08:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-19 22:07
ใบตองแห้ง
เลขาธิการ ปปง.โดน ม.44 เด้ง ทั้งที่เพิ่งนั่งเก้าอี้เต็มตัว 1 เดือน 16 วัน อุตส่าห์โอนย้ายจากตำรวจ มาเป็นรองเลขาธิการตั้งแต่ 2 พ.ค.2560 แล้วนั่งรักษาการตั้งแต่ 1 ต.ค.ปีเดียวกัน กระทั่ง ครม.มีมติแต่งตั้ง เมื่อ 13 ก.พ.2561 ขั้นตอนทุกอย่าง เห็นชัดๆ ว่ารัฐบาลนี้แหละ ปั้นมากับมือ แต่จู่ๆ ก็ทุบด้วย ม.44 ซะงั้น
อันที่จริง การเขียนด้วยมือ แล้วลบด้วย ม.44 ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนี้ มีให้เห็นประจำ แบบตั้งเองแล้วใช้ ม.44 เด้งเอง ออก พ.ร.ก.แล้วใช้ ม.44 ยับยั้ง จนไม่รู้จะเชื่อมั่นการบริหารราชการแผ่นดินระบอบไหน
แต่ครั้งนี้ ที่น่าสนใจ คือดันมีข่าวสะพัด โดน ม.44 เพราะขัดแย้งกับ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ประธานบอร์ด ปปง. ในเรื่องคดีความ ที่เกี่ยวกับนักการเมือง “ลือหึ่งเมินเช็กทุนการเมือง”
อีหรอบนี้ เดี๋ยวก็เข้าทางฝ่ายการเมือง เพราะ พล.ต.อ.ชัยยะ ถูกจับตามาตั้งแต่ท่านผู้นำใช้ ม.44 ตั้งให้รักษาการเลขาฯ ปปง.เมื่อ 17 พ.ค.2559 ด้วยความที่ถูกระบุว่า ใกล้ชิดสนิทสนม สนธิ ลิ้มทองกุล คำนูณ สิทธิสมาน เคยเขียนไว้ รักกันนาน 30 ปี เคยพาสนธิลี้ภัยชั่วคราวตอนรัฐประหาร 2534 มีผลงานเป็นประธานกรรมการถอดยศทักษิณ เคยถูก กกต.ดึงไปช่วยทำคดีทุจริตเลือกตั้ง 2550 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคดียุบพรรคพลังประชาชน ครั้นมาเป็นเลขาฯ ปปง.ก็โชว์ฝีมือ ร้องทุกข์กล่าวโทษ พานทองแท้ ชินวัตร กับดีเอสไอ
อย่างไรก็ดี ถ้าพวกเสื้อแดงเพื่อไทย จะเอาเรื่องนี้มาโจมตี ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะ ปปง.ชี้แจงได้ว่า อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการ ไม่ใช่ พล.ต.อ.ชัยยะสั่งได้ทุกอย่าง กรรมการมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ปลัดกระทรวง ไปถึงผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อัยการ ฯลฯ
ประเด็นที่สังคมควรสนใจมากกว่าเรื่องตัวบุคคล ก็คือโครงสร้าง ปปง. ซึ่ง คสช.เข้ามารื้อใหญ่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกแก้กฎหมายผ่าน สนช. แล้วยังไม่พอใจ ยังใช้ ม.44 แก้อีกตามเคย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กำหนดให้คณะกรรมการ ปปง.มีนายกฯ เป็นประธาน รมว.คลังเป็นรอง มีกรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน เช่น ผบ.ตร. อัยการสูงสุด ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เลขาฯ ปปส. เลขาฯ กลต. มีผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับ
เข้าใจตรงกันนะครับ กฎหมายฟอกเงินเป็นดาบสองคม เพราะให้อำนาจ ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสิน กระบวนการยุติธรรมยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่นี่คือกฎหมายพิเศษ ให้ยึดทรัพย์ไว้ก่อน เพียงแค่สันนิษฐานว่าผิด
อำนาจนี้จึงอันตรายมาก แต่จำเป็นต้องใช้กับอาชญากรรมร้ายแรง เช่นฝรั่งใช้กับผู้ก่อการร้าย ค้ายาเสพติดหรือค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยต้องใช้อย่างจำกัดไม่ใช่ใช้พร่ำเพรื่อ เพราะสามารถกลั่นแกล้งกัน หรือหาผลประโยชน์ง่ายๆ ถ้าใครขู่พ่อค้าว่าโดนข้อหาฟอกเงินนี่ เยี่ยวราดไปเลย
อำนาจ ปปง.แม้อยู่กับฝ่ายบริหาร จึงต้องถ่วงดุล กรรมการจึงต้องผ่านความเห็นชอบ 2 สภา เช่นเดียวกับเลขาธิการ ขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมซึ่งสั่งยึดอายัดทรัพย์ได้ชั่วคราว ก็ตั้งมาจากศาล อัยการ สตง. และ กสม.
ครั้น คสช.เข้ามาก็แก้กฎหมายผ่าน สนช. ประกาศใช้เมื่อ 1 ต.ค.2558 ไม่เอาฝ่ายการเมืองมานั่ง ให้กรรมการ ปปง.โดยตำแหน่งมี 9 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง โดยมีกรรมการสรรหาจาก 3 ศาล ได้แก่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด แล้วไปผ่านความเห็นชอบวุฒิสภา กำหนดด้วยว่าประธานและรองประธานกรรมการต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ครั้งนั้นก็ได้สุทธิพล ทวีชัยการ เป็นประธาน ปปง. กรรมการมีทั้งสังศิต พิริยะรังสรรค์, อุดม รัฐอมฤต ส่วนกรรมการธุรกรรม เปลี่ยน กสม.ออก (กลัวปกป้องสิทธิมนุษยชนมั้ง) เอาศาลปกครองมาแทน เลขาธิการให้ ครม.ตั้ง ผ่านวุฒิสภา
ฟังดูเหมือนจะดี เข้าที่เข้าทาง เข้าสูตรล้างอำนาจจากเลือกตั้ง แต่ใช้ไม่ถึง 2 ปี นึกยังไงไม่ทราบ มีคำสั่ง คสช.38/2560 ประกาศเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 แก้กฎหมายอีกที ให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหลือ 4 คน โดย ครม.ตั้งเอง ไม่ต้องให้ศาลสรรหา ไม่ต้องผ่านวุฒิสภาอะไรทั้งนั้น อ้างว่า ไม่ต้องการให้การเมืองแทรกแซง
อุ๊ต๊ะ ครม.ตั้งเองนี่นะ ไม่ต้องการให้การเมืองแทรก สังศิตซึ่งตกเก้าอี้ ออกมาโวยว่าฟื้นรัฐราชการ โลก ไม่ยอมรับ
ไม่ยอมรับได้ไง นี่ ม.44 นะ ครม.ก็ตั้งกรรมการใหม่เสร็จสรรพ โดยมี พล.ต.อ.ชัยยะเป็น 1 ใน 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลวันที่ 1 ต.ค.2560 ซึ่งท่านเกษียณจากเลขาฯพอดี แล้ววันที่ 6 ต.ค. ที่ประชุมก็เลือกเป็นประธาน วาระ 4 ปี
เห็นหรือยังว่า ปปง.ใครใหญ่ ก็ ม.44 ไง ออกกฎหมายแล้ว ม.44 แก้ได้ ตั้งเลขาฯแล้ว ม.44 ปลดได้ ม.44 คือหลักประกัน แทนหลักนิติรัฐนิติธรรม
ที่มา www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1454230
แสดงความคิดเห็น