Posted: 23 Aug 2018 06:50 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-08-23 20:50


ฟัง 'ชูศักดิ์' 'สุธิดา' เล่าทฤษฎี ต้นศตวรรษ 20 เน้นตัวบท วรรณกรรมต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่หยุดนิ่ง I ตัวบทเป็นเอกเทศ ไม่ถูกจำกัดด้วยการเวลา I ภาษาสร้างความจริงอีกชุด สู่ปลายศตวรรษ 20 ศึกษาเชิงการเมือง กับแนวคิด 3 คลื่นสตรีนิยม ความเท่าเทียม-ชายเป็นใหญ่-วิพากษ์กันเองในแวดวง และแนวคิดPost Colonialism ผลกระทบหลังสมัยอาณานิคม

22 ส.ค. 2561 โครงการปริญญาโทสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ อ่าน จัดงานบรรยายในหัวข้อ "ทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบทถึงบริบท" ที่ ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์โดยมีวิทยากรคือ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และ สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศึกษาตัวบท เน้นภาวะวิสัย กับทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20


ชูศักดิ์ ปูพื้นว่าในศตวรรษที่ 19 อาจพูดกว้างๆว่ามีทฤษฎีวรรณกรรรมอยู่สองทฤษฎีหลัก คือแนวสุนทรียศาสตร์ มุ่งศึกษางานวรรณกรรมในฐานะเป็นงานฝีมือชนิดหนึ่ง และอีกแนวคือแนวจริยธรรมนิยม สั่งสอนศีลธรรม มองบทบาทวรรณกรรมเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาจริยธรรมสังคม

หลังจากนั้นแนวคิดที่เข้ามามีอิทธิพล คือแนวประวัติศาสตร์นิยม กล่าวคือโลกตะวันตกเริ่มมองว่าเราจะเข้าใจทุกอย่างได้ต้องเข้าใจที่มาที่ไป ความเป็นมาของมัน และแนววิทยาศาสตร์นิยม มองทุกอย่างเป็นเชิงกลไก อันเป็นผลผลิตจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทำให้มนุษย์เชื่อ วิทยาศาสตร์แนวปฏิฐานนิยม (positivism) คือ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้ จับต้องได้

วรรณคดีศึกษาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 พยายามจะสถาปนาให้ตัวเองเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ดังนั้นทฤษฎีสุนทรียศาสตร์จึงไม่เอื้อเพราะเป็นอัตวิสัยค่อนข้างมากดังนั้นต้นศตวรรษที่20 นักวรรณคดี นักภาษาศาสตร์จึงสนใจแนวคิดปฏิฐานนิยม ซึ่งมีความเป็นภาวะวิสัย ทำอย่างไรให้วรรณกรรมศึกษาและพิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ มีหลักฐานน่าเชื่อถือ จึงเน้นไปที่ชีวประวัติของผู้แต่ง เพราะเป็นสิ่งที่ศึกษาได้ ตรวจสอบได้ ประกอบกับกระแสแนวคิดโรแมนติกเชิดชูนักประพันธ์เป็นผู้มีญาณทัศน์อันพิเศษ หรือแนวนิรุกติศาสตร์ ศึกษารากที่มาของการสื่อสาร นักศึกษาวรรณคดีสมัยนั้นจึงต้องเป็นคนค้นคว้า เสาะหาจดหมายเหตุ เช่น ค้นคว้าในบ้านเกิดเชคสเปียร์หรือจอห์นคีต นักเขียนชื่อดังทั้งหลาย เพื่อดูว่าคนเหล่านี้อ่านอะไร ศึกษาอะไรกัน

ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทรงอิทธิพลอยู่นานจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนครั้งสำคัญนำมาสู่การหันมาสนใจตัวบทมากกว่าตัวผู้แต่งหรือประวัติวรรณกรรม โดยมีแนวคิดประมาณ 3 ทฤษฎีในปลายศตวรรษที่ 20 ที่หันมาให้ความสำคัญกับตัวบทและบริบทของสังคม เกิดแนวทฤษฎีคิดมาอีกมากมายโดยจะอธิบาย 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมรัสเซีย, นววิจารณ์ และโครงสร้างนิยม


ทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมรัสเซีย:วรรณกรรมต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่หยุดนิ่ง


ชูศักดิ์อธิบายว่าคือทฤษฎีแรกๆของศตวรรษที่ 20 ที่ให้ความสำคัญกับตัวบท เกิดก่อนปฏิวัติสังคมโซเวียตปี 1917 แต่มารับรู้กลางศตวรรษที่ 20 ในยุโรป เป็นกลุ่มนักวรรณคดี ภาษาศาสตร์ มีศูนย์กลางที่มอสโควและเซนปีเตอร์สเบิร์ก ต่อต้านแนวปฏิฐานนิยม

ทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมรัสเซีย มองว่าการศึกษาประวัติผู้แต่ง ประวัตศาสตร์วรรณกรรมนั้นทำได้ แต่ตั้งคำถามว่านั่นใช่การศึกษาวรรณคดีหรือไม่ มันควรกลายเป็นศาสตร์การศึกษาผู้ประพันธ์หรือศึกษาประวัติศาสตร์ไปมากกว่ารึเปล่า แต่วรรณคดีศึกษาต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอะไรคือวัตถุของการศึกษา คำตอบก็คือความเป็นวรรณคดีโดยตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับผู้แต่ง ประวัติศาสตร์ หรือสังคม

คำถามที่สำคัญตามมาคืออะไรทำให้สิ่งที่เรียกว่าวรรคดีต่างจากข้อเขียนอื่นที่ไม่ใช่วรรณคดี เรื่องสั้นกับข่าวต่างกันอย่างไร นักวรรณคดีกลุ่มนี้มุ่งจะตอบคำถามนี้ ถ้าเราบอกว่ากลอนต่างจากข้อเขียนอื่นเพราะต้องมีสัมผัส มีฉันทลักษณ์ ก็ถือเป็นคำตอบที่จบ แต่สิ่งที่พวกรูปลักษณ์นิยมตอบคือ ต้องมีกระบวนการที่ทำให้แปลก หรือ Defamiliarizationทำให้มีสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ถ้าเป็นรายงานข่าวก็เล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่วรรณกรรมจะมีสิ่งที่แปลกออกไป

การทำให้แปลก คือแปลกไปจากความรับรู้ทั่วไปของมนุษย์ เช่น วิธีการเล่าเรื่องที่เล่าจากมุมมองของสัตว์ หรือเด็ก หรือทำให้แปลกไปจากงานเขียนประเภทอื่น เช่น บทกวี ที่มีภาษา ฉันทลักษณ์ ระเบียบแบบแผนต่างไปจากการพูดการเขียนปกติ หรือความแปลกอื่นที่แปลกไปจากขนบวรรณกรรมที่มีอยู่ ดังนั้นความแปลกจึงต้องมีลักษณะสัมพัทธ์ ไม่หยุดนิ่งตายตัว ต้องเปลี่ยนแนวการเขียนตลอด เพราะไม่ฉะนั้นความแปลกก็จะไม่แปลกอีกต่อไป

ดังนั้นทฤษฎีรูปลักษณ์นิยมจึงทำให้ความหมายของวรรณกรรมมต้องเป็นวรรณกรรมแนวทดลองตลอดเวลา แนวตามขนบก็จะไม่เป็นวรรณกรรมเพราะไม่แปลก วิธีการอธิบายความเปลี่ยนแปลงไปของวรรณกรรม จึงไม่ใช่แนวคิดที่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมเคยอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นอิงกับสังคม แต่เป็นเรื่องของความเบื่อที่ทำให้ขนบของการเขียนเปลี่ยนจากยุคหนึ่งไปยุคหนึ่งรูปลักษณ์นิยมจึงเน้นที่รูปแบบการประพันธ์จริงๆ ต่างจากปฏิฐานนิยมที่เน้นบทบาททางสังคม

ชูศักดิ์ทิ้งท้ายเพื่อให้ไปหาคำตอบเพิ่มเติมเองเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ว่า ดังนั้นตามทฤษฎีรูปลักษณ์นิยม การเปลี่ยนแปลงวรรณกรรมจึงไม่ใช่จากพ่อไปสู่ลูก แต่เป็นจากอาไปสู่หลาน

นววิจารณ์: ศึกษาตัวบทเป็นเอกเทศ ไม่ถูกจำกัดด้วยการเวลา

ชูศักดิ์กล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่า เกิดขึ้นในอเมริกาและทะยานขึ้นมาสู่ทฤษฎีกระแสหลักแทนทฤษฎีปฏิฐานนิยมซึ่งครอบงำแวดวงวรรณกรรมมาก่อนโดยนักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามจะสถาปนาแนวทางแบบใหม่ ตั้งเป้าว่าทำอย่างไรที่จะทลายกำแพงเกี่ยวกับการศึกษาวรรณกรรมที่ยึดอยู่กับผู้แต่งและผู้อ่าน นักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มจากเขียนงานสองชิ้นที่สำคัญมากIntentional Fallacyและ Affective Fallacy เกี่ยวกับความหลงผิดเกี่ยวกับเจตนารมณ์ผู้แต่งและผลกระทบทางอารมณ์

กลุ่มนี้มองว่าการศึกษาวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องยึดกับเจตนารมณ์ของผู้แต่ง เช่น หากผู้เขียนตายไปแล้วจะทำอย่างไรซึ่งกลุ่มปฏิฐานนิยมก็อาจจะบอกว่า ก็ศึกษาได้โดยการไปดูหลักฐานว่าผู้เขียนอ่านอะไร ทำอะไร แต่กลุ่มนี้มองว่าข้อเขียนที่เป็นวรรณกรรมนั้นเป็นข้อเขียนสื่อสารต่อสาธารณชนผู้แต่งจึงต้องเขียนสิ่งที่คนทั่วไปรู้ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องไปศึกษาตัวผู้แต่ง

ข้อโต้แย้งอีกอันของกลุ่มนี้คือ เวลาถามว่าเจตนาผู้แต่งคืออะไร บางครั้งผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามเจตนาที่ผู้แต่งคิดก็ได้ดังนั้นเราจะเชื่อถือเจตนาผู้แต่งทั้งหมดได้อย่างไร และมีคำถามต่อว่า เราจะยึดเอาเจตนาของผู้แต่งตอนไหนที่ถือเป็นเจตนาตรงที่สุดที่เป็นคำตอบสุดท้าย ก่อนเขียน หลังเขียน หรือผ่านไปห้าปีสิบปีสิ่งที่เขาคิดเกี่ยวกับงานเขาอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ ดังนั้นข้อสรุปคือไม่ต้องเชื่อเจตนาผู้เขียน วรรณกรรมสามารถเข้าใจได้จากตัวงาน และผลกระทบของผู้อ่านแต่ละคนมีอคติ เอามาเป็นตัวกำหนดความหมายของตัวงานไม่ได้ จึงเหลือตัวบทที่เป็นสิ่งสำคัญในการศึกษา

วิธีที่กลุ่มนี้ศึกษาตัวบท คือการเสนอกรอบคิด ตัวบทมีลักษณะเป็นเอกเทศ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง เป็นงานศิลปะ เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ถ้าเราจะเข้าใจก็เข้าใจมันในฐานะอินทรียรูป โดยไม่ต้องดูผู้แต่งผู้อ่าน ดูแค่ความหมายในตัวบทสัมพันธ์เกื้อหนุนกันยังไง ให้ความสำคัญกับการอ่านแบบประชิด คืออ่านอย่างละเอียดอันเป็นรูปแบบการเรียนวรรณกรรมที่คนรุ่นหนึ่งรวมทั้งตัววิทยากรคุ้นเคย เป็นการดูองค์ประกอบต่างๆ ของงาน ดูสัญลักษณ์ ภาพพจน์ เสียง สัมผัส สร้างความหมายขึ้นมาอย่างไร ซึ่งทฤษฎีนี้ได้เปลี่ยนการศึกษาวรรณกรรมของอเมริกาไปหมดเลย จากเดิมที่ต้องศึกษาชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ ก็เพียงแค่ถือนิยายเล่มหนึ่งเข้าห้องเรียนคุยกันถึง คำ ประโยค ตัวละคร ตัดขาดจากผู้แต่งและบริบท นำไปสู่ข้อเสนอีกชุดของกลุ่มนววิจารณ์คือ วรรณกรรมกลายเป็นตัวบทที่สถิตความหมายมีลักษณะสากล ใครก็เข้าถึงได้ เป็นอกาลิโก อ่านได้ทุกยุคทุกสมัย เป็นอมตะ ไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา

โครงสร้างนิยม: ภาษาสร้างความจริงอีกชุด ศึกษาโครงสร้างไวยากรณ์วรรณกรรม


ชูศักดิ์ กล่าวถึงแนวคิดกลุ่มนี้ว่าทรงอิทธิพลหลังสงครามโลกครั้งที่2ถึงทศวรรษที่60-70 เป็นแบบแผนใหม่ที่ถูกพูดถึง มาตรฐานการรีวิว การพูดถึงหนังสือก็จะใช้แนวคิดนี้ กลายเป็นแบบแผนของการอ่านหนังสือ

กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า ภาษาที่เคยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือโปร่งใสสะท้อนความจริงนั้นกลับกลายเป็นว่าภาษาสร้างความเป็นจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับความจริงด้วย ตัวอย่างเช่น การนับเครือญาติ หากเทียบสองภาษาก็จะเห็นความต่าง ยกตัวอย่างเช่น ในความเป็นจริงพ่อแม่มีลูกสองคนเอกับบี พอเราจะเรียกลูกสองคนในสองภาษาไทย เราจะเรียกเอเป็นพี่ บีเป็นน้อง แต่ภาษาอังกฤษเราจะเรียกเอเป็นซิสเตอร์ (sister)และบีเป็นบราเธอร์ (brother) เราจะเห็นว่าระบบภาษาจึงกำหนดสร้างความเป็นจริงอีกชุด เมื่อเราอยู่ในระบบภาษาไทย อาวุโสกลายเป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ ขณะที่อังกฤษต้องรู้ก่อนเป็นหญิงหรือชาย ทั้งสองระบบให้ความสำคัญมิติของคนไม่เหมือนกัน

แนวคิดโครงสร้างนิยมจึงพยายามมองการทำงานของภาษา ถ้าเราจะเข้าใจวรรณกรรม เราจะต้องทำความเข้าใจระบบโครงสร้างภาษาว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในงานชิ้นนั้น

โครงสร้างคืออะไร ชูศักดิ์อธิบายว่า เข้าใจว่าโครงสร้างนี้ไม่ได้เห็นได้ด้วยตา แต่คือชุดความสัมพันธ์ ความหมายเกิดจากหน่วยต่างๆ ที่อยู่ในระบบนั้นที่มาสัมพันธ์กันและทำหน้าที่กำหนดความหมาย ดังนั้นเวลาพูดถึงโครงสร้างนิยม จึงไม่ใช่แค่พล็อตเรื่อง แต่เป็นโครงสร้างที่มองไม่เห็นและกำกับการสื่อสารอยู่ หน่วยที่ประกอบกันขึ้นมาไม่ได้มีความหมายโดยตัวมันเอง เช่นเดียวกับที่บอกว่า โดยลำพังสิ่งที่เรียกว่าเกาะอกไม่ได้มีความหมายว่าโป๊โดยตัวมันเอง อยู่ที่มันไปสัมพันธ์กับอะไร เกาะอกกับผ้าถุงอาจดูเป็นไทย เกาะอกกับกางเกงขาสั้นอาจดูโป๊ อยู่ที่เกาะอกไปเกี่ยวข้องกับอะไร นี่คือวิธีการอธิบายของพวกโครงสร้างนิยม

การศึกษาแบบโครงสร้างนิยมจึงเป็นการศึกษากระบวนการสร้างและสื่อความหมายในตัวบทเป็นหลัก เวลาเราใช้ภาษาเราใช้โดยไม่มีมิติทางประวัติศาสตร์อยู่ เช่น เวลาเราพูดสวัสดี เราก็ไม่ได้คิดว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นคนคิดคำนี้ ซึ่งโครงสร้างนิยมมองว่าถ้าจะศึกษาวรรณกรรมต้องหยุดการศึกษาประวัติสาสตร์ไว้ก่อน

โครงสร้างนิยมทางวรรณกรรม ทะเยอทะยานศึกษาหาไวยากรณ์ของวรรณกรรม ไวยากรณ์ของเรื่องเล่า สร้างผังขึ้นมาหลายแบบ หาโครงสร้างที่มองไม่เห็นที่กำกับการสื่อความหมายของวรรณกรรม ดังนั้นโครงสร้างนิยมพยายามแสวงหากฎเกณฑ์ทั่วไปของตัวบท และขยายขอบเขตนิยามของตัวบท ไปครอบคลุมสิ่งที่เรียกว่าความจริงนอกตัวบท จากฐานคิดที่ว่าภาษาสร้างความเป็นจริง ทำให้สิ่งที่เราคิดว่ามันคือความจริงนอกตัวบทก็คือตัวบทแบบหนึ่งด้วย

กระทำทางการเมืองกับทฤษฎีวรรณกรรมปลายศตวรรษที่ 20


สุธิดาอธิบายว่า การศึกษาวรรณกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 60 เป็นต้นมานั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นการเมือง ช่วงปี 1960 ในอเมริกามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะมาก เด่นสุดต่อต้านสงครามเวียดนาม การอ่านวรรณกรรมคือการกระทำทางการเมืองอย่างหนึ่ง

นักศึกษาวรรณกรรมดึงเอาบริบทต่างๆ เช่น ชนชั้น เชื้อชาติ เพศที่ไม่เคยอยู่ในการศึกษาวรรณกรรมมาก่อนเข้ามา ดังนั้นในยุคนี้จึงเป็นการศึกษาวรรณกรรมในฐานะที่คนตกเป็นเบี้ยล่างจะเป็นคนอ่านและเป็นคนเขียนได้ และอีกด้านคือการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรที่เราจะเลือกใช้มุมมองของการอ่านที่แตกต่างจากที่สอนกันมาผ่านมุมมองชนชั้นกลางเพศชายผิวขาวนับถือศาสนาคริสต์ มันจึงเป็นการอ่านเพื่อเปิดโปงอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ เปิดโปงความเป็นจักรวรรดินิยม ที่อาจไม่ได้แสดงในตัวบท การอ่านแบบประชิดจึงไม่อาจทิ้งไปได้

แนวทางของการวิจารณ์จะเป็นสองลักษณะใหญ่นั้นคือ สตรีนิยม (Feminism) และแนวคิดหลังสมัยอาณานิคม(Post Colonialism) ผู้หญิงจะเป็นนักเขียนได้ไหม ต้องมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง? กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์มีผู้หญิงเขียนไหม? มี แต่เป็นที่ไม่รู้จัก จะทำยังไงที่จะกู้คืนงานเขียนผู้หญิงในประวัติศาสตร์ มีทางไหนที่จะส่งเสริมผู้หญิงให้เป็นนักเขียน และ ประเทศโลกที่สามไม่มีนักเขียนเป็นของตัวเองเหรอ?

Feminism: 3 คลื่นสตรีนิยม เท่าเทียม-ชายเป็นใหญ่-วิพากษ์กันเองในแวดวง


สุธิดา กล่าวว่า คลื่นลูกแรก ต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม เรื่องอาชีพ เรื่องการโหวต เช่น เวอร์จิเนีย วูฟ เขียน A room of one's own ตั้งคำถามว่า ถ้าน้องของเชคสเปียร์เป็นผู้หญิงแล้วเขียนงานจะมีคนอ่านไหม โดยตั้งคำถามว่าหากมีมนุษย์สองคนที่มีศักยภาพเท่ากัน แต่ต่างเพศ จะมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เขาได้เป็นหรือไม่ได้เป็นนักเขียน

คลื่นลูกสอง ปลายทศวรรษ60ถึงต้นทษวรรษ 70 คนมีอิทธิพลคือ ซีโมน เดอ โบวัวร์ ที่มีคำพูดสำคัญว่า “คนๆ หนึ่งไม่ได้เกิดเป็นผู้หญิง แต่ถูกทำให้กลายเป็นผู้หญิง(One is not born , but became a woman)"ซึ่งหมายความว่า ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีอวัยวะเพศไหน แต่ การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม สัมคม ต่างหากที่ทำให้เราเป็นผู้หญิง และกำหนดบทบาททางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ สร้างเงื่อนไขให้ความเป็นเพศหญิงเกิดขึ้นมาเพื่อเปิดโปงวาทะกรรมชายเป็นใหญ่

ประกอบด้วย 2 แนวคิดที่มีอิทธิพล คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ซึ่งเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่มองมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา เป็นการมองว่ามนุษย์ไม่ได้มีแค่ที่แสดงออก แต่มีสิ่งที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ตัวบท ภายใต้ตัวบทยังมีอะไรบางสิ่งอยู่ข้างใต้ อีกแนวคิดคือทฤษฎีมาร์กซิส (Marxism)ซึ่งเป็นการแสวงหาช่องโหว่ทางอุดมการณ์หรือปัญหาเชิงอุดมการณ์ของตัวบท และการวิจารณ์ที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เป็นแบบนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากมาร์กซิส โดยมองว่าตัวบทไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่วางอยู่บนฐานอุดมการณ์ชุดหนึ่ง

คลื่นลูกที่สาม ทศวรรษ 90 แนวคิดสตรีนิยมยุคแรกๆ ก็ถูกวิจารณ์ โดยกลุ่มนี้ชี้ว่าอย่างหนึ่งที่เฟมินิสต์ยุคแรกๆหลงลืมคือ ความไม่เท่าเทียมในหมู่คนเพศเดียวกันเอง ประเด็นเรื่อง intersectionality หรือความสลับซับซ้อนของประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นั้นหมายความว่าเราพูดถึงเรื่องผู้หญิงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องถามว่าพูดถึงผู้หญิงในช่วงชั้นสังคมไหน ผิวสีอะไร เช่น ประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างผู้หญิงขาวชนชั้นกลางชาวคริสต์กับผู้หญิงผิวสีดังนั้นกลุ่มนี้จึงชูเรื่องความหลากหลาย ไม่ได้ต่อต้านเพศชาย แต่เป็นการวิจารณ์กันเองในแวดวง

Post Colonialism ผลกระทบหลังสมัยอาณานิคม

สุธิดา กล่าวว่า เมื่อไหร่ที่เราจะเรียกแบบนี้ คำตอบคือ หลังการเข้ามาของเจ้าอาณานิคม ดังนั้นมันจึงว่าด้วยผลกระทบของประเทศและผู้คนจากลัทธิอาณานิคม ซึ่งคนที่ศึกษาในประเด็นนี้ 3 คนที่สำคัญคือ Edward Said ผู้เขียน 'Orientalism' Gayatri SpivakและHomi Bhabha ผู้เขียน 'The Location of Culture'

การศึกษาด้วยแนวคิดนี้จะศึกษาคนที่มาจากประเทศที่ถูกล่าอาณานิคมในฐานะผู้เขียนและในฐานะผู้อ่านด้วย หน้าที่ของคนวิจารณ์คือการเปิดโปงแนวคิดที่ประกอบสร้างของวรรณกรรม ว่าแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากวิธีคิดแบบไหน และวิธีคิดแบบนี้มีปัญหาอย่างไร เช่น ในยุคหนึ่งโฆษณาสบู่โฆษณาว่าคนดำใช้แล้วจะขาวสะอาดทั้งกายและใจ มีอารยธรรม สูงส่งซึ่งมีอิทธิพลมาจาก white man's burden การที่คนขาวมีภาระที่จะนำอารยธรรม ความสูงส่งไปสู่ประเทศโลกที่สามหรือการผลิตสิ่งที่มาโต้กลับแนวคิดเหล่านี้ เช่น วรรณกรรมที่เขียนล้อวรรณกรรมที่แสดงมุมมองแบบจักรวรรดินิยม ยกตัวอย่างเรื่อง The Impressionist โดย Hari Kunzruเขียนขึ้นเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม โดยมีตอนหนึ่งที่เขียนล้อ Heart of darkness โดย Joseph Conradที่เขียนในมุมมองแบบจักรวรรดินิยม

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.