ธงชัย วินิจจะกูล ที่มา: เพจ Banrasdr

Posted: 25 Aug 2018 10:10 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-26 00:10


ธงชัย วินิจจะกูลร่วมเสวนา "เรื่องเล่าหลังกรงขัง" ชี้ไทยแลนด์ 4.0 เป็นความพยายามรีแบรนด์ของ คสช. แต่กลับไม่มีเนื้อหาสาระ ของจริงอยู่ที่ระบบการเมือง-กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำลายตลอดวิกฤต 12 ปีจนยากจะฟื้น เศรษฐกิจซึมยาวเป็นรูปตัว L ผลประโยชน์กระจุกกับกลุ่มทุนส่วนคนระดับกลางถึงระดับล่างจมสนิท พร้อมชวนเพื่อร่วมสังคมไทยเข้าร่วม "ภารกิจรื้อฟื้นประเทศไทย" ก่อร่างสร้างสถาบันทางการเมือง-สังคมให้มันมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ปล่อยให้เดินตามอำเภอใจของคนจำนวนน้อย

ในวงเสวนา "เรื่องเล่าหลังกรงขัง" ซึ่งจัดโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งธงชัย วินิจจะกูลกล่าวแนวคิด "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล คสช. ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความพยายามรีแบรนด์ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระ "ไทยแลนด์ 4.0 คำคำนี้อาจจะตั้งชื่อให้ดูเท่ แต่ไม่มีสาระอะไร อาจเป็นการรีแบรนด์ รีแพคเกจ เป็นไปได้ ผมไม่รู้เจตจำนงคนที่ทำขึ้น"

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รายนี้ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โลกกำลังสนใจเรื่องการเข้าสู่ “ยุคพลิกผัน” (destruction era) ทั้งโลกกำลังสนใจเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติของโลก การปฏิวัติดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนตั้งแต่หัวถึงเท้า และสังคมไทยหนีไม่พ้น แต่คำถามคือจะรับมืออย่างไรซึ่งเป็นโจทย์ของเราทุกคน “ถ้าไทยแลนด์ 4.0 เป็นแค่การรีแพคเกจก็น่าเสียดาย สักแต่ว่ารีแบนด์โดยไม่คิดจริงจัง ความจริงการเปลี่ยนแปลงมีความหมายมาก ไทยอาจจะไม่เปลี่ยนตามตะวันตกแต่ได้รับผลแน่ๆ”

เขายกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนเช่น การเล่นเฟซบุ๊กยังส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ปัจเจกคนแต่ละคนสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

20 ปีก่อนเรายังบ่นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล แต่ขณะนี้เข้าถึงข้อมูลง่ายจนล้น แต่สิ่งที่เป็นเรื่องจำเป็นตามมาก็คือความสามารถในการจัดการข้อมูล “จะเชื่ออะไร จะคัดจะทิ้งอะไร เพราะข้อมูลล้นจนเกินกว่าที่มนุษย์จะรับรู้ แต่ที่มีเยอะๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนเลือกใช้ตามต้องการ สิ่งที่เป็นขยะของผมอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น ข้อมูลที่มีล้นหลามมีประโยชน์ตรงนี้”

เขากล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 2 ที่ต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติดิจิทัลก็คือว่า นี่เป็นการปฏิวัติครั้งที่ 4 หรือ Internet of things คือการเคลื่อนไหวของกิจกรรม ไม่ใช่แค่ข่าวสารเท่านั้น แต่มีกิจกรรมที่ทำผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งจะเปลี่ยนคุณลักษณะประกอบการทางธุรกิจ และจะเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต

ในทางการเมือง คนจะเกิดอัตลักษณ์ที่หลากหลาย จะเกิดอัตลักษณ์ซ้อน สอง-สาม- สี่ มีอัตลักษณ์หลายอย่างพร้อมกัน ถึงที่สุดจะสามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้ง่ายขึ้น มีเวทีประกาศความเป็นตัวเองได้ ทุกคนทำได้ ซึ่งภาวะเช่นนี้มีผลในทางการเมือง เพราะผลประโยชน์ของคนแตกย่อยออกไป ผลประโยชน์ของคนหนึ่งไม่เหมือนอีกคนหนึ่ง ทำให้ควบคุมยาก เกิดพลวัตรทางการเมืองแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลที่ต้องการควบคุมมากอยู่ได้ยากมากขึ้น

ธงชัย กล่าวด้วยว่า ผลของกระแสโลกไม่จำเป็นต้องมาถึงเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา นักกิจกรรมที่กลัวความเปลี่ยนแปลงต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะอย่างไร การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะมาถึงเมืองไทยแน่ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องกลัว เพราะมีทั้งโอกาสและมีคนที่ได้รับผลเสีย ในส่วนของการศึกษา เขาเห็นว่าคำถามที่สำคัญคือจะเทรนคนขึ้นมาแบบไหนในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัว

สำหรับรัฐบาลนั้น เขาเห็นว่า รัฐประชาธิปไตยออกแบบมาสำหรับการปรับตัวอยู่แล้ว เพราะออกแบบมาให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนและปรับ ระบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยต่างหากที่ปรับยาก ระบบคุณพ่อรู้ดีจะปรับไม่ได้ เพราะระบบใหม่นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่ใครคนเดียวจะรู้ทุกอย่าง

“คุณต้องปล่อยให้มีไดนามิค (พลวัตร) แค่คุมกติกาให้ปลดพลังสร้างสรรค์อย่างไปตีหัวคนอื่น รัฐต้องปกป้องคนที่จะได้รับผลกระทบ และดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่ผลิตคน กระแสโลกตอนนี้ตอบสนองในทางที่ผิด มันเกิดพาราดอกซ์ ปฏิภาคย้อนแย้ง ยุคนี้คุณต้องผลิตคนที่รู้จักปรับตัว มีทักษะที่ปรับได้ คิดเป็น ต้องมีคนที่พร้อมจะมีพื้นฐานสำหรับยืน ไม่ใช่ยืนอยู่กับที่เดิมไปตลอดชีวิต ทำอาชีพเดียว เอาเข้าจริงตอนนี้ก็เปลี่ยนแล้ว ที่เราพูดว่าคนสมัยนี้โกลบอล คนต่างชาติภาษาเยอะมาก มนุษย์เปลี่ยนไปแล้ว อุดมศึกษาต้องเปลี่ยนตาม ต้องผลิตคนที่พร้อมจะปรับต้อนรับยุค Destruction เราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้แล้ว”

ระบบการเมือง-ยุติธรรมถูกทำลายตลอดวิกฤต 12 ปีจนยากจะฟื้น

ธงชัย ตั้งคำถามว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะเข้ากันได้หรือไม่กับระบบสังคมการเมืองที่แสนจะไม่มีพลวัตร แต่เรียกตัวเองว่า Thailand 4.0 ซึ่งเขาตอบคำถามของตัวเอง “น่าห่วงมากๆ”

เขาให้เหตุผลว่าวิกฤติการเมือง 12 ปีที่ผ่านมา ก่อผลยั่งยืนอย่างหนึ่งซึ่งอีกนานกว่าจะแก้ได้ นั่นก็คือการทำลายการก่อรูปก่อร่างของสถาบันทางการเมืองที่กำลังเติบโตมาและทำลายกระบวนการยุติธรรม

“หลายคนสนใจรัฐสภาและเลือกตั้ง ยิ่งนานผมยิ่งสนใจกระบวนการยุติธรรมเพราะผมว่าฟื้นยากกว่าเยอะ อันนี้เรื่องใหญ่ และผมว่าสิบสองปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองสำคัญ แต่ต่อให้คุณฟื้นระบบการเมืองได้ กระบวนการยุติธรรมที่น่าศรัทธาได้ก็ต้องการเวลามากกว่านั้นมันไม่ล้มตามการเมืองแต่ไม่ฟื้นทันทีที่การเมืองฟื้น”

“มันต้องใช้เวลาสร้างอีกนานมาก ผมไม่เห็นวี่แววจะทำอะไรกับกระบวนการยุติธรรม ไม่รู้ด้วยซ้ำจะเริ่มยังไง วิกฤตจิที่ผ่านมาคือทำลายสถาบันการเมือง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”

ธงชัยกล่าวด้วยว่า สังคมไทยมีแนวโน้มน่าวิตกอีกประการคือ นอกจากทำลายสถาบันแล้วยังกลับไปยึดติดกับตัวบุคคลมากขึ้นอีกอย่างน่ากลัว การใช้ ม.44 คือการบอกว่าขึ้นอยู่กับผู้นำ จะว่ายังไงก็ว่าไป ไม่มีหลักมีเกณฑ์ จนกลายอย่างผิดพลาดเอง

ชวนร่วมภารกิจรื้อฟื้นประเทศไทย ด้วยมือคนเล็กคนน้อย

ในทางเศรษฐกิจ ศ.ธงชัย มองว่าจะอยู่ในภาวะซึมยาวและตกต่ำลงทุกด้าน อย่าโทษเขามากเกินไป 4 ปีที่ผ่านมามันมหาศาล เป็นกราฟรูปตัว L ซึมยาวคือลงและไม่ตายนะครับ และไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยทั้งหมดทุกๆ ด้านจะลงเป็นตัว L คือทุกวันนี้ผมไม่ได้มีกำลังใจให้ใครเพราะผมไม่ได้เสียกำลังใจมากมาย แต่เป็นสภาพความจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย กระบวนการทางกฎหมายต่อให้เราเริ่มรื้อฟื้นแต่ก็จะพูดกันอีกยาว สู้กันอีกนาน และประเทศไทยไม่หล่นหายไปจากแผนที่หรอกครับไม่ต้องกลัว ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์เขากลัวประเทศไทยจะหล่นหายไปจากแผนที่ แต่ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะฐานของตัว L ยาว ต่อให้มีการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นภารกิจที่สำคัญก็คือการต้องก่อร่างสร้างตัวกันใหม่

“เหมือนจะพูดให้หมดหวัง แต่ก็เป็นธรรมดาที่โลกต้องเผชิญ ยุคต่อไปฟื้นตัว ก่อร่างสร้างตัวได้ก็บุญแล้ว แต่ไม่ว่าใครมาเป็นผู้นำพรุ่งนี้มะรืนนี้ก็อย่าคาดหวังสูง อย่าโทษเขามากเกินไป มันอีกนาน ความเสียหายอันเนื่องมาจาก 10 ปีที่ผ่านมา หรือ 4 ปีที่ผ่านมามันมหาศาล ก็ฝากกำลังใจ ความมุ่งมั่น ถ้าท้อผมก็ไม่ว่าอะไร ถ้ายังมีความมุ่งมั่นอยากอุทิศ ความพยายามรื้อฟื้นขึ้นมา เราก็มาร่วมกัน ลงมืออีกสักยกเท่าที่จะทำได้ ในภาวะที่เราเดินช้าทุกที ผมเดินในถนนผมก็สงสัยว่าคนสมัยนี้ทำไมเดินเร็วนักวะ ผมก็เจอว่าไม่หรอก ผมเดินช้าลง ในภาวะของเราแบบนี้ ทำเท่าที่กำลังเราไหวเท่าที่เราจะมีแรง"

"และถ้าข้อความนี้ไปถึงคนรุ่นหลัง คนรุ่นลูกรุ่นหลาน พวกคุณมีภารกิจสำคัญรออยู่ข้างหน้า ภารกิจนี้คือภารกิจรื้อฟื้นประเทศไทย พยายามก่อร่างสร้างสถาบันขึ้นมาอีกครั้งเถอะ ในภาวะปัจจุบันเราไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เรากลับเห็นทิศทางที่น่ากลัวคือการไปอิงกับตัวบุคคลมากไป ปล่อยให้อำเภอใจของคนจำนวนน้อยไม่ว่าวงการไหน ทั้งข้างบนจนถึงข้างล่าง ราวกับว่าประเทศไทยจะเดินไปได้ด้วยผู้รู้ดีจำนวนน้อยเหล่านั้น แม้กระทั่งทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โลกแตกหน่วยทางเศรษฐกิจย่อยๆ ลงมาเพื่อจะสร้างพลวัตรสูง แต่ประเทศไทยโครงการประชารัฐ โครงการอะไรต่างๆ ที่เขาพูดถึง 4.0 กลับทำให้เกิดความร่ำรวยและธุรกิจต่างๆ โดยคนร่ำรวยที่คุณเห็นเป็นธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนนิดเดียว ส่วนคนระดับกลางถึงระดับล่างจมสนิท ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเหตุที่ไม่ลงเพราะข้างบนเขาดีขึ้น"

"นี่คือภาวะที่เราทุกคนต้องพยายามทำ แม้จะช้าไป 50 ปีนับจากยุคที่อาจารย์ของผมบอกว่าสังคมต้องก่อร่างสร้างสถาบัน เราไม่มีทางอื่น จะยุค 4.0 หรือสักวันจนถึงยุค 5.0 เท่าที่ผมมีความรู้ในขณะนี้จะบอกได้ก็คือเราต้องการการสร้างสถาบันที่ลงหลักปักฐาน ที่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่ใช่การปล่อยให้ประเทศไทยเดินไปตามอำเภอใจแบบนี้ และการพูดแบบนี้ไม่ใช่ประชด ขอย้ำเป็นครั้งสุดท้าย นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเป็นในระยะ 10 กว่าปี โดยเฉพาะในระยะ 4-5 ปีที่่ผ่านมา ซึ่งมันควรจะเป็นตรงกันข้าม เรากลับเดินไปอีกทางหนึ่งซึ่งมันผิด”

"ได้เวลาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ ไม่รู้ล่ะว่าเมื่อไหร่ แต่เราต้องเล็งต้องพยายาม และถ้าเห็นแก่ประเทศชาติ เห็นแก่เพื่อนร่วมสังคมไทย เห็นแก่เพื่อนคนทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ ภาพใหญ่นั้นไม่ใช่อยู่ในมือของคนรู้ดีจำนวนนิดเดียวหรือผู้มีบารจำนวนนิดเดียว แต่อยู่ในมือคนเล็กๆ ไม่ใช่เพื่อขึ้นมาเป็นใหญ่ แต่เพื่อก่อร่างสร้างสถาบันทางการเมือง ทางสังคมให้มันมีหลักมีเกณฑ์"

เรียบเรียงบางส่วนจาก VoiceTV และ PEACE TV
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.