แลรี่ ไดมอนด์
Posted: 22 Aug 2018 09:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-08-22 23:20
แลรี่ ไดมอนด์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชื่อดัง วิเคราะห์ สถานการณ์ประชาธิปไตยย่ำแย่ทั่วโลก จำนวน-มาตรฐานประเทศประชาธิปไตยลดลงในวันที่สหรัฐฯ - ยุโรปรามือ แต่จีน-รัสเซียโดดเด่น เปิดหลัก 12 ประการของเผด็จการ ผลร้ายของโซเชียลมีเดีย ระบุ เผด็จการพลเรือนหรือทหารก็เผด็จการเหมือนกัน
22 ส.ค. 2561 สถาบันพระปกเกล้าจัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร” บรรยายโดย ศ.แลรี่่ ไดมอนด์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันฮูเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เจ้าของหนังสือ In Search of Democracy ที่เขียนวิเคราะห์สถานการณ์ของระบอบประชาธิปไตยในระดับโลกในเชิงคุณภาพและความมีประสิทธิภาพของระบบธรรมาภิบาล
ว่าด้วยคุณภาพประชาธิปไตย แนวโน้มโลกที่ถดถอยมาแล้ว 12 ปี
แลรี่เน้นย้ำว่า เมื่อนึกถึงประชาธิปไตยนั้นจะไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งถือเป็นขั้นต่ำ ประชาธิปไตยคือการมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ประชากรสามารถเลือกและถอดถอนคนที่เลือกได้ กล่าวคือ อธิปไตยของประชากรคือองค์ประกอบขั้นต่ำสุด แต่ประชาธิปไตยในระดับที่มีคุณภาพสูงขึ้นหรือที่ตนเรียกว่าประชาธิปไตยเสรี (Liberal Democracy) จะต้องมีรัฐบาลที่เคารพสิทธิของเสียงส่วนน้อย เสรีภาพของปัจเจก กลุ่ม องค์กร เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงมีธรรมาภิบาล มีองค์กรอิสระตรวจสอบหลายด้าน มีการตรวจสอบและคานอำนาจเพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ
นักวิชาการอาวุโสชื่อดังยังให้ข้อมูลเรื่องระดับเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ลดลงในภาพรวมของโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีประชาธิปไตยของฟรีดอมเฮาส์ เอ็นจีโอที่ทำดัชนีจัดอันดับประชาธิปไตย สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองของประเทศต่างๆ ในโลกมาตั้งแต่ปี 2515 พบว่าการขยายตัวของประชาธิปไตยในช่วงปี 1974 - 2017 ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามบริบทโลก ช่วงกลางปี 2513-2523 จำนวนประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนค่อยๆ กลายสภาพเป็นประชาธิปไตยทั้งในแบบ ในช่วงปี 2531 จำนวนประเทศเกือบ 1 ใน 3 ในโลกเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนำมาซึ่งการกลายสภาพช่วงปี 2532 ไปจนถึงทศวรรษ 2540 เกิดกระแสการขยายตัวของประชาธิปไตยอย่างมากในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ แม้หลายประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ประเทศเหล่านั้นก็ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ หลักนิติรัฐ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยแบบเสรี มีหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของประชาธิปไตยกับเสถียรภาพประชาธิปไตย การรัฐประหารทั้งที่เกิดด้วยน้ำมือทหารและฝ่ายบริหารมักเกิดในประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ว่าจะเกิดจากทหารหรือฝ่ายบริหาร ช่องว่างนี้น่ากังวลเพราะมันแสดงให้เห็นว่า โอกาสความล้มเหลวของประชาธิปไตยนั้นสูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวของประชาธิปไตย
ดัชนีของฟรีดอมเฮาส์ในปี 2549 ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของประชาธิปไตยหยุดลงและค่อยๆ ลดลง หลังจากนั้นก็อยู่ในช่วง 12 ปีซึ่งตนเรียกช่วงดังกล่าวว่าเป็นช่วงประชาธิปไตยตกต่ำ จำนวนประชาธิปไตยที่ล้มเหลวมีมากกว่าการเปลี่ยนผ่านที่สำเร็จ การเคารพสิทธิทางการเมือง หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชนน้อยลง คำถามก็คือ ตอนนี้การตกต่ำของประชาธิปไตยได้ไต่ไปถึงระดับที่เรียกว่าวิกฤติประชาธิปไตยแล้วหรือยัง
แลรี่พูดถึงองค์ประกอบที่เป็นทิศทางด้านลบของสภาพประชาธิปไตยในโลกว่ามีหลายประการ ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความเป็นเสรีประชาธิปไตยน้อยลง ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเมื่อการเลือกตั้งนำมาซึ่งการเถลิงอำนาจของผู้นำสายเผด็จการนิยมเช่นในฟิลิปปินส์ บราซิล เปรู ส่วนบางประเทศนั้นประชาธิปไตยก็ล้มเหลวลง เช่น ฮังการี ตุรกี ไทย บังกลาเทศ แซมเบีย และมีประเทศที่มีระบอบเผด็จการแบบแข่งขัน หมายความว่า เหมือนจะมีการแข่งขัน เหมือนจะมีประชาสังคมตรวจสอบแต่ก็มีพรรครัฐบาลนำอย่างเดียวแถมยังตัดประสิทธิภาพการแข่งขันของฝ่ายค้าน เช่น กัมพูชา อูกันดา ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ สหรัฐฯ และเกรงว่ารวมถึงยุโรปด้วย ไม่ได้ลุกขึ้นมีท่าทีกับระบอบที่กดขี่อย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน เผด็จการทั่วโลกอย่างเช่นในอูกันดาและกัมพูชาเห็นเช่นนั้นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่มีใครมากดดัน และมีอิสระในการปกครอง จัดการฝ่ายค้านได้
- เลือกตั้งกัมพูชา 101: ใครเป็นใครในมหกรรมเข้าคูหาที่อาจไม่เสรี-ไม่แฟร์
- ถอดบทเรียนลิเกเลือกตั้งกัมพูชา ประชาธิปไตยที่อาจไม่หวนคืน
แลรี่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ความศรัทธาของประชาชนต่อประชาธิปไตยและโครงสร้างภายใต้ระบอบประชาธิปไตยน้อยลงจากความล้มเหลวของระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ภาวะขาดการตรวจสอบและคานอำนาจ การเกิดขั้วของคนที่มีแนวคิดหรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ได้มีน้ำอดน้ำทันซึ่งกันและกัน ไปจนถึงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยล้มเหลวทั้งสิ้น
เผด็จการก้าวขึ้น ประชาธิปไตยก้าวลง
ในประเด็นการผงาดขึ้นมาของรัฐเผด็จการอย่างรัสเซียและจีน แลรี่กล่าวว่า จีนและรัสเซียมีความพยายามในการขยายอำนาจทั้งในด้านภาพลักษณ์เชิงบวกผ่านวัฒนธรรม (Soft Power) และอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ตอนนี้จีนขยายตัวทางวัฒนธรรมหลายด้าน เช่น ให้ทุนมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้มีการจัดสอนภาษาจีน แต่การรับทุนก็มีข้อบังคับคือนักเรียนภาษาจีนห้ามพูดเรื่องธิเบตหรือซินเจียง จัดตั้งสถาบันขงจื่อเพื่อโปรโมตด้านบวกของจีน มีการสร้างสื่อของรัฐ ซื้อสตูดิโอหนัง สื่อ หรือบริษัทไอทีของสหรัฐฯ ส่วนทางรัสเซียก็มีความพยายามแฮ็กฐานข้อมูลงานการเมือง ใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นอาวุธ ปั่นป่วนโลกโซเชียลมีเดียเพื่อทำสร้างสงครามข้อมูลข่าวสารกับสหรัฐฯ
หลัก 12 ข้อของระบอบเผด็จการตามคำบรรยายและสไลด์ของแลรี่
- ทำลายความชอบธรรมของฝ่ายที่คัดค้าน
- บ่อนทำลายความเป็นอิสระของศาล
- บ่อนทำลายความเป็นอิสระของสื่อ
- ควบคุมระบบสื่อสารของรัฐ
- ควบคุมเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต
- กดปราบภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ มหาวิทยาลัย และกลุ่มนักคิด - Think Tank)
- ข่มขู่ให้ภาคธุรกิจยอมจำนน
- ทำให้นายทุนที่เป็นพวกของตนร่ำรวยขึ้น
- ขยายขอบเขตการควบคุมทางการเมืองไปสู่ภาคส่วนราชการและความมั่นคง
- โกงกติกาการเลือกตั้ง
- ใช้อำนาจควบคุมหน่วยงานจัดการเลือกตั้ง
- ทำข้อ 1-11 ซ้ำอย่างเอาจริงเอาจังยิ่งๆ ขึ้นไป
ในทางกลับกัน ภาวะคุณค่าประชาธิปไตยและความมั่นใจในตัวเองของสหรัฐฯ และยุโรป ถดถอยลง ซึ่งแลรี่วิเคราะห์ว่ามีสาเหตุจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นทั้งระหว่างชนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม ไม่มีความมั่นคงในทางวัฒนธรรม สูญเสียอธิปไตยเมื่อโลกาภิวัฒน์ทำให้สินค้า ข้อมูลและมนุษย์เลื่อนไหลอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ไปจนถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะกดดันประเทศที่มีระบอบเผด็จการนิยมลดน้อยลง ทั้งหมดนี้ทำให้กระแสไม่พอใจประชาธิปไตยในสหรัฐฯ มีมากขึ้น ซึ่งเขาเห็นว่าสหรัฐฯ ชาติพันธมิตรทั้งในซีกโลกตะวันตกและที่อื่น เช่น ญี่ปุ่น ไม่สามารถลดบทบาทอิทธิพลทางแนวคิดระบอบประชาธิปไตยลงได้ เพราะการลดบทบาทที่สวนทางกับการขึ้นมาของจีนจะทำให้การถดถอยของประชาธิปไตยยิ่งย่ำแย่ลง
คนไม่พอใจเสรีนิยมเยอะขึ้น + โซเชียลมีเดีย = อยู่ใครอยู่มันมากขึ้น น้ำอดน้ำทนน้อยลง
แลรี่กล่าวถึงอีกหนึ่งกระแสที่สะท้อนความถดถอยของประชาธิปไตยคือ การเพิ่มขึ้นของประชาชนที่ไม่เอาแนวคิดเสรีนิยม ต่อต้านชนชั้นนำ ไม่ยอมรับความแตกต่างอันเป็นฐานรากของประชาธิปไตยแบบเสรีและไม่เอาโลกาภิวัฒ นอกจากนั้น การกำเนิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้พื้นที่สื่อที่มีร่วมกันหายไป สื่อกระแสหลักไม่ใช่คนกำหนดการรับรู้เพียงผู้เดียวแล้ว ไม่มีฉันทามติใดๆ บนข้อมูลหนึ่งชุด ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วจะมีการสานเสวนาด้านการเมืองหรือนโยบายอย่างไรถ้าแต่ละคนยังเชื่อข้อเท็จจริงคนละชุด การทำงานของประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่ลำบาก
อีกทั้งระบบจัดการข้อมูลในโซเชียลมีเดียทำให้คนเห็นแต่ข้อมูลที่ตัวเองเห็นด้วยหรือที่เรียกว่าห้องเสียงสะท้อน (Echo Chambers) กลายเป็นการตอกย้ำความเชื่อ ความคิดเห็นของตัวเอง แถมแรงจูงใจในการปล่อยข้อมูลที่สุดโต่งมีมาก เพราะการทำเช่นนั้นทำให้ไวรัลแล้วมีคนติดตามมากขึ้นมากกว่าการพูดข้อเท็จจริง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอยู่ใกล้กับสำนักงานของเฟซบุ๊กและกูเกิลและทางมหาวิทยาลัยได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอยู่เป็นระยะ ซึ่งก็พบว่าพวกเขากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่งบนคำถามว่า จะหารายได้จากโฆษณาอย่างไร และเมื่อรายได้โฆษณาขึ้นอยู่กับว่ามีผู้ชมโฆษณากี่คนในแบบที่คล้ายกับสื่อวิทยุโทรทัศน์ โมเดลทางธุรกิจของสื่อโซเชียลจึงกลายเป็นการสร้างความสนใจผ่านแพลตฟอร์ม ด้วยฐานที่อยากให้ผู้ชมติดอยู่กับเนื้อหาที่นำเสนอบนแพลตฟอร์มมากที่สุด แต่การทำเช่นนั้นก็กลายเป็นการทำให้มีเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจผ่านความรุนแรง ข้อมูลเท็จ ความเห็นที่เข้มข้นสุดโต่ง และนั่นเป็นการทำให้ขั้วของความเห็นที่ต่างกันเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเขาเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อบนในยุคโซเชียลมีเดียด้วย
ต่อคำถามของผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเผด็จการพลเรือนแย่กว่าเผด็จการทหาร แลรี่ตอบว่าเผด็จการก็คือเผด็จการไม่ว่าจะรูปแบบไหน โดยยกตัวอย่างตุรกี ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกาน ที่ปัจจุบันไล่ข้าราชการทหารและพลเรือนออกถึง 130,000 คนเพราะกลัวว่าอำนาจตัวเองจะถูกโค่นล้ม มีนักโทษการเมืองติดคุกอีกหลักพัน ส่วนตัวไม่ได้เห็นชอบกับการที่ไทยมีรัฐบาลทหารและหวังว่าระบอบรัฐบาลทหารในไทยจะจบลงแล้วไม่เกิดขึ้นอีก คิดว่าคนไทยและกองทัพก็รู้ว่ารัฐบาลทหารไม่สามารถปกครองประเทศได้ตลอดไป
แสดงความคิดเห็น