ภาพชุมนุมต้านรัฐประหารที่สนามเป้า 24 พฤษภาคม 2557 (แฟ้มภาพ ประชาไท)

Posted: 21 Aug 2018 06:16 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-08-21 20:16


คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 - พ.ร.บ.การชุมนุมฯ- ม.116 ยุยงปลุกปั่น - ม.215 มั่วสุมก่อความวุ่นวาย - พ.ร.บ.จราจรทางบก - พ.ร.บ.ทางหลวง – อั้งยี่ - พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องขยายเสียง ถูกใช้ห้ามชุมนุมหรือดำเนินคดีกับคนจัดชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ‘ไอลอว์’ ชี้อาจผิดมากกว่าหนึ่งข้อหา ขึ้นกับการตีความตามอำเภอใจของ จนท.รัฐ เหตุเงื่อนไขกว้างขวาง ไม่มีขอบเขต

21 ส.ค.2561 เฟสบุ๊กแฟนเพจ ‘iLaw’ ของ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ ไอลอว์ เผยแพร่ข้อมูล การรวบรวม กฎหมายและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เจ้าหน้าที่เลือกหยิบมาใช้เพื่อห้ามการชุมนุม หรือเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่จัดการชุมนุมอยู่หลากหลายมาก

ไอลอว์ แสดงความเห็นว่า การชุมนุมหนึ่งครั้ง ที่แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธก็อาจทำให้ผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมถูกตั้งข้อหาได้มากกว่าหนึ่งข้อหา ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความและอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จนประชาชนที่จะใช้เสรีภาพการชุมนุมไม่สามารถคาดหมายได้ว่า จะชุมนุมแบบใดจึงไม่ผิดต่อกฎหมาย และผู้ต้องหาไม่มีสิทธิที่จะเลือกด้วย มีสิทธิเพียงให้การปฏิเสธและไปต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ดี การชุมนุมแต่ละครั้งหากถูกตั้งข้อกล่าวหามากกว่าหนึ่งข้อหา ก็อาจจะถูกศาลตีความว่า เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และถ้าเป็นความผิดก็จะลงโทษตามฐานความผิดที่มีโทษสูงสุดเพียงบทเดียวก็ได้ แต่การที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการชุมนุมมากมาย ทำให้เสรีภาพในการชุมนุมที่แม้จะถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับถูกจำกัดได้ด้วยเงื่อนไขที่กว้างขวาง ไม่มีขอบเขต

1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

ข้อ 12 กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529

โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถูกใช้บ่อยครั้งเพื่อตั้งข้อหาแก่การชุมนุมของประชาชนหลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจ โดยตั้งแต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 บังคับใช้เป็นต้นมา การชุมนุมหลายครั้งที่ปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลับถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. และสั่งไม่อนุญาต รวมถึงใช้กำลังเข้าขัดขวาง และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ก็ถูกตำรวจสน.ดุสิต ตอบกลับว่า เห็นควรงดจัดกิจกรรมที่อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 หรือการชุมนุมของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรง บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือนกันยายน 2560 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ก็ถูกตำรวจสน.ดุสิต ตอบกลับว่า อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12

ทั้งนี้ไอลอว์ได้มีการรณรงค์ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. รวมทั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ด้วย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ilaw.or.th/10000sign



2. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558


เป็นกฎหมายที่ควรจะเป็นบทหลักในการจัดการชุมนุม ออกมาในยุค คสช. และบังคับใช้โดย คสช. กฎหมายนี้มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง สั่งให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจในท้องที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ ห้ามก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ห้ามพกอาวุธ ห้ามปิดบังใบหน้า ห้ามข่มขู่ให้เกิดความกลัว ห้ามเคลื่อนขบวนตอนกลางคืน ฯลฯ โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ มีปัญหามาก หลักใหญ่ใจความคือการบอกว่าต้องแจ้งให้ทราบก่อนการชุมนุม แต่ว่าเมื่อแจ้งให้ทราบแล้วเจ้าหน้าที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นคำว่า “แจ้งให้ทราบ” จึงเป็นคำที่ไม่จริง จริงๆ แล้วคือระบบการขออนุญาต การขออนุญาตก็มีปัญหาเพราะหลักการในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตยังไม่ชัดเจนมากนัก ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการไม่อนุญาตจะมีเหตุผลว่าขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 กลายเป็นว่าไปเอากฎหมายอื่นมาอ้าง แม้จะทำถูกต้องตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะแล้วก็ตาม ดังนั้นระบบการแจ้งให้ทราบจึงเพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นคนอนุญาตหรือไม่อนุญาต เพียงแค่รับรู้และมาดำเนินการอำนวยความสะดวกการชุมนุมก็เพียงพอแล้ว

ส่วนเรื่องการห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐ ส่วนตัวคิดว่าโอเค มองในแง่การอารยะขัดขืน การอารยะขัดขืนก็สามารถทำผิดกฎหมายได้ หรือรัศมี 150 ก็คิดว่าเป็นระยะที่ไกลเกินไปหน่อย

ยิ่งชีพ ชี้ว่า กรณีที่มีปัญหามากอีกกรณีคือห้ามปกปิดใบหน้า ซึ่งเข้าใจคนร่างกฎหมายว่าพอปกปิดใบหน้าแล้วคนจะกล้าทำอะไรที่เสี่ยงมากขึ้น และการมาชุมนุมสาธารณะก็ควรจะพร้อมแสดงออกมาตัวเองเป็นใคร สนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้อย่างไร แต่ก็มีสาเหตุบางอย่าง เช่น อากาศร้อน หรือมีความอ่อนไหวบางอย่างในการชุมนุมบางประเภทที่ไม่อยากเปิดเผยตัว หรือบางทีใช้สัญลักษณ์ เช่น หน้ากาก หรือเร็วๆ นี้ก็มีการชุมนุมที่เกาหลีใต้รณรงค์ห้ามแอบถ่าย คนที่มาชุมนุมหลายพันคนก็ปิดหน้าหมด ก็สามารถทำได้ ดังนั้นการห้ามปิดหน้าในประเทศไทยจึงเป็นปัญหา

3. มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

กำหนดว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ไอลอว์ ชี้ว่าสถิติของผู้ถูกตั้งข้อหานี้ในปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 27 คดี ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เช่น แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือ วัฒนา เมืองสุข โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับประเด็นการดำเนินคดีต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และอาจเป็นเหตุให้ประชาชนเข้าใจว่า คสช. อาศัยอำนาจของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีกับวัฒนาฯ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

4. มาตรา 215 ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย

กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยิ่งชีพ อธิบายว่า มาตรา 215 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะมี พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ก่อนที่จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ซึ่งหากใช้ให้ถูกจริงๆ อาจใช้กับพวกแก๊งค์ก่อกวนเมือง รวมตัวเอะอะโวยวาย ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ แต่มาตรานี้ก็ถูกนำมาใช้กับการชุมนุมแสดงความคิดเห็นอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อปี 52 ถูกใช้ในการรวมกลุ่มของแรงงานไทรอัมพ์เรียกร้องการขึ้นค่าจ้าง หรือคดีปีนสภาเมื่อปี 2551 แต่ศาลก็ตัดสินว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ก่อความไม่สงบจึงไม่ถือเป็นความผิด

ในยุค คสช. ตอนที่เพิ่งยึดอำนาจ มีการใช้มาตรา 215 ควบคู่ไปกับการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/57 ก่อนที่จะกลายมาเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่หลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 215 ก็ไม่ได้ถูกใช้ จนกระทั่งกลับมาใช้กับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

ยิ่งชีพ เห็นว่า ปัจจุบันมาตรา 214 นั้นถูกเขียนไว้กว้างเกินไป เลยกลายเป็นข้อหาที่ใช้กับการชุมนุมสาธารณะได้ทุกครั้ง เพราะเขียนว่า “ก่อให้เกิดความไม่สงบ” จึงต้องมาสู้กันว่าสงบหรือไม่ เพราะเวลาชุมนุมก็ต้องเสียงดังอยู่แล้ว มีการใช้เครื่องเสียง มีการเดิน ซึ่งจะให้สงบร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้

5. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่
เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน

(2) แถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด

มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางเท้าหรือทางใด ๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

6. พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535


มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล มีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ยิ่งชีพให้ความเห็นว่า ทั้งสองอย่างนั้นมีโทษไม่หนัก หากดูจากเจตนารมณ์ทางกฎหมายคือการป้องกันไม่ให้มีใครมากีดขวางทางจราจร ซึ่งยังเห็นด้วยว่ามีเหตุผลที่กฎหมายทั้งสองตัวนี้จะยังอยู่ ยังไม่ควรต้องถูกยกเลิก แต่ในกรณีการชุมนุมถ้าว่ากันตามหลักแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกไม่ให้กระทบการจราจร ถ้าการจราจรติดขัดครึ่งหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ พ.ร.บ. จราจรทางบกและทางหลวงก็กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เจ้าหน้าที่หยิบเอามาใช้กับการชุมนุมที่เดินบนถนน แต่ก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี กรณีที่เขาไม่อยากจะเอาผิดเพราะอาจมีการประสานงานจัดการกันเรียบร้อยดี เช่น ตอนที่ P-move เดิน ก็ไม่โดน

7. ความผิดฐานเป็นอั้งยี่

มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้นผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

- ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

- มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

“คณะบุคคล” คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

“สมาชิก” ต้องมีสิทธิในที่ประชุม (ร่วมปรึกษาหารือลงคะแนนเสียง)

ยิ่งชีพ เสนอเพิ่มเติมว่า ข้อหาอั้งยี่เป็นความผิดที่หากพูดง่ายๆ คือเขียนเพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ สมัยที่คอมมิวนิสต์มีความพยายามรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหว พอในยุคนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว การคงข้อหานี้ไว้ก็ค่อนข้างถูกเอามาใช้หว่านแหจัดการกับการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไม่แน่ใจว่าควรยกเลิกหรือไม่ แต่ควรจะต้องปรับปรุงให้ถูกตีความได้แคบกว่านี้ ไม่ให้ถูกเอามาใช้กับการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิที่ควรจะทำได้

8. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

มาตรา 4 กล่าวว่า ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า จะต้องขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงทำการโฆษณาได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับอนุญาต และให้มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขลงในใบอนุญาตว่าด้วยเวลา สถานที่ และเครื่องอุปกรณ์ขยายเสียงและผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดนั้น

ยิ่งชีพ เห็นว่า การบอกว่าหากจะใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะต้องไปขออนุญาตก่อนนั้น กระทบต่อการชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งใช้เครื่องขยายเสียงด้วย และหากเป็นการชุมนุมที่คัดค้านรัฐบาลไปขออนุญาตก็คงไม่ได้รับอนุญาต จึงสามารถโดนข้อหาเครื่องขยายเสียงนี้ได้เช่นกัน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.