Posted: 20 Aug 2018 02:11 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-20 16:11

ภาพโดย Banrasdr Photo

‘ไสว ทองอ้ม’ คนเสื้อแดงเหยื่อกระสุนปี 52 ร้องกรรมการสิทธิฯ ช่วยเจรจายกเลิกบังคับคดีอายัดเงินและที่นา ด้าน ‘อังคณา’ จ่อส่งข้อเรียกร้องต่อไปยังกองทัพ ชี้กองทัพมีนโยบายสร้างความสมานฉันท์กับคนในชาติ พูดคุยไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่ายเป็นทางออกที่ดีที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ไสว ทองอ้ม คนเสื้อแดงเหยื่อกระสุนจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 52 พร้อมด้วยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยนำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโดยมี อังคณา นีละไพจิตรเป็นตัวแทนเข้าร่วมการรับเรื่องร้องเรื่อง และถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ๊กของสมยศในชื่อ Somyot Pruksakasemsuk

ไสว เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาโดนยิงเมื่อปี 2552 ยืนยันว่าได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อได้รับบาดเจ็บจึงต้องมีผู้รับผิดชอบและได้ตัดสินใจฟ้องร้องกองทัพ ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินให้ชนะคดี โดยให้ทางกองทัพไทยกับกองทัพบกร่วมกันจ่ายเงินค่าเสียหาย เป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่เมื่ออัยการอุทธรณ์ ผลการตัดสินชั้นศาลอุทธรณ์ก็ให้ฝ่ายกองทัพชนะ ให้เหตุผลว่า ลูกปืนที่ยิงเป็นลูกปืนพก ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกปืนนี้มาจากไหน ใครเป็นคนยิง และต่อมาศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รวมทั้งให้จ่ายค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายแก่ฝ่ายกองทัพด้วย


อังคณา ถามถึงเงินเยียวยาของรัฐบาลว่าไสวได้รับหรือไม่ ไสวเล่าว่าได้รับเงินเยียวยาจากกรมพัฒนาสังคมช่วงที่บาดเจ็บและนอนโรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

สมยศ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากคดียังอยู่ในชั้นศาล และส่วนใหญ่แล้วคนที่ได้รับเงินเยียวยาคือผู้ที่เสียชีวิตแล้ว และสมยศกล่าวเสริมว่าเงินที่ต้องชำระคือเงินที่กองทัพจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งค่าธรรมเนียมศาลนั้นมีเป็นปกติอยู่แล้วเมื่อมีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับเงิน

ทั้งนี้ ไสว ขอให้อังคณาช่วยเจรจากับทางกองทัพเพื่อให้กองทัพยกเลิกการบังคับคดีอาญัติทรัพย์สินของตน ซึ่ง อังคณา กล่าวว่า จะส่งเรื่องร้องเรียนนี้ต่อไปยังกองทัพ และหวังว่าจะให้มีการคุยระหว่างฝ่ายไสวและฝ่ายกองทัพ

อังคณา ให้สัมภาษณ์ต่อว่า ตามปกติเวลามีผู้มาร้องเรียน ทาง กสม. ต้องพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสม. หรือไม่ หากอยู่ก็จะรีบดำเนินการ อย่างกรณีนี้ในฐานะ กสม. เมื่อคดีนี้สิ้นสุดในศาลแล้ว กสม. ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายศาล แต่จะดูว่าทำอย่างไรในเรื่องของการบังคับคดี ซึ่งในฐานะของ กสม. สิ่งที่ทำได้คือการส่งข้อเรียกร้องของคุณไสวไปยังกองทัพ เพื่อให้กองทัพได้พิจารณาทบทวนในเรื่องของการอายัดทรัพย์สิน

อังคณา ชี้ว่า เรื่องนี้ทางไสวก็ยืนยันว่าการที่มาชุมนุมคือการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย และในสถานการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรง เมื่อมีผู้บาดเจ็บก็ต้องมีคนรับผิดชอบ เมื่อเชื่อมั่นว่ากระสุนมาจากฝั่งทหารก็ทำให้มีการฟ้องร้องทางกองทัพ แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาแบบนี้ก็ทำให้ไสวอยู่ในสถานะยากลำบาก ถูกยึดทั้งเงินในธนาคารและที่นา

อังคณา กล่าวต่อว่า ในขั้นตอนของการบังคับคดี กรมบังคับคดีก็ได้ให้เวลาทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องในการพูดคุยกัน ซึ่งมีหลายกรณีที่สามารถเจรจายกเลิกการบังคับคดีหรือลดหย่อน ซึ่งทางไสวก็พร้อมที่จะเจรจาพื่อที่จะหาทางออก และทางกองทัพเองก็มีนโยบายสร้างความสมานฉันท์กับคนในชาติ จึงคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นการพูดคุยหารือกัน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.