Posted: 16 Aug 2018 09:34 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-08-17 11:34


สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาแนวทางการจัดการน้ำวิธีอื่น เพื่อหาแนวทางการจัดการน้ำที่เหมาะสมและยั่งยืน เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 สมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร โดยมีเนื้อหาระบุว่าจากการเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนในนามกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ในการเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อคัดค้านขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ ซึ่งทางจังหวัดจะนำข้อสรุปการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค. 2561 นี้ ที่ จ.ชุมพร ซึ่งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (การบริหารจัดการน้ำ) ทางจังหวัดชุมพรจะเสนอโครงการทบทวนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะ (เขื่อนท่าแซะ) ในวงเงินงบประมาณ 3,800 ล้านบาท หน่วยงานที่เสนอคือ โครงการชลประทานชุมพรโดยไม่สนใจความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม และทางเลือกในการจัดการน้ำที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ห่วงกังวลต่อปัญหาด้านผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ทำกินและพื้นที่ที่อยู่อาศัยของราษฎรมากกว่า 400 ครอบครัว และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นป่าฝนต้นน้ำแหล่งสุดท้ายของจังหวัดชุมพร ที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร และโอกาสความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวที่จะทำให้เขื่อนกลายเป็นภัยพิบัติร้ายแรงเนื่องจากพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ และอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนระนอง ซึ่งรอยเลื่อนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ปี 2555 เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์มาแล้ว แต่ครั้งนั้นโชคดีที่มีความลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ 10 กิโลเมตร จึงไม่ได้สร้างความเสียหายมาก โดยนักธรณีวิทยาเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนระนองดังกล่าวเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสุมาตราที่ยังมีพลังอยู่ และโครงการเขื่อนท่าแซะยังไม่มีรายงานผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใดๆ อีกด้วย

สมัชชาคนจนขอให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาแนวทางการจัดการน้ำวิธีอื่น เพื่อหาแนวทางการจัดการน้ำที่เหมาะสมและยั่งยืน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม เช่น การขุดลอกขยายคลองชลประทานเพื่อเร่งระบายน้ำ หรือ การวางแผนกำหนดผังเมืองเพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางน้ำ ไม่ใช่อ้างการสร้างเขื่อนท่าแซะแต่เพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจากบทเรียนการสร้างเขื่อนของสังคมไทยที่ผ่านมา เห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมรอบด้าน นอกจากเขื่อนจะไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแล้ว เขื่อนกลับเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนซ้ำซากให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จนไม่อาจฟื้นฟูเยียวยาให้ทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมา เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนและผู้คนได้ วาทกรรมของคำว่าการพัฒนาที่มองไม่เห็นหัวของราษฎรในพื้นที่ จึงไม่อาจก่อให้เกิดความคุ้มค่าใดๆ ได้อีกต่อไป

สมัชชาคนจนในนามองค์กรภาคประชาชนของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ในการปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชน โดยขอให้ทบทวน ชะลอ หรือยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ ที่จะส่งผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่ โดยให้นำเรื่องดังกล่าวออกจากข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่จะนำเสนอต่อ ครม.สัญจรระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค. 2561 นี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดโครงการที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับแนวนโยบายการพัฒนาของรัฐ บนฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐ กับฐานทรัพยากรอาหารในวิถีการดำรงชีพของชาวบ้าน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.