Posted: 21 Aug 2018 01:52 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-08-22 03:52


คณะกรรมการสรรหามีมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 คน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ผู้เคยยืนยันสิทธิให้ ‘ไผ่ ดาวดิน’ สอบวิชาสุดท้ายในคุก และระบุว่าการจับกุมคนอยากเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล ติดโผด้วย

21 ส.ค. 2561 คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด สมชาย หอมลออ สุนี ไชยรส และอมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร ผู้แทนสภาทนายความ สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และสุริชัย หวันแก้ว อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคัดสรรและลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 จากรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 29 คน

ผลปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคัดสรรและลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. จำนวน 7 คน ประกอบด้วย

1.บุคคลผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน จำนวน 2 คน คือ


สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ

หนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่สมศรีได้เคยเรียกร้องในฐานนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ คือ การกระจายอำนาจตำรวจ โดยเสนอปรับเปลี่ยนตำรวจไปสังกัดในระดับจังหวัด เพื่อให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพ แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ขึ้นอยู่กับอัยการ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการทำงานของตำรวจที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น และเชื่อว่าจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้

ก่อนหน้านี้สมศรี เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร ที่ Asian Network for Free Elections ( Anfrel Foundation) ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองปี 2553 เธอเคยออกแถลงการณ์เสนอ ทางออกและแผนการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ให้กับให้กับรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นอกจากนี้เธอยังเคยเป็น รองประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยซึ่งแสดงจุดยืนต่อโทษประหารว่า ไม่ใช่การลงโทษ แต่คือการก่ออาชญากรรม อย่างถูกกฎหมาย


อันเฟรลเสนอทางออกและแผนการเลือกตั้ง ชี้วิน-วินทุกฝ่าย


ไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

นอกจากจะเป็นประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อันได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ไพโรจน์ยังเคยเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในช่วงหลังจาก กกปส. ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. ปี 2557 เขากล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะ “ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้ชุมนุม กปปส. จำนวนทำเสื้อลายป็อบคอร์น เพราะเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าผู้นำประเทศในเวลานั้นไม่มีภาวะผู้นำ เพราะไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้

เขายังเคยเป็น 1 ใน 8 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง (เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553) เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดที่มี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานแต่ได้ประกาศขอถอนตัวไป ทั้งที่ยังไม่ทันเริ่มทำงาน

หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ในช่วงใกล้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เขาประกาศจุดไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาเรื่องสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ถูกลดทอนลง องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ ในส่วนของบทเฉพาะกาลให้อำนาจ คสช. มากเกินไป


ข่าวสด:สัมภาษณ์ ไพโรจน์ พลเพชร ค้น"ความจริง-ตีแผ่"เหตุสลายม็อบ

2.บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา จำนวน 1 คน คือ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“กปปส. อ้างว่าเป็นขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย แต่การที่พวกเขาละเมิดสิทธิของผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง และการขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร” นี่คือคำพูดของจาตุรงค์ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 ช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งต่อมาถูกประกาศให้เป็นโมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญ จนที่สุดแล้วนำไปสู่การรัฐประหาร เวลานั้นเขาเป็น ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และได้ออกแถลงการณ์ ประณามการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

นอกจากนี้ในฐานะนักวิชาการเขาได้ทำวิจัยเรื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่พิมพ์เมื่อปี 2559 เพื่อเสนอกับคณะกรรมการสิทธิฯ


โครงการวิจัยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

3.บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จำนวน 1 คน คือ


บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายต้านการอุ้มหาย ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเอาผิด เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บังคับบัญชาหากรู้เห็นการบังคับสูญหาย และห้ามฟ้องหมิ่นประมาทผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่จนถึงวันนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฎในการพิจารณาของ สนช.

ขณะที่ย้อนหลังกับไปไม่นานเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ในเวทีเสวนา "ประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบน กับการกระจายอำนาจและการบริหารราชการแผ่นดินไทย" มองรัฐบาล 4 ปีผ่านไป อยากได้รัฐบาลแบบไหนเพื่อทำงานใน 4 ปีข้างหน้า? บุญแทน ได้แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 26 ปี สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐโดยชนชั้นนำ มีแนวโน้มที่จะหวงอำนาจ ไม่ยอมกระจายอำนาจเพราะมองว่าจะเป็นความสูญเสีย ดังนั้น ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทุกคนเท่าเทียมกันเพื่อมีส่วนร่วมตัดสินใจ


รายงาน: ชะตากรรม ร่าง กม.ต้านการอุ้มหาย ในมือ ‘ทหาร’

4. บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คน คือ


ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

เมื่อ 23 ก.ค. 2560 โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ นำเสนอ บทสัมภาษณ์ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ซึ่หลักใหญ่ใจความของเรื่องทั้งหมดคือการแสดงให้เห็นว่าของรักของหวงของเธอคือ เหรียญ หรือล็อกเกตต่างๆ ที่มีรูปรัชกาลที่ 9 เธอเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้แขวนพระเกจิชื่อดังต่างๆ มามาก “แต่ตั้งแต่แขวนล็อกเกตในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกันยังสร้างกำลังใจทำให้งานทุกอย่างราบรื่นไร้อุปสรรคไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นเลย ยามที่คิดงานหรือเหนื่อยล้าพระองค์ท่านคือแรงบันดาลใจช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จในการทำงานทุกครั้ง เชื่อว่าเป็นพลานุภาพคอยปกปักรักษาคุ้มครอง” เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น

ขณะที่เหตุการณ์ที่ทำให้เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงทั้งในแง่บวก และแง่ลบคือ หลังจากมีการจับกุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จัดการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธในวาระครบ 4 ปีรัฐประหารของ คสช. เพื่อท้วงถามถึงสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงือนไข เธอได้แสดงความคิดเห็นว่า “สิทธิในการแสดงออกหรือให้แสดงความเห็นรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นในเรื่องดังกล่าว แต่การแสดงออกทางความคิดเห็น หรือตามสิทธิ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่านั้นทุกคนมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน”

นอกจากนี้ในช่วงที่ ไผ่ ดาวดิน ถูกจับกุมจากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai ในช่วงที่ศาลยังไม่ตัดสินลงโทษจำคุก ไผ่ ได้พยายามยื่นขอประกันหลายครั้ง โดยหนึ่งในเหตุผลของประกันตัวคือ เขาต้องการออกไปสอบวิชาสุดท้ายในระดับมหาวิทยาลัยให้แล้วเสร็จ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เธอได้ทำหน้าที่ของอธิบดีกรรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยได้ประสานงานกับทางเรือนจำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดการสอบให้กับ ไผ่ ดาวดิน ในเรือนจำ


พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ก่อนหน้าที่ พรประไพ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอเป็นอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เคยทำงานในประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย

5. บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 คน คือ


สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

สุรพงษ์ กองจันทึก เป็นหนึ่งในนักพัฒนาเอกชนที่มีความเชียวชาญพิเศษในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสัญชาติ และยังเป็นผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา" เคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ผู้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหลายประการเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เช่น กะเหรี่ยง ลาหู่ อุรักลาโว้ย มอแกน ทั้งเรื่องการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการเลือกให้เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม.ดังกล่าวข้างต้น เป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอชื่อดังกล่าวต่อประธาน สนช.ต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.