Posted: 13 Aug 2018 04:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-13 18:36


เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
10 สิงหาคม 2561


ในช่วงวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง 10 กว่าปีที่นำไปสู่รัฐประหารสองครั้ง คำว่า “ประชาสังคม” เป็นคำที่น่ารังเกียจยิ่งนัก เพราะเหตุว่าองคาพยพของประชาสังคมไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนรัฐประหาร ก่อนหน้านั้นคำ ๆ นี้เป็นคำที่มีความหมายดี มีลักษณะ Uprising หรือสร้างพลังอำนาจต่อรองและคุณค่าให้กับภาคประชาชนในทุกมิติของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ฯลฯ เป็นคำที่ในแวดวงวิิชาการความรู้ในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนมีความคึกคักมาก มีวิชาสอนกันในห้องเรียนมหาวิทยาลัย มีการนำเสนองานวิจัยมากมายจากหลากหลายสาขาวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของประชาสังคมทั้งในฝั่งของประชาชนและฝั่งขององค์กรอิสระและรัฐ ทั้งนิยามความหมาย คุณค่า หลักการ อุปสรรคปัญหา ข้อด้อยข้อเด่น การเคลื่อนไหว ฯลฯ

คำ ๆ นี้มักมีคำที่มาคู่กันอีกคำหนึ่ง นั่นคือคำว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” หรือ Social Movement ในลักษณะที่ว่าประชาสังคมเป็นฝ่ายทำให้เกิดขึ้น สอดคล้องบริบทของสังคมไทยนั้นเมื่อนึกถึง “ประชาสังคม” มักมองเห็นแต่ปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองและชนบทจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ แต่มองไม่เห็นใบหน้าของชาวบ้านตาดำ ๆ ที่เป็นคนสร้างให้เกิดการเคลื่อนไหวด้วยการออกมาย่ำเดินบนท้องถนนด้วยสองมือสองเท้าของเขาเอง

ดังนั้น เมื่อเอาคำว่าประชาสังคมไปผูกติดกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงทำให้ไม่เห็นพลังของประชาชนที่เป็นคนยากคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ คนไร้อำนาจการต่อรองในสังคมที่เป็นผู้ก้าวเท้าลงบนท้องถนน แต่กลับมองเห็นแต่ใบหน้าของปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองและชนบทที่มีสติปัญญาทั้งส่วนที่ก้าวเท้าลงบนท้องถนน บางส่วนก็ไม่ (แต่มีความเห็นอกเห็นใจและร่วมต่อสู้กับคนยากคนจนและคนไร้พลังอำนาจต่อรองในสังคม) มีความเป็นเจ้าของประชาสังคมมากเสียจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นมาได้เองโดยลำพัง ส่วนประชาชนที่เป็นคนยากคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ คนไร้อำนาจการต่อรองในสังคมที่เป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนคือส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่ำเพราะเป็นกลุ่มคนไร้สติปัญญาที่ต้องคอยฟังการชี้นำ

ท่ามกลางนิยามความหมายที่แตกต่างหลากหลายของคำว่า “ประชาสังคม” ในประชาคมอาเซียน เพื่อนชาวพม่าบอกกับเราว่านับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาที่่พรรคเอ็นแอลดี[[1]]ของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จนทำให้ตัวเองได้ตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ[[2]] ประชาสังคมในพม่ารู้สึกผิดหวังกับซูจีและพรรคเอ็นแอลดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ซูจีและพรรคมองว่าภาคประชาสังคมในพม่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ เกือบสามปีที่ผ่านมาซูจีและพรรคของเธอบริหารประเทศโดยกีดกันภาคประชาสังคมออกไปจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมือง เพื่อนชาวพม่าบอกเราว่าเธอก้าวขึ้นมาจากการที่ประชาชนพม่ามองว่าเธอคือความหวังของประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เธอให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนน้อยมาก จากความคล้ายคลึงกันในบุคลิกส่วนตัวของเธอและบุคลิกของพรรคที่มีลักษณะแบบอำนาจนิยมทำให้รัฐบาลของเธอมีพฤติกรรมไม่ต่างจากรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศยาวนานก่อนหน้านี้ เธอและพรรคน่ิงดูดายต่อการปะทะกันจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมายระหว่างกองกำลังทหารกับประชาชนชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่จนอาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ รวมถึงมีพฤติกรรมเหยียดชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ในยุคสมัยรัฐบาลของเธอมีการใช้กฎหมายควบคุมสื่อและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและทหารไม่ต่างจากสมัยที่รัฐบาลทหารกระทำ มีการทำลายขบวนการนักศึกษาหลากหลายรูปแบบ เช่น ปฎิรูปการศึกษา จับกุมคุมขัง เป็นต้น เพื่อทำให้ขบวนการนักศึกษาที่เป็นแนวหน้าอันทรงพลังในการเคลื่อนไหวต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาตลอดทุกยุคสมัยอ่อนแอลง และยังมีการขึ้นบัญชีดำประชาชนอีกหลายคนที่เป็นผู้ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของพม่าในเหตุการณ์ ‘8888’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ซึ่งเพิ่งจะครอบรอบสามสิบปีไปเมื่อสองวันที่ผ่านมานี่เอง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาร่วมลงมือลงแรงสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้แก่ประเทศพม่าจนต้องเสียชีวิตไปมากมายไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ยังไม่นับรวมการถูกจับกุมคุมขังถูกทรมานและหลบหนีออกนอกประเทศอีกจำนวนมาก จนทำให้ซูจีและพรรคเอ็นแอลดีได้มีวันนี้-วันที่ได้เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

เพื่อนชาวพม่าบอกกับเราว่าค่อนข้างสับสนมากว่าประชาสังคมพม่าจะเลือกทางไหนหรือจะเอาอย่างไรดีกับซูจีและพรรคเอ็นแอลดีต่อการเลือกตั้งปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงในอีกสองปีข้างหน้า ว่ายังจะสนับสนุนซูจีและพรรคเอ็นแอลดีต่อไปหรือไม่ พวกเขากำลังร่วมคิดร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมภายใต้บริบทที่ว่าจะต้องไม่หันหลังให้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งด้วยการกลับไปสนับสนุนทหารขึ้นมาปกครองประเทศโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนที่เคยเป็นมายาวนานก่อนหน้านั้น ไม่ว่าซูจีและพรรคเอ็นแอลดีจะแสดงพฤติกรรมน่ารังเกียจยิ่งขึ้นเพียงใดต่อภาคประชาสังคมก็ตาม ก็จะต้องคิดถึงทางเลือกในลักษณะที่ ‘เพ่ิมประชาธิปไตย’ ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ ‘ลดประชาธิปไตย’ ลงด้วยการกลับไปสนับสนุนทหาร เช่น ทางเลือกแบบรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งขันกับพรรคเอ็นแอลดีของซูจี หรือเชื่อมประสานกับพรรคการเมืองชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วและที่กำลังสร้างใหม่ให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ เป็นต้น เพื่อทำให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้ได้

พวกเขาบอกกับเราด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า “ประชาสังคมไทยค่อนข้างมีพลังมากในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพราะมีแนวทางชัดเจนตรงที่ยึดถือหลักการมากกว่าตัวบุคคล แต่ประชาสังคมพม่ากลับยึดถือตัวบุคคลมากกว่าหลักการ จึงทำให้ไม่สามารถถอยห่างจากซูจีและพรรคเอ็นแอลดีได้ แม้จะรู้ว่าเป็นผู้นำที่แย่เสียจนสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนชาวพม่ามากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ”

เราบอกกับพวกเขาว่า “คุณคิดผิด แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ประชาสังคมไทยไม่ได้ยึดถืออะไรทั้งสองอย่างที่กล่าวมาเลย ประชาสังคมไทยค่อนข้างเห็นแก่ตัว ยึดถือผลประโยชน์เฉพาะหน้า อ่อนหัดทางการเมือง ถ้าจะมีอะไรให้ประชาสังคมไทยยึดถือก็คงเป็นแนวคิดแบบอำนาจนิยม หรือนิยมในอำนาจของทหารเสียมากกว่า เพราะตลอดช่วงสิบกว่าปีที่เกิดรัฐประหารสองครั้งนั้น ประชาสังคมไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะสนับสนุนรัฐประหาร เกลียดประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง”

เราบอกย้ำกับพวกเขาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “ในขณะที่ประชาสังคมพม่าเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง ถึงแม้จะผิดหวังกับซูจีและพรรคเอ็นแอลดี แต่ยังคงมีความหวังและเป็นข้อท้าทายสำคัญที่จะทำให้พลังของประชาชนเข้มแข็งด้วยการคิดสร้างพรรคการเมือง หรือเชื่อมประสานกับพรรคการเมืองชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วและที่กำลังสร้างใหม่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ เพื่อหวังให้ประชาชนชาวพม่าได้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ประชาสังคมไทยฉุดรั้งประชาชนให้เดินถอยหลังลงคลองมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประชาสังคมไทยที่ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและชนชั้นกลางสายอนุรักษ์นิยมในเมืองและชนบทซึ่งมีแนวคิดเหยียดความเท่ากันของคนและมีพลังทางเศรษฐกิจดีกว่าประชาชนทั่วไปได้สนับสนุนรัฐประหารและไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นมา เพราะไม่ยอมรับหรือไม่เคารพและศรัทธาต่อหลักการหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง จนถึงบัดนี้ประชาสังคมไทยกลุ่มนั้นก็ยังคงคิดแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง”.

เชิงอรรถ


[[1]] พรรคเอ็นแอลดี หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ National League for Democracy


[[2]] ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า เป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยพฤตินัยของประเทศพม่า ตำแหน่งนี้ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559 เพื่อให้ออง ซาน ซูจีมีอำนาจเหนือประมุขแห่งรัฐในรัฐบาลของประเทศพม่า พรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งสามัญแห่งพม่า ใน พ.ศ. 2558 ทว่าเธอซึ่งเป็นประธานพรรคเอ็นแอลดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามให้ผู้ที่มีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติ โดยที่สามีของเธอ ไมเคิล อริส และบุตรของเธออีกสองคนถือสัญชาติอังกฤษ

คำเสนอตำแหน่งมีมติเห็นชอบโดยสภาสูง ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 และมีมติเห็นชอบโดยสภาล่างในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559 ลงนามโดยประธานาธิบดีทีนจอ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559 เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2 คัดลอกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.