Posted: 24 Aug 2018 06:06 AM PDT
Submitted on Fri, 2018-08-24 20:06
กรกฤช สมจิตรานุกิจ สัมภาษณ์และเรียบเรียง
จากหลานของประธานาธิบดีคนแรกของพม่า กลายมาเป็นผู้ลี้ภัย ลงเอยด้วยการเป็นศิลปินผู้อุทิศตนให้ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า สว่างวงศ์ ยองห้วยเปิดเผยแง่มุมชีวิตและแรงบันดาลใจซึ่งเป็นที่มาของงานแสดงศิลปะแบบมีส่วนร่วมในไทยของเขา ภายใต้ชื่อ YAWNGHWE OFFICE IN EXILE
สว่างวงศ์ ยองห้วย
ความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นวัตถุดิบสร้างแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับศิลปินทั่วโลก ณ แกลลอรี่แห่งหนึ่งในซอยนาราธิวาส 22 สว่างวงศ์ ยองห้วย ศิลปินชาวไทยใหญ่ สัญชาติแคนาดากำลังรังสรรค์ผลงานของเขาลงบนผนังสี่ขาวทั้งสี่ด้านของห้องแสดงงานที่มีขนาดพอๆ กับห้องน้ำตามปั้มน้ำมัน เมื่อเดินเข้าไปในห้องจัดแสดงสิ่งแรกที่จะได้เห็นคือภาพถ่ายเล็กๆ จำนวน 5-6 รูปที่บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานของพม่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะเจอกับโต๊ะทำงานขนาดหนึ่งคนนั่ง ที่กองเต็มไปด้วยหนังสือ และเอกสารงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในพม่า โทรทัศน์รุ่นเก่าที่เปิดสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงในรัฐคะฉิ่นที่ถูกอุ้มหายโดยกองทัพวนไปวนมา ตั้งอยู่คู่กับโต๊ะน้ำชาและเก้าอี้ซักผ้าที่จัดวางให้เหมือนกับร้านน้ำชาในพม่า ที่มุมห้องจะมีเสือและหมอนอิง ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงแล้วยังมีไว้ให้ศิลปินงีบหลับในช่วงที่เขาคิดงานไม่ออก
YAWNGHWE OFFICE IN EXILE ซึ่งแปลไทยตรงตัวได้ว่า “สำนักงานผู้พลัดถิ่นของยองห้วย” คืองานแสดงศิลปะแบบที่เปิดให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามานั่งทำงาน หรือผักผ่อนหย่อนใจในขณะที่สว่างวงศ์ก็จะรังสรรค์ศิลปะของเขาลงบนฝาผนังไปเรื่อยๆ เขากล่าวว่าแนวคิดของการจัดแสดงในครั้งนี้คือต้องการจะสื่อให้เห็นว่านักกิจกรรมในพม่าจะต้องคอยหลบเลี่ยงการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถมีสำนักงานอย่างเป็นหลักเป็นแหล่งได้ จึงต้องอาศัยร้านน้ำชาเป็นที่ประชุมและระดมความคิด เขายังเชิญชวนให้นักกิจกรรม นักข่าว หรือนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนที่สนใจให้เข้ามานั่งทำงานในพื้นที่จัดแสดงด้วยโดยกล่าวว่ามันจะทำให้งานแสดงศิลปะของเขาดูมีชีวิตและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
สว่างวงศ์เป็นหลานปู่ของเจ้าส่วยแต้ก ประธานาธีบดีคนแรกของพม่า และเป็นเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายของเมืองยองห้วยแห่งรัฐฉาน หลังการรัฐประหารโดยนายพลเน วินในปี 2517 ปู่ของเขาถูกจับและเสียชีวิตในคุกในนครย่างกุ้ง ย่าของสว่างวงศ์จึงร่วมก่อตั้งกองกำลังรัฐฉานขึ้นเพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพพม่า สว่างวงศ์เกิดในกองทัพรัฐฉานบริเวณติดชายแดนไทย และใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่จนถึงอายุ 12 ปี ทำให้เขามีชื่อในใบสูจิบัตรไทยว่า สมชาย ทรายทอง แต่ถึงแม้จะเกิดในเมืองไทย เขากลับไม่มีสัญชาติไทยเพราะก่อนจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เขาได้มอบเอกสารสถานะความเป็นคนไทยของเขาให้กับผู้ลี้ภัยคนอื่นที่ต้องการจะมีสัญชาติไทย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ในเมืองไทยทำกันเป็นปกติ
สว่างวงศ์ย้ายไปอยู่ประเทศแคนนาดาและเข้าเรียนในโรงเรียนสถาบันศิลปะในมอนทรีออล และแวนคูเวอร์ ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่สตูดิโอแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี่เป็นเวลาสิบปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเขาแทบจะไม่สนใจงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองเลย จนกระทั่งในปี 2004 ที่พ่อของเขาเสียชีวิต เขาจึงเริ่มหันมาสนใจการเมืองพม่าเพื่อสานต่อสิ่งที่ครอบครัวของเขาต่อสู้มาโดยตลอดและเยียวยาความเสียใจจากการสูญเสียพ่อ จนกลายมาเป็นงานแสดง YAWNGHWE OFFICE IN EXILE ครั้งแรกในปี 2014 ที่กรุงอัมเสตอร์ดัมซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม หลังจากนั้น เขาก็ตระเวนไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อจัดแสดงงาน ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีความแตกต่างกันไป รวมถึงงานแสดงในเมืองไทยครั้งนี้ด้วย สว่างวงศ์สละเวลาในช่วยบ่ายเพื่อพูดคุยกับนักข่าวประชาไทถึงแรงบันดาลใจ และเล่าถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของเขาให้เราฟัง
ร้านน้ำชาพม่าภายในนิทรรศการ
คิดอย่างไรกับสถานการณ์ชนกลุ่มน้อยในพม่าในปัจจุบัน?
ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าสถานการณ์คงไม่มีทางจะดีขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะรัฐบาลพม่าเองก็พยายามจะแพร่ขยายลัทธิชาตินิยมแบบพม่า ซึ่งมันก็ถูกตอบโต้ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในระยะแรกของการรวมประเทศ ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่างมีความหวังว่าเราจะรวมกับเป็นรัฐชาติหนึ่งเดียวกันได้ แต่ทุกอย่างก็กลับกลายเป็นหายนะหลังการรัฐประหารโดยกองทัพพม่าที่นำโดยนายพลเน วิน ทุกวันนี้ช่องว่างการพัฒนายังคงสูงมาก และความคิดทางการเมืองของคนพม่าก็ยังคงเป็นแบบเก่า ราวกับพวกเขาไม่เคยผ่านยุครู้แจ้ง (Enligthen Period) พวกเขายังคงเชื่อว่าชนชาติพม่ามีความสูงส่งกว่าชนกลุ่มน้อยราวกับตัวเองเป็นคนขาวในโลกตะวันตก
แม้ในภายใต้รัฐบาลพลเรือน การเปลี่ยนแปลงก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น กองทัพพม่ายังคงแข็งแกร่ง และยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม เพราะได้รับการช่วยเหลือจากนางออง ซาน ซูจี เธอดูจะให้ความร่วมมือกับกองทัพ มากกว่าจะเป็นปฏิปักษ์ และเธอก็ยังคงเผยแพร่ลัทธิชาตินิยมพม่าต่อไปไม่ต่างจากรัฐบาลทหาร
คนชอบพูดว่าตอนนี้การเมืองไทยกับการเมืองพม่ากำลังสลับกัน คือพม่ากำลังกลายเป็นประชาธิปไตย และไทยกำลังจะกลายเป็นเผด็จการ คิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้?
ผมคิดว่ามันไม่มีการสลับกันในเรื่องนี้ ข้อแรก คือคนมักเข้าใจผิดว่าพอมีรัฐบาลพลเรือนแล้วพม่าก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในความเป็นจริง มันเป็นแค่รัฐบาลกึ่งพลเรือน เพราะรัฐบาลทหารก็ยังคงมีอำนาจอยู่ แต่ที่แย่กว่านั้นคือพรรค NLD ของอองซานซูจี กลับกลายเป็นแขนขาให้กับกองทัพพม่า เลยกลายเป็นว่ากองทัพในตอนนี้กลับมีทั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และพรรค NLD ให้การสนับสนุน ซึ่งแย่กว่าในช่วงที่ซูจีถูกคุมขังเสียอีก ในมุมของชนกลุ่มน้อย สถานการณ์จึงไม่ต่างกัน เพราะซูจีไม่ใช่ตัวแทนของชนกลุ่มน้อย แถมยังเดินหน้าเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมพม่าต่อไปอีกเรื่อยๆ
ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสถานการณ์การเมืองไทยมากนัก แต่ก็พอจะรู้ว่ามันค่อนข้างจะรุนแรง ผมคิดว่าเราคงจะเอาพม่ากับไทยมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ มันต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ แต่สิ่งที่ผมพอจะพูดได้คือประชาธิปไตยจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ หากประวัติศาสตร์ และโศกนาฏกรรมในอดีตยังไม่ถูกชำระ เราต้องรู้และยอมรับก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอดีต เราถึงจะปรองดองกันได้ เราให้อภัยกันได้ แต่เราไม่ควรจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้น เราก็จะลงเอยด้วยการทำผิดแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คิดว่างานศิลปะของคุณจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ไหม?
อย่างที่บอก ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ผมไม่คิดว่าศิลปะจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ในขณะเดียว เราก็ต้องไม่หยุดที่จะทำมัน เราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องพยายามต่อไปที่จะเปลี่ยนแปลงมัน เพราะมันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราทำได้ หากมองไปในการเมืองทั่วโลก เราจะพบปัญหาคล้ายกัน คือการเมืองถูกควบคุมโดยกลุ่มคนผู้ที่มีอำนาจ และเราในฐานะประชาชนทั่วไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นเลย แต่สิ่งที่ผมทำ ถ้าจะใช้ภาษาของนักการทหาร มันคือการ “รุกคืบอาณาเขต” ผมพยายามจะรุกคืบพื้นที่ของศิลปะในการเมือง และรุกคืบพื้นที่ทางการเมืองในวงการศิลปะ และนั่นก็คือสิ่งที่ครอบครัวของผมทำมาโดยตลอด คือการรุกคืออาณาเขต เพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะตัวแสดงทางการเมืองตัวหนึ่ง
ในงานเปิดตัวนิทรรศการ คุณพูดว่าชีวิตของคุณเริ่มต้นด้วยการร้องไห้ (weeping) ความเงียบ (silence) และจบด้วยเสียงเพลง (song) ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย
มันเป็นคำพูดของนักปรัชญาชาวอเมริกันชื่อคอร์เนล เวสต์ เขากล่าวว่าวิธีการเดียวที่เราจะเขาถึงความจริงได้ คือเราต้องร้องไห้ คือเราต้องปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามทางของมัน เผชิญหน้ากับความสูญเสียและโศกเศร้า และมันก็จะตามมาด้วยความเงียบงัน เพราะเราจะต้องดึงตัวเองออกมาจากโลกหลังจากที่เราร้องไห้เสียใจ หลังจากนั้นเสียงเพลงจึงจะบังเกิดขึ้น เพราะคุณได้เห็นแล้วว่าโลกของคุณจริงๆ แล้วมันหน้าตาเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือเราต้องทำใจและมองโลกแบบที่มันเป็น ยอมรับในความล้มเหลว ผิดพลาด และเสียใจ หากปราศจากกระบวนการเหล่านี้ เราจะไม่สามารถเข้าใกล้ความจริงได้เลย
สำหรับผม การร้องไห้ของผมมันเกิดขึ้นในวันที่พ่อผมจากโลกนี้ไปในปี 2004 ผมร้องไห้จริงๆ และร้องมันอยู่อย่างนั้น จากนั้นผมจึงหาวิธีการเพื่อเยียวยาตัวเองจากความสูญเสีย ผมจึงเริ่มวาดภาพเกี่ยวกับพม่าในความทรงจำของผม ภาพแรกที่ผมวาดเป็นภาพถ่ายของครอบครัวผมตอนที่ผมยังเด็ก พอผมวาดเสร็จ ผมก็วางมันทิ้งไว้ แล้วก็เริ่มวาดภาพใหม่อยู่อย่างนั้นเป็นเวลา 10 ปี นั่นคือช่วงเวลาของความเงียบของผม ผมวาดภาพมากกว่า 50 ภาพโดยไม่คิดจะหาเงินจาก หรือเอามันออกไปจัดแสดงที่ไหน ผมแค่วาดมันเพื่อระบายความเสียใจ มันเหมือนการร้องเพลงอยู่ในห้องคนเดียว ต่อให้คุณร้องดังแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีใครฟังคุณ มันก็ไม่ต่างจากความเงียบ เพราะฉะนั้นเวลาผมพูดว่า “เสียงเพลง” ผมหมายถึงช่วงเวลาที่ผมตัดสินใจเอางานของผมออกแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นสิ่งที่ผมทำ ได้เห็นสิ่งที่ครอบครัวผมต่อสู้เพื่อมัน
ผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าเสียงเพลงของผมมันเป็นเพลงแบบไหน เพราะนั่นขึ้นอยู่กับคนฟังจะตัดสินใจ เพราะเอาจริงๆ เสียงเพลงมันคือเสียงของอะไรก็ได้ แค่เสียงนกร้องมันก็เป็นเสียงเพลงได้แล้ว การร้องเพลงมันคือกระบวนการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มันคือการปลดปล่อยตัวตนของเราและแสดงมันออกมาให้ผู้อื่นดู เขาอาจจะไม่ชอบมัน ก็ไม่เป็นไร แต่ผมพูดได้แค่ว่า หลังจากที่ผมอยู่ในความเงียบมาเป็นสิบปี ตอนนี้ผมกำลังร้องเพลงอยู่
คำถามสุดท้าย ผู้ที่เข้ามาชมงานแสดงของคุณจะได้เห็นอะไร?
คำถามนี้ยากมาก ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเขาจะเห็นอะไรเพราะมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของผม แต่ผมหวังว่าพวกเขาจะได้เห็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และเห็นความเป็นไปได้ต่อวิกฤติทางการเมืองในประเทศของเขา ภาพที่ผมวาดมันมาจากความทรงจำในวัยเด็กของผม เป็นภาพของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยในพม่ากับกองทัพ ซึ่งทุกวันนี้มันก็ยังคงดำรงอยู่ และมันก็คงจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตด้วย ผมหวังว่าผู้ที่เข้ามาชมจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง และเอากลับไปคิดเพื่อหาคำตอบให้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่
YAWNGHWE OFFICE IN EXILE จะจัดแสดงที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคมนี้[full-post]
แสดงความคิดเห็น