Posted: 13 Aug 2018 04:27 AM PDTที่มาภาพ https://pantip.com/topic/32805292
Submitted on Mon, 2018-08-13 18:27 (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
สุรพศ ทวีศักดิ์
เวลานักวิชาการที่ยืนยันเสรีภาพและประชาธิปไตย จะพูดหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร ที่อาจถูกตีความได้ว่าจะเป็นบวกกับเขาก็มักจะ “ออกตัว” ก่อนว่า ผมไม่ได้เห็นด้วย ไม่สนับสนุนหรือเชียร์ทักษิณนะอะไรทำนองนี้ แต่ผมจะไม่ออกตัวอะไร ปล่อยให้เนื้อหาที่เขียนบอกกับผู้อ่านเอง
ทำไมเมื่อทักษิณออกมาพูดอะไรผ่านสื่อ จึงมักจะมีฝ่ายตรงกันข้ามออกมาพูดทำนองว่า คำพูดหรือการเคลื่อนไหวของทักษิณจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป และถ้าเลื่อนเลือกตั้งอีกมันเป็นความผิดของทักษิณอย่างไรหรือ (ยกเว้นเราจะเชื่อจริงๆ ว่าทักษิณคือ “ศูนย์กลางจักรวาลการเมืองไทย”)
ปัญหาที่ต้องถามคือทำไมชนชั้นนำไทยจึงกลัวการเลือกตั้ง ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า “โรคกลัวการเลือกตั้ง” ที่ว่าเป็นโรคกลัวการเลือกตั้ง เพราะกลัวกันแบบหาเหตุผลอันควรมาสนับสนุนไม่ได้ กลัวจนไม่คำนึงว่าผลที่ตามมาจากการไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งนั้นจะเป็นการทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างไร หรือประเทศจะเสียโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างไร
เอาเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ต่อสู้กับทักษิณในทศวรรษนี้ ก็บอยคอตการเลือกตั้งแล้วถึง 2 ครั้ง การบอยคอตแต่ละครั้งย่อมคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะเกิดรัฐประหารตามมา โดยเฉพาะก่อนรัฐประหาร 2557 แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำมวลชนเป่านกหวีดจนทำให้การเลือกล้มและเกิดรัฐประหาร หลังเกิดรัฐประหารบรรดาแกนนำก็จัดเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีอย่างเอกเกริก นี่หมายความว่าประชาธิปัตย์กลัวการเลือกตั้งยิ่งกว่ากลัวรัฐประหารใช่หรือไม่
นอกจากนั้น เรายังถามได้อีกว่า ประชาธิปัตย์กลัวการเลือกตั้งยิ่งกว่าจะกลัวประชาชนชนบาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุมงั้นหรือ ดังในปี 2553 แทนที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์จะยอมให้มีการเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องของมวลชนเสื้อแดง กลับสลายการชุมนุมด้วย “กระสุนจริง” จนมีประชาชนตายเกือบร้อยคน และบาดเจ็บร่วมสองพันคน
ผลของความกลัวการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ จึงตามมาด้วยรัฐประหาร 2549, การสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่มี่ประชาชนตายจำนวนมาก และรัฐประหาร 2557
ความกลัวการเลือกตั้งของ คสช.ก็พิลึกไม่แพ้กัน เพราะทั้งๆ ที่ คสช.เป็นฝ่ายกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ 2560, กติกาการเลือกตั้ง และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจอย่างแน่นหนา เรียกได้ว่าเป็นฝ่าย “คุมเกม” เองทั้งหมด แต่ก็เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง และส่อแววว่าจะเลื่อนเลือกตั้งอีกจากที่พูดไว้ว่าจะจัดเลือกตั้งได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
มันพิลึกตรงที่คนเหล่านี้แสดงความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่ฝ่ายทักษิณคุมเกม ซึ่งก็อาจดูจะมีเหตุผลอยู่บ้าง แต่การกลัวเลือกตั้งในสถานการณ์ที่พวกตนเองเป็นฝ่ายคุมเกมนี่ไม่อาจหาเหตุผลอะไรมาอธิบายได้เลย
ความกลัวการเลือกตั้งดังกล่าวมันไร้เหตุผล เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่คำนึงถึงผลเสียหายต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ชีวิตประชาชน และความสูญเสียอื่นๆ มันจึงดูเหมือนเป็นอาการของโรคที่ทำให้สังคมป่วย หรือตกอยู่ภายใต้ความสับสน ไม่แน่นอน ไร้ทางออก เสี่ยงต่อความขัดแย้งและความรุนแรงที่คาดไม่ถึง
ยิ่งกว่านั้นยังสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่า ฝ่ายที่เรียกร้องให้ “ก้าวข้ามทักษิณ” นั่นแหละที่ก้าวไม่ข้ามทักษิณเสียเอง
พูดโดยภาพรวมคือ ขณะที่ คสช., ปชป., กปปส. โจมตีนโยบายประชานิยมของทักษิณ แต่ตัวเองกลับเลียนแบบนโยบายประชานิยมเสียเอง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าเขา และไม่เป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่เท่าเขา ขณะที่โจมตีเรื่องทักษิณดูดอดีต ส.ส. แต่ ปชป.ก็ดูดกลุ่มเนวินจากพรรคของทักษิณมาดื้อๆ จนตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้สำเร็จ ขณะที่ปัจจุบันก็มีการดูดอดีต ส.ส.เข้าพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ คนต่อไป
ส่วนที่ ปชป., กปปส.เคยโจมตีว่าทักษิณออกกฎหมายและใช้กฎหมายเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองนั้น แต่เมื่อกลุ่มอำนาจนอกระบบฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เขียน ม.44 ออกคำสั่ง คสช., เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่เห็นว่า ปชป.,กปปส.จะออกมาโจมตีว่าเป็นการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกตัวเอง คือไม่ตั้งคำถาม วิจารณ์หรือตรวจสอบแบบจริงจังอย่างที่ทำกับทักษิณ
คำถามคือ ก้าวข้ามทักษิณไปสู่อะไร ไปสู่การอยู่ภายใต้ระบบที่ คสช.สร้างขึ้นเช่นนั้นหรือ โดย คสช.ก็แยกไม่ออกจาก ปชป.และ กปปส. เช่นวาทกรรม “คืนความสุข” ที่ คสช.นำมาใช้ในการทำรัฐประหาร 2557 ก็คือวาทกรรมที่ ปชป.เคยใช้ในการสลายการชุมนุม 2553 และ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ที่ คสช.นำมาใช้ ก็คือวาทกรรมที่ใช้ในการเคลื่อนไหวชุมนุมของ กปปส.ที่เป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร
แน่นอน สิ่งที่ทักษิณทำมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไขตามระบบ แต่ถึงอย่างไรยุคทักษิณยังมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมี ยุคยิ่งลักษณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถามว่าเราจะก้าวข้ามทักษิณเพื่อมาสู่ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเช่นนั้นหรือ
ที่จริงแล้วสังคมเรามีศักยภาพที่จะก้าวข้ามทักษิณไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าได้ แต่ไม่ใช่การเดินตามแนวทางของ คสช.,ปชป.,กปปส.อย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นแนวทางที่ไม่ได้ดีไปกว่าทักษิณ มันเป็นวิถีของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นโรคกลัวการเลือกตั้ง เพราะกลัวทักษิณ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำให้ความนิยมทักษิณในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ลดลงหรือหมดไปได้
แต่พวกเขากลับไม่เคยเรียนรู้ว่า การเอาชนะทักษิณด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และการสร้างระบบกลไกทางกฎหมายและอื่นๆ ให้พวกตนได้เปรียบ หรือ “ไม่ฟรีและแฟร์” นั่นเองที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้คนส่วนใหญ่ยังนิยมทักษิณ หรือยังชูทักษิณเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ แม้ว่าตัวทักษิณเองจะไม่ใช่สัญลักษณ์ของนักการเมืองที่สู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่เขาก็ยืนยันที่จะต่อสู้กับคู่แข่งทางการเมืองภายใต้กติกาประชาธิปไตย
จะว่าไปแล้ว แม้แต่คนที่ไม่นิยมทักษิณก็รู้ๆ กันทั้งนั้นว่า วิถีที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยและการสร้างระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์ มันคือการนำสังคมดิ่งลงเหวมากกว่ายุคทักษิณ
ปัญหาของสังคมการเมืองไทยวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องก้าวข้ามทักษิณ แต่เป็นเรื่องที่ต้องก้าวข้ามวิถีการเมืองที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์ที่สร้างขึ้นจากวิถีที่ไม่ชอบธรรมนั้น
[full-post]
แสดงความคิดเห็น