Posted: 26 Aug 2018 06:14 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-26 20:14
เรื่องของสัญลักษณ์ 'สวัสดิกะ' หรือการสื่อถึง 'นาซี' กลายเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมเยอรมนีมานานแล้ว แต่ในงาน Gamescom ครั้งล่าสุดซึ่งเป็นงานแสดงโชว์เกมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีการเปิดตัวเกมจากผู้สร้างชาวเยอรมันที่จะมีการแสดงให้เห็นสัญลักษณ์และผู้นำเผด็จการ 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์' ออกมาอย่างโจ่งแจ้งเป็นครั้งแรกต่อสังคมเยอรมนีสำหรับเกมที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างเรื่องของเสรีภาพทางงานศิลป์และความกังวลว่าจะเกิดการกระตุ้นให้มีพวกนาซีสุดโต่งเพิ่มขึ้นหรือไม่ (ที่มาภาพ: throughthedarkestoftimes.com)
26 ส.ค. 2561 สื่อเดอะโลคัล รายงานถึงเรื่องการเปิดตัวเกม 'Through the Darkest of Times' ในงานจัดแสดงวิดีโอเกมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป Gamescom วิดีโอเกมชุดนี้เป็นเกมแรกของเยอรมนีที่นำเสนอเรื่องราวช่วงยุคสมัยนาซีแบบไม่มีการเซนเซอร์ โดยมีทั้งการนำเสนอตราสวัสดิกะและตัวละคร 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์' อย่างตรงไปตรงมา โดยผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นสมาชิกกลุ่ม 'เรดออเครสตรา' (Red Orchestra หรือ Die Rote Kapelle) ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต
อย่างไรก็ตามในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งนี้ 2 จะมีข้อห้ามอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการแสดงตราสัญลักษณ์นาซี หรือแม้กระทั่งการนำเสนอถึงจอมเผด็จการฮิตเลอร์ในงานศิลปะบันเทิง โดยวิดีโอเกมจากต่างประเทศที่มีตราสัญลักษณ์นาซีมักจะถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์อื่นอย่างเช่นสัญลักษณ์สามเหลี่ยมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของเยอรมนีซึ่งระบุห้ามสัญลักษณ์นาซีในฐานะที่ 'ขัดต่อรัฐธรรมนูญ'
แม้กระทั่งการนำเสนอฮิตเลอร์ในวิดิโอเกมฟอร์มยักษ์ 'Wolfenstein 2' จากค่ายเบเธสดาค่ายเกมสัญชาติสหรัฐฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของตัวละครให้สื่อถึงฮิตเลอร์น้อยลง เช่น การตัดหนวดทรงที่มีลักษณะเฉพาะตัวของฮิตเลอร์ออกและมีการเปลี่ยนชื่อตัวละครใหม่
อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันการกำกับควบคุมในเรื่องนี้เริ่มมีการผ่อนปรนบ้างแล้ว ทำให้ Through the Darkest of Times มีการนำเสนอสัญลักษณ์นาซีติดบนแขนเสื้อตัวละครและมีตัวละครผู้นำนาซีที่มีชื่อเดิมและไม่ถูกตัดหนวดออก
ยอร์ก ฟริดริช หนึ่งในผู้พัฒนาเกมนี้กล่าวว่าคนทำเกมเมื่อก่อนเคยกลัวที่จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ตรงๆ จึงสร้างจินตนาการขึ้นมาทดแทน ไม่นำเสนอภาพฮิตเลอร์ ไม่พูดถึงยิว ซึ่งฟริดริชมองว่ามันเป็นปัญหาถ้าจะไม่สามารถพูดถึงมุมมองประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง
สื่อเดอะโลคัลระบุว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีการฝ่าฝืนนำเสนอเกี่ยวกับนาซีในแบบที่ถูกห้ามมากขึ้นในเยอรมนี มีการกดดันจากกลุ่มผู้จัดจำหน่ายเกมและคนเล่นเกมเองทำให้หน่วยงาน USK ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับควบคุมสื่อบันเทิงของเยอรมนีเริ่มให้เสรีภาพในการสื่อถึงเรื่องเหล่านี้ในงานศิลปะ-บันเทิงต่างๆ ได้บ้าง
อลิซาเบธ เซคเคอร์ ผู้อำนวยการ USK กล่าวว่า กรณีของเกม 'Through the Darkest of Times' นั้นถือเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้นำเสนอเรื่องราวในอดีตผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์ได้ในนามของ 'เสรีภาพทางศิลปะ'
ในปี 2541 ศาลเยอรมนีตัดสินให้มีการปิดกั้นวิดีโอเกมที่แสดงสัญลักษณ์นาซี โดยที่ผู้พิพากษาในสมัยนั้นกลัวว่ามันจะทำให้เด็กที่เติบโตมากับสัญลักษณ์พวกนี้มีความคุ้นชินกับมัน แต่คนเล่นเกมก็รู้สึกว่าการห้ามเรื่องนี้เป็นสิ่งที่กวนใจพวกเขามานานแล้ว เนื่องจากมันทำให้ชาวเยอรมันได้สัมผัสเนื้อหาของเกมแตกต่างจากคนประเทศอื่นๆ
ไมเคิล ซีเซิลส์ หนึ่งในผู้เยี่ยมชมงาน Gamescom กล่าวว่าเนื้อหาเกี่ยวกับนาซีเยอรมันเป็นอดีตที่ไม่จำเป็นที่จะต้องแอบซ่อนไว้ ทั้งนี้มันยังอาจจะใช้เป็นเครื่องเตือนใจได้ด้วย
แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอเรื่องของสัญลักษณ์นาซีในสังคมเยอรมนี ฟรานซิสกา กิฟเฟย์ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการครอบครัวของเยอรมนีกล่าวว่า พวกเขาไม่ควร "เล่นกับตราสวัสดิกะ" และอยากให้ชาวเยอรมันมีสำนึกความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของตนเองเสมอแม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน ขณะที่ สเตฟาน มานเนส เจ้าของเว็บไซต์ข้อมูลประวัติศาสตร์นาซีตั้งคำถามว่าพวกเขาจะอธิบายกับเด็กๆ ที่รับรู้เกี่ยวตราสวัสดิกะในวิดีโอเกมได้อย่างไร
ทว่า คลอส-ปีเตอร์ ซิก นักประวัติศาสตร์จากศูนย์วัจัยสังคมศาสตร์มาร์คโบลชในกรุงเบอร์ลินโต้แย้งว่าคนที่เล่นเกมน่าจะฉลาดพอและแยกแยะออก วิกค์บอกอีกว่า "ไม่มีใครที่จะกลายเป็นนาซีเพียงแค่เห็นสัญลักษณ์สวัสดิกะ"
ในกรณีที่ USK เริ่มผ่อนปรนการใช้ตราสัญลักษณ์เหล่านี้บ้างแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอนุญาตให้ใช้มันไปทั่วจนเป็นเรื่องสามัญ แต่จะมีการตัดสินเป็นรายกรณีไปว่ากรณีไหนบ้างที่ 'เหมาะสมทางสังคม'
ไม่เพียงแค่เกมเท่านั้นศิลปะอื่นๆ เช่นภาพยนตร์ก็เริ่มกลับมานำเสนอเรื่องที่เคยถูกห้ามพูดถึงอย่างอดีตผู้นำนาซีบ้างแล้วซึ่งภาพยนตร์เยอรมนีหลายเรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานำเสนอจอมเผด็จการฮิตเลอร์ในเชิงเสียดสี แม้กระทั่งหนังสือเรื่อง 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' (Mein Kampf) ก็กลับมาเผยแพร่ในเยอรมนีได้ในปี 2559 โดยที่มีหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ประกอบไว้ด้วย
ในอีกแง่มุมหนึ่งก็มีความกังวลเกี่ยวกับการผุดขึ้นอีกครั้งของกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงและขบวนการต่อต้านผู้อพยพ ขณะที่หัวหอกของกลุ่มขวาจัดในเยอรมนีคือพรรคเอเอฟดี ก็วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการรำลึกอาชญากรรมของนาซี
อย่างไรก็ตามซิกกล่าวว่าวิดีโอเกมที่นำเสนอเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเยอรมนีเริ่มยอมรับอดีตอันมืดมนของตัวเองได้อย่างเป็นปกติแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้นจะไปได้ไกลในระดับที่ไม่อยากกลับไปสู่จุดเดิมอีกแล้วมากขนาดไหน
"ถ้าหากสังคมสามารถอ่าน 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' ได้โดยไม่ได้รู้สึกโหยหาอดีต นั่นก็แสดงให้เห็นว่า นาซีได้ตายไปแล้ว" ซิกกล่าว
เรียบเรียงจาก
Video game swastikas stir unease in Germany, The Local, 24-08-2018
https://www.thelocal.de/20180824/video-game-swastika-stir-unease-in-germany
Wolfenstein 2 Has A Strange Workaround For Germany's Censorship Laws, Kotaku, 30-10-2017
https://kotaku.com/wolfenstein-2-has-a-strange-workaround-for-germanys-cen-1819985020
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://throughthedarkestoftimes.com/
https://en.wikipedia.org/wiki/Red_Orchestra_(espionage)[full-post]
แสดงความคิดเห็น