Posted: 11 Aug 2018 09:39 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-12 11:39


กรณี ‘หมอนิ่ม’ ภาพสะท้อนความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติทั่วไปยังคงมุ่งคุ้มครองครอบครัวมากกว่าผู้ถูกกระทำ ผลลัพธ์คือทุกคน ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และคนรอบข้างต้องตกเป็นเหยื่อ

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 466 ข่าว เกือบครึ่งเป็นความรุนแรงถึงระดับการสังหาร
การพิจารณาคดีของไทยยังไม่นำประเด็น Battered Woman Syndrome หรือภาวะที่เหยื่อเลือกตอบโต้กลับเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพราะไม่อาจทานทนได้อีกต่อไปมาประกอบการพิจารณา
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มุ่งคุ้มครองสถาบันครอบครัวมากกว่าผู้ถูกกระทำ

จากกรณีสังหาร จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 นำมาสู่คดีความที่มีหลายคนตกเป็นจำเลย ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม อายุ 40 ปี อดีตภรรยาของจักรกฤษณ์

เมื่อคดีนี้เข้าสู่ศาลอุทธรณ์ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้แก้จากศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต เป็นพิพากษายกฟ้อง พญ.นิธิวดี โดยให้เหตุผลว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้น ยังมีความรักต่อกัน เพราะ พญ.นิธิวดี และผู้ตายยังไปมาหาสู่ผู้ตาย มีเพศสัมพันธ์กัน และยังรักกันอยู่ ตอนติดคุกยังพาลูกไปหา ไม่มีได้ท่าทีโกรธแค้น แต่พิพากษาลงโทษสุรางค์ ดวงจินดา แม่ของ พญ.นิธิวดี ในฐานะผู้ว่าจ้างยิงจักรกฤษณ์ โดยให้ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยรับสารภารจึงลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกตลอดชีวิต ศาลให้เหตุผลว่าสุรางค์มีความโกรธแค้นที่ผู้ตายทำร้ายลูกและหลานจนทำให้แท้งลูก และเชื่อว่าผู้ตายไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยได้ จึงว่าจ้างมือปืนสังหาร

กรณีนี้มองต่างได้หลากหลายมุมมองตามแต่จุดยืนของแต่ละคน แต่ต้นสายปลายเหตุที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้คือความรุนแรงในครอบครัว จะด้วยผลของทัศนคติในสังคม การขาดกลไกติดตาม ดูแล และหยุดความรุนแรง หรือใดๆ ก็ตาม ผลของมันได้ทำร้ายคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สุดท้ายแล้วทุกคนก็กลายเป็นเหยื่อ
ปริมาณความรุนแรงในครอบครัว

ต้นปีที่ผ่านมามูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 ในหัวข้อความรุนแรงฆ่าครอบครัว เก็บสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับตลอดปี 2559 พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 466 ข่าว และเป็นการฆ่ากันถึงร้อยละ 48.5 ฆ่าตัวตายร้อยละ 17.6 และทำร้ายกันร้อยละ 17.4 เกือบครึ่งหนึ่งของข่าวการฆ่ากัน เป็นการสังหารโดยใช้อาวุธปืน และมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นร้อยละ 18.5 สถิติพบด้วยว่า กรณีส่วนใหญ่เกิดจากสามีฆ่าภรรยาด้วยความหึงหวง ขณะที่ฝ่ายหญิงฆาตกรรมสามีเพราะทนถูกทำร้ายต่อไปไม่ไหว

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ประจำปี 2559 โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการเก็บข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล 558 แห่ง จำนวน 20,018 ราย ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิงจำนวน 18,919 ราย หรือร้อยละ94.50 รองลงมาเป็นเพศชายจำนวน 1,079รายหรือร้อยละ 5.40 และมีเพศทางเลือกถูกกระทำความรุนแรงจำนวน 20 ราย หรือร้อยละ 0.10 เฉลี่ยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรง 55 รายต่อวัน
กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ‘ครอบครัว’ มากกว่าเหยื่อ

ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ศาลสามารถบรรเทาโทษได้ หากจำเลยกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะ แต่ความผิดที่จำเลยกระทำจากเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง ฝ่ายผู้ถูกกระทำเลือกตอบโต้กลับเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพราะไม่อาจทานทนได้อีกต่อไปหรือที่เรียกว่า Battered Woman Syndrome กลับยังไม่เป็นเหตุให้ลดหย่อนโทษ ซ้ำยังถูกตีความว่าเป็นเจตนาและจงใจทำ ขณะที่ในต่างประเทศมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาประกอบการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม สำหรับในไทย แม้ประเด็น Battered Woman Syndrome ยังไร้ที่ทางในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ถูกผลักดันโดยองค์กรผู้หญิงที่ต้องการกฎหมายเฉพาะในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้นจะใช้กฎหมายอาญาปกติซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดและไม่มีทางเลือก

“กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มุ่งลงโทษมากกว่าการคุ้มครอง เวลาผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกายแล้วไปแจ้งความ จะพบท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในครอบครัว การเป็นสามีเสมือนเป็นใบอนุญาตให้ทุบตีได้ กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจึงออกมาเพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นว่ามีอคติ มายาคตินี้อยู่ และต้องให้การช่วยเหลือ คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว” นัยนา สุภาพึ่ง จากมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร มูลนิธิที่มุ่งสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าว

กฎหมายดังกล่าวมีแนวคิดให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เป็นมิตรกับผู้เสียหาย คำนึงถึงความละเอียดอ่อน และการจะใช้กฎหมายเต็มรูปแบบหรือจะใช้ในลักษณะการคุ้มครอง เยียวยา หรือจะใช้มาตรการอื่นๆ ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เสียหาย

“แต่ด้วยวิธีคิดที่ไม่ละเอียดอ่อน ไม่เคารพผู้เสียหาย ผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่มีทักษะการใช้ในลักษณะการคุ้มครองมากกว่าการลงโทษ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบผู้มีอำนาจเขียนกฎหมายก็ยังมีอคติเดิม ช่วงท้ายๆ ของการเขียนกฎหมาย เจตนารมณ์ที่ต้องการขับเคลื่อนออกมาจึงถูกทำให้ไม่เป็นประเด็นสำคัญ แล้วกลับไปอยู่ที่การรักษาครอบครัวเอาไว้ ให้ผู้เสียหายต้องกลับไปอยู่ในครอบครัวเหมือนเดิม”

การณ์กลับกลายเป็นว่ากฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง กลับไปมุ่งรักษาสถาบันครอบครัวไว้แทน ซึ่งเรามักจะเห็นว่าหากเป้นกรณีความขัดแย้งในครอบครัวของคนมีชื่อ จะมีคนออกมาไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน

เอกสารวิชาการของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฉบับกุมภาพันธ์ 2558 ก็ตั้งข้อสังเกตต่อกฎหมายนี้ในทำนองเดียวกันว่า

‘กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นในการรักษาสถาบันครอบครัวเป็นหลัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง อย่างเช่นในเรื่องของการยอมความเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันครอบครัว แทนที่จะให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะต้องพบกับความเสี่ยงในการที่จะมีโอกาสที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงได้อีก’

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความรุนแรงก็ทำร้ายทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หากยังรวมถึงวงความสัมพันธ์รอบๆ ดังเช่นที่เกิดกับกรณีหมอนิ่ม

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.