ที่มาภาพ: Facebook/ Komkrit Tul Uitekkeng

Posted: 28 Aug 2018 06:07 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-08-28 20:07


คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง อาจารย์ภาคปรัชญา ม.ศิลปากร เล่าความคืบหน้ากรณีที่เคยมีกระแสยุบภาคปรัชญา ล่าสุดหลังกรรมการมหาวิทยาลัยรับข้อเสนอแก้ไขให้สิทธิภาควิชาที่ตั้งก่อนระเบียบออกกำหนดได้ว่าจะคงสถานภาพหรือเปลี่ยนเป็นสาขาวิชา ภาคปรัชญายื่นเรื่องขอคงสภาพภาควิชาแล้ว คาดรู้ผลปลาย ก.ย. นี้

28 ส.ค. 2561 สืบเนื่องจากข่าวที่จะมีการลดขนาดภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสาขาวิชาเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากรถึงความคืบหน้าล่าสุด โดยคมกฤชให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทางภาควิชาปรัชญาได้ส่งหนังสือถึงอธิการบดีให้มีการแก้ไขระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแบ่ง การรวม การยุบเลิกและการบริหารภาควิชา พ.ศ. 2561 โดยขอให้มีการทบทวนและแก้ไขให้ภาควิชาที่จัดตั้งก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะออกมาสามารถคงไว้ซึ่งสถานภาพของภาควิชาดังเดิม แต่ถ้าจะเปลี่ยนสถานะหน่วยงานตามที่ประกาศก็ย่อมทำได้ กล่าวคือ เปิดช่องให้ภาควิชาคงสถานภาพไว้ตามเดิมได้ หรือจะเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งกรรมการบริหารมหาลัยก็ได้รับทบทวนมติใหม่

ต่อมาทางคณะได้ได้ให้แต่ละภาควิชาดำเนินการส่งเรื่องว่าจะยุบรวมเป็นสาขาหรือจะยังคงเป็นภาควิชาต่อแล้ว และทางภาคปรัชญาก็มีมติให้คงสถานภาพภาควิชาเอาไว้ ตอนนี้มติการคงสถานภาพภาควิชาเพิ่งเข้ากรรมการคณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะถูกส่งไปให้กับกรรมการมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้อนุมัติคำขอ คาดว่าปลายเดือน ก.ย. น่าจะทราบผล

คมกฤชกล่าวว่า ภาควิชามีความสำคัญในแง่ของการกระจายอำนาจจากมหาวิทยาลัย และเป็นการรับประกันเสรีภาพทางวิชาการ เพราะภาควิชาเป็นหน่วยงานที่เล็กที่สุดที่ถูกระบุสถานะเอาไว้ใน ระเบียบ ม. ศิลปากรเรื่องการจัดการส่วนงานภายในและการยุบเลิก พ.ศ. 2561

“ถ้าเป็นสาขาวิชาปุ๊บ อำนาจก็จะเข้าไปสู่ศูนย์กลางก็คือคณะ ลักษณะของการบริหารมหาวิทยาลัยแบบกระจายอำนาจคือลักษณะของการรับประกันเสรีภาพทางวิชาการด้วย คือผู้บริหารที่สูงกว่าไม่สามารถเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆ ภายในภาควิชาได้”

อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรยังระบุเพิ่มเติมว่า จำนวนนักศึกษาที่เลือกเข้าภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรในระดับปริญญาตรีปีนี้มีจำนวนมากกว่าที่ตั้งเอาไว้


‘ยุบภาคปรัชญา’ วิชาไม่ทำเงิน สังคมไม่ตั้งคำถาม หรือปรัชญาทำตัวเหินห่าง?

กระแสยุบภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรกลายเป็นที่พูดถึงในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเมื่อคมกฤชโพสท์เฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีที่มีระเบียบ ม. ศิลปากรเรื่องการจัดการส่วนงานภายในและการยุบเลิก พ.ศ. 2561 ที่กำหนดคุณสมบัติของภาควิชาว่าจะต้องมีคณาจารย์มากกว่า 10 คน มีหลักสูตรอย่างน้อยสองหลักสูตรในภาควิชา เป็นหลักสูตรปริญญาตรีอย่างน้อยหนึ่ง และหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรปริญญาตรีอีกหนึ่งหลักสูตร พึ่งพาตนเองได้ มีอาคาร ทรัพยากรด้านการสอนเป็นของภาควิชาเอง ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็จะให้ลดลงเป็นสาขาวิชา อันเป็นเกณฑ์ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งคมกฤชมองว่าเป็นความพยายามที่ทำให้ภาควิชาสายมนุษยศาสตร์หรือศิลปะลดจำนวนลงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญกับสายวิชาที่ทำเงินได้มากกว่า

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขข้อความในส่วนการส่งเรื่องคงไว้ซึ่งสถานภาพภาควิชากับ 'กรรมการมหาวิทยาลัย' แก้ไขเป็น 'กรรมการคณะ' ก่อนที่จะถูกส่งให้กรรมการมหาวิทยาลัยตามลำดับที่เป็นผู้อนุมัติคำขอ (แก้ไขเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 เวลา 21.09 น.)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.