Posted: 11 Aug 2018 05:36 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-12 07:36


งานวิจัยพบคนทำงานใช้สารเสพติดเพราะเหตุผล ‘ส่งเสริมการทำงาน’ ให้ตื่นตัวทำงานได้ต่อเนื่องยาวนาน ‘ภาคบันเทิง’ ใช้ต้านฤทธิ์แอลกอฮอลล์ 'ภาคขนส่ง' มีการใช้ทั้งคนงานจัดสินค้า เด็กรถ และขับรถ เพื่อเร่งการทำงานเพิ่มปริมาณงาน 'ภาคก่อสร้าง' ใช้ในพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะงานกลางคืน 'ภาคประมง' ใช้ช่วงซ่อมแซมเรือ ออกจับปลา และนำส่งตลาด 'ภาคเกษตร' ใช้ทั้งในทุกขั้นตอน ที่มาภาพประกอบ: Max Pixel (CC0)

ข้อมูลจาก รายงานการศึกษาโครงการจัดทำข้อมูลสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของกลุ่มแรงงาน โดยเครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับศูนย์วิทยาการเสพติด มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม

โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อคาดประมาณจำนวนประชากรกลุ่มแรงงานที่ใช้ยาเสพติด และสืบค้นขั้นตอนในการทำงานแต่ละประเภทที่มีการใช้ยาเสพติดเพื่อเสริมการทำงาน โดยเน้นแรงงานที่ทำงานในกิจการ 5 ประเภทได้แก่ 1) เกษตร ครอบคลุมถึง ปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย/สารเคมีการเกษตร/ต้นกล้า) ปักชำ อภิบาล เก็บเกี่ยว และนำส่งผลผลิตสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูป/นำส่งตลาด 2) ประมง ทั้งการประมงทะเลและน้ำจืด นับตั้งแต่การเตรียม (อู่ต่อเรือ/ซ่อมเรือ แหอวน อาหารปลาฯลฯ) การออกจับปลา/การเพาะเลี้ยงปลากระชัง/บ่อกุ้ง และนำส่งผู้ขาย/ห้องเย็น 3) ขนส่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร นับตั้งแต่ ที่ตั้ง (อู่จอดรถ/ซ่อมรถ ฯลฯ) โกดังสินค้า/สถานีรับผู้โดยสาร การจัดสินค้า/ออกตั๋ว การขับขี่/บริการ การนำส่งสินค้า/ผู้โดยสาร 4) ก่อสร้าง เน้นอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคาร/การคมนาคม นับตั้งแต่การเตรียมวัสดุก่อสร้าง/คนงานและการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ก่อสร้าง และ 5) สถานบันเทิง โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เลือกพื้นที่ 10 จังหวัด/เขต ดำเนินการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ 13,260 คน และเชิงคุณภาพ 214 คน ทำการคาดประมาณแบบอ้อมด้วยวิธีขยายเครือข่าย

ผลการศึกษาบ่งชี้ว่ายาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานมีอัตราสูงกว่าในประชากรทั่วไป โดยเฉพาะการใช้สารกระตุ้น (Methamphatamine) เพื่อเสริมการทำงานโดยกลุ่มบันเทิงสูงเป็น 22 เท่าของประชากรทั่วไป กลุ่มขนส่ง 7 เท่า กลุ่มก่อสร้าง 3 เท่า กลุ่มเกษตรและกลุ่มประมง 2 เท่า สำหรับการใช้ Methamphetamine ในแรงงานกลุ่มบันเทิงใช้ก็เพื่อต้านฤทธิ์แอลกอฮอล์ ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ใช้เพื่อให้ตื่นตัวและทำงานได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้น โดยกลุ่มขนส่งมีการใช้ทั้งคนงานจัดสินค้า เด็กรถ และขับรถ เพื่อเร่งการทำงานเพิ่มปริมาณงาน กลุ่มก่อสร้างใช้ในพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะงานกลางคืน กลุ่มเกษตรใช้ทั้งในทุกขั้นตอนและในพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดโดยเฉพาะงานที่มีการจ้างเหมา (จ้างเหมาไถ/ฉีดยา/เก็บเกี่ยว/นำส่งตลาดและโรงงาน) ส่วนกลุ่มประมงใช้ช่วงซ่อมแซมเรือ ออกจับปลา และนำส่งตลาด นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้สารอื่นๆ เพื่อผ่อนคลายและวัตถุประสงค์อื่น ทั้งกัญชา กระท่อม เคตามีน ยาคลายเครียด ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก
ภาพรวมแรงงานไทยใช้สารเสพติด ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ มากที่สุด

ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้คาดประมาณกลุ่มแรงงานไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 10,553,795 คน โดยมีแรงงานไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 1,806,872 คน อันดับที่ 2 คือ สูบบุหรี่ จำนวน 1,781,326 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 403,680 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 241,868 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 233,607 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 187,156 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 153,468 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 128,409 คน

เมื่อแยกเป็นรายกลุ่ม พบว่าแรงงานกลุ่มเกษตรคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 5,911,567 คน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 665,186 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 576,438 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 141,445 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 67,433 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 62,170 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 52,960 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 42,433 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 24,342 คน
แรงงานประมง-ก่อสร้าง ‘สูบบุหรี่’ มากที่สุด

กลุ่มประมงคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 645,628 คน สูบบุหรี่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 127,140 คน อันดับที่ 2 คือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 94,678 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 15,633 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 11,070 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 7,928 คน อันดับที่ 6 คือ เสพยาบ้า จำนวน 5,610 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 4,563 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 2,468 คน

กลุ่มก่อสร้างคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 2,491,200 คน สูบบุหรี่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 694,905 คน อันดับที่ 2 คือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 616,586 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 112,031 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 58,194 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 56,638 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 46,991 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 39,833 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 37,655 คน
ภาคขนส่งใช้ ‘ยาบ้า’ น้อยกว่า ‘แอลกอฮอล์-บุหรี่-ยาคลายเครียด-กัญชา’

กลุ่มขนส่งคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,280,800 คน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 270,765 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 263,041 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 74,880 คน อันดับ ที่ 4 คือ เสพกัญชา จำนวน 63,229 คน อันดับที่ 5 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 60,088 คน อันดับที่ 6 คือ เสพยาบ้า จำนวน 51,840 คน อันดับที่ 7 คือ ใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 46,080 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 40,320 คน

และแรงงานในกลุ่มบันเทิงคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 224,600 คน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 159,656 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 119,802 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 59,691 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 45,084 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 43,641 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 29,755 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 23,624 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 20,558 คน
แรงงานข้ามชาติใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด

ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 2,531,668 คน โดยมีแรงงานข้ามชาติใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 386,591 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 288,008 คน อันดับที่ 3 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 94,848 คน อันดับที่ 4 คือเสพกัญชา จำนวน 17,531 คน อันดับที่ 5 คือเสพยาบ้า จำนวน 16,377 คน อันดับที่ 6 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 16,184 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 14,146 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 6,456 คน
การใช้ยาแก้ปวดและยากล่อมประสาท

จากการสอบถามพฤติกรรมการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติดของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าเมื่อกลุ่มตัวอย่างเกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานจะพึ่งพาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 15.62 และใช้สารกระตุ้น ร้อยละ 0.65 และสารเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 7.92 โดยกลุ่มบันเทิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ร้อยละ 20.58 รองลงมาคือกลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 16.18 กลุ่มเกษตร ร้อยละ 16.03 กลุ่มขนส่ง ร้อยละ 14.42 และกลุ่มประมง ร้อยละ 12.57 ตามลำดับ เช่นเดียวกับการใช้สารกระตุ้นที่พบว่ากลุ่มบันเทิงใช้สารกระตุ้นมากที่สุด ร้อยละ 0.93 รองลงมาคือกลุ่มเกษตร ร้อยละ 0.92 กลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 0.62 กลุ่มขนส่งร้อยละ 0.49 และกลุ่มประมง ร้อยละ 0.39 ตามลำดับ

สำหรับการใช้ยาแก้ปวดนั้น กลุ่มประมงใช้ยาแก้ปวดมากที่สุด ร้อยละ 8.54 รองลงมาคือกลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 8.45 กลุ่มเกษตร ร้อยละ 7.81 กลุ่มบันเทิง ร้อยละ 7.64 และกลุ่มขนส่ง ร้อยละ 5.97 ตามลำดับ และที่น่าสนใจคือกลุ่มบันเทิงใช้ยากล่อมประสาท/ผ่อนคลายมากที่สุด ร้อยละ 1.18 รองลงมาคือกลุ่มเกษตร ร้อยละ 1.06 กลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 0.69 กลุ่มขนส่ง ร้อยละ 0.65 และกลุ่มประมง ร้อยละ 0.44 ตามลำดับ
พบผู้ใช้ยาบ้า อดยาบ้าได้เฉลี่ยไม่ถึง 2 วัน

สำหรับผู้เสพยาบ้า พบกลุ่มตัวอย่างเริ่มใช้ยาบ้าครั้งแรกเมื่ออายุเฉลี่ย 19.64 ปี แต่เริ่มใช้ยาบ้าครั้งแรกเพียงอายุ 10 ปี เท่านั้น แต่อายุที่เริ่มใช้ยาบ้าครั้งแรกมากที่สุดถึง 65 ปี โดยกลุ่มประมงเริ่มใช้ยาบ้าอายุเฉลี่ยมากที่สุดคือ 21.25 ปี รองลงมาคือกลุ่มเกษตร (19.67 ปี) กลุ่มขนส่ง (19.22 ปี) กลุ่มก่อสร้าง (18.97 ปี) และกลุ่มบันเทิง (18.67 ปี) แต่กลุ่มก่อสร้างใช้ยาบ้าครั้งแรกมากที่สุดถึง 65 ปี ส่วนอายุที่เข้าบำบัดยาบ้าเป็นครั้งแรก พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เข้าบำบัดยาบ้าเป็นครั้งแรกมีอายุเฉลี่ย 22.46 ปี แต่เข้าบำบัดอายุน้อยที่สุดเพียง 12 ปี เท่านั้น แต่อายุที่เข้าบำบัดมากที่สุดคือ 44 ปี โดยกลุ่มขนส่งเข้าบำบัดอายุเฉลี่ยมากที่สุดคือ 27.29 ปี รองลงมาคือกลุ่มบันเทิง (24.25 ปี) กลุ่มเกษตร (21.44 ปี) กลุ่มก่อสร้าง (20.25) และกลุ่มประประมง 18.50 ปี นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือกลุ่มเกษตรเข้าบำบัดอายุน้อยที่เพียง 12 ปี แต่กลุ่มบันเทิงอายุน้อยที่สุดคือ 19 ปี และกลุ่มขนส่งเข้าบำบัดอายุมากที่สุดคือ 44 ปี แต่กลุ่มประมงอายุมากที่สุดเพียง 20 ปี เท่านั้น

นอกจากนี้ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุว่ากลุ่มตัวอย่างอดยาบ้าได้เฉลี่ยไม่ถึง 2 วัน และไม่สามารถอดยาบ้าได้แม้แต่วันเดียว แต่สามารถอดยาบ้าได้มากที่สุดถึง 1,765 วัน หรือ 4 ปี 8 เดือน โดยกลุ่มเกษตรสามารถอดยาบ้าได้เฉลี่ยมากที่สุดเป็นเวลา 4.58 วัน รองลงมาคือกลุ่มบันเทิงอดยาบ้าได้เฉลี่ยเพียง 1.51 วัน และกลุ่มขนส่ง กลุ่มประมง และกลุ่มก่อสร้างที่อดยาบ้าได้เฉลี่ยไม่ถึง 1 วัน (0.87 วัน, 0.62 วัน และ 0.27 วัน) นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือระยะเวลาที่อดยาบ้าได้มากที่สุด พบว่ากลุ่มเกษตรสามารถอดยาบ้าได้นานที่สุดเป็นเวลา 1,765 วัน หรือ 4 ปี 8 เดือน รองลงมาคือกลุ่มบันเทิงเป็นเวลา 1,095 วัน หรือ 3 ปี และกลุ่มก่อสร้างเป็นเวลา 850 วัน หรือ 2 ปี 3 เดือน กลุ่มประมงเป็นเวลา 730 วัน หรือ 2 ปี และกลุ่มขนส่งเพียง 395 วัน หรือ 1 ปี 1 เดือนเท่านั้น
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.