ชัยรัตน์ ถมยา, เตือนใจ ดีเทศน์, วีรพงษ์ รามางกูร, ทศพร ศิริสัมพันธ์
Posted: 20 Aug 2018 04:04 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-20 18:04
ศุภรดา เฟื่องฟู
พ.ต.ต. กิจชัยยะ สุรารักษ์
ในงาน "รัฐศาสตร์นวัตกรรมในโลกแห่งความพลิกผัน" ‘วีรพงษ์ รามางกูร’ เสนอว่าจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างหลักวิชาการกับความเป็นไปได้ในทางการเมืองเพื่อปรับตัวในโลกที่พลิกผัน ด้าน ‘เตือนใจ ดีเทศน์’ ชี้ว่านโยบายยังไม่แก้ปัญหา พหุวัฒนธรรม-สถานะของบุคคล-สิทธิชุมชน/การจัดการทรัพยากร ชูคำถาม “ทำอย่างไรไม่ให้โลกที่พลิกผันหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำลายอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชน”
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาหัวข้อ “Disruptive World: Innovative Political Science?” รัฐศาสตร์นวัตกรรมในโลกแห่งความพลิกผัน ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล อาคารเกษม อุทยานิน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยช่วงที่สองของภาคเช้าเป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยในโลกที่พลิกผัน” โดยมีวิทยากร ได้แก่ วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดับเบิ้ลเอ 1991 จำกัด (มหาชน) , เตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม โดยมี ชัยรัตน์ ถมยา เป็นผู้ดำเนินรายการ
แดน สเลเทอร์: รัฐศาสตร์นวัตกรรมในโลกแห่งความพลิกผัน I 70 ปีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
วีรพงษ์ รามางกูร กล่าวว่าองค์ความรู้และหลักปรัชญาต่างๆ ในทางรัฐศาสตร์นั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ในด้านต่างๆได้อีกมากมาย ตลอดจนสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ในทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน หรือทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ
ส่วนในประเด็นการปรับตัวกับโลกที่พลิกผันนั้น วีรพงษ์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ฉับพลันจะเกิดขึ้นทุกๆ สิบปี และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างหลักวิชาการกับความเป็นไปได้ในทางการเมือง แล้วจึงนำไปปรับใช้เพื่อการปรับตัวในโลกที่พลิกผันต่อไป
เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวถึง แนวคิดในการทำงานที่สำคัญภายใต้หัวข้อ “รัฐศาสตร์กับแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อส่วนรวม” โดยมีหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานคือมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ชุมชน และการพัฒนาและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบในเวทีโลก ผ่านการขับเคลื่อนด้วยแนวความคิดที่สำคัญ ได้แก่
1.) การศึกษาและยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละเชื้อชาติ จนสามารถสร้างความเข้าใจและการยอมรับในความแตกต่าง จนนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงของภาษาและวัฒนธรรมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ
2.) การศึกษาปัญหาด้านสถานะของบุคคลและสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งปัญหาการไร้ตัวตนและความคุ้มครองทางกฎหมายเช่นนี้ มักจะเกิดขึ้นกับคนชายขอบซึ่งไม่มีปากเสียง ทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ถกทอดทิ้งทั้งในมิติรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยวิทยากรให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมากโดยมีหลักคิดว่า “การไม่มีตัวตนถือเป็นความทุกข์” ดังนั้น จึงจะต้องมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาด้านสถานะของบุคคลนี้ผ่านการใช้หรือปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
3.) การศึกษาประเด็นปัญหาด้านสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากถือเป็นประเด็นปัญหาเชิงนโยบายของรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชน เช่น พื้นที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่ของตนมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่รัฐกลับมีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานหรือพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้กลุ่มกะเหรี่ยงเหล่านี้กลายเป็นผู้บุกรุกไปในทันที เป็นต้น
โดยเตือนใจได้แสดงความเห็นว่า จากการศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นได้ว่า หลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักการตามรัฐธรรมนูญของรัฐ ในนโยบายต่างๆ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างจริงจัง
ส่วนประเด็นหลักว่า “สังคมไทยจะอยู่อย่างไรในโลกที่ผกผัน”นั้น เตือนใจกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างนั้นชุมชนก็ยังจำเป็นจะต้องรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันดีงามที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเอาไว้ ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจที่สุดในการสัมมนาครั้งนี้ก็คือ “ทำอย่างไรไม่ให้โลกที่พลิกผันหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำลาย อัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชน” และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวตามความพลิกผันให้ทันอีกด้วย
ทศพร ศิริสัมพันธ์ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมจนบางครั้ง การใช้ศาสตร์หรือทฤษฎีดั้งเดิมคงไม่สามารถอธิบายได้อย่างทั่วถึงและในสภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ การนำองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่นการนำหลักรัฐศาสตร์มาใช้ในการกำหนดนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ที่เน้นความสัมฤทธิ์ผลของงาน หรือเป็นหลักการ “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” ดังนั้น เมื่อภาคเอกชนมีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของกิจการ (KPI) แล้ว หน่วยงานราชการก็ควรจะมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการด้วยตัวชี้วัดต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมเช่นกัน โดยสรุปแล้ว หลักรัฐศาสตร์สามารถนำไปใช้ในการบริหารกิจการต่างๆ ได้ และคำตอบของคำถามที่ว่า เราจะสามารถอยู่ในโลกที่พลิกผันในอนาคตนี้ได้โดยการสร้างอนาคตขึ้นมาด้วยตนเองนั่นเอง
แสดงความคิดเห็น