Posted: 25 Aug 2018 08:24 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-08-25 22:24
Land watch รู้หรือไม่?
ประเทศฟิลิปปินส์เคยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษป้องกันการรัฐประหาร???
นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อป้องกันการรัฐประหาร มีอยู่จริงในโลกใบนี้
จากหนังสือเรื่อง“หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ทีมงาน Land watch ได้ค้นพบเรื่องที่น่าตื่นเต้น ซึ่งออกจะดูกลับหัวกลับหางต่างจากสถานการณ์ในเมืองไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ ที่ดิน นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฐานทัพและการรัฐประหาร
จากงานศึกษาเรื่อง Special economic zones and Free port : challenges and opportunities in base conversion and development experience in the Philippines (2011) ของ Casanova ได้ประมวลไว้ว่า“ในประเทศฟิลิปปินส์หลังยุค“เผด็จการมากอส” (Ferdinand Marcos ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ พ.ศ.2508-2529) แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีความพยายามสร้างประชาธิปไตยแต่ก็ถูกขัดขวางจากการรัฐประหารนองเลือดโดยทหารฝ่ายขวาหลายครั้ง
นอกจากนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก็เกิดภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด ประเทศฟิลิปปินส์จึงมีความบอบช้ำมาก และเกิดกระแสของขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์ ในช่วงเดียวกันรัฐบาลของอคีโน (Corazón Aquino ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หลังจากที่เธอนำแนวร่วมปฏิวัติพลังประชาชน โค่นล้มเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2529-2535) ก็ยกเลิกข้อตกลงที่อนุญาตให้อเมริกาตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์
ซึ่งการเปลี่ยนการใช้ที่ดินจากฐานทัพไปเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อมีการตั้งสภาบริหารกฎหมาย (Legislative-Executive Bases Council) เพื่อสร้างแผนพัฒนาฐานทัพเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไม่เพียงแต่ฐานทัพอเมริกาเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยน แม้กระทั้งฐานทัพของทหารฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆเขตเมืองมะนิลาเองก็ถูกนำเอามาแปรรูปด้วย ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมามีรัฐประหารบ่อย รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงต้องการลดกำลังและความเสี่ยงจากฝ่ายทหารโดยย้ายค่ายไปไกลจากเมืองหลวง
ในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) รัฐบาลพลเรือนได้ประกาศใช้กฎหมาย Act no.7227 เพื่อดำเนินการเปลี่ยนฐานทัพและตั้งองค์กรพัฒนาและเปลี่ยนฐานทัพ ได้แก่ Bases Conversion and Development Authority(BCDA) ตลอดจน Subic Bay Metropolitan Authority ขึ้นเพื่อดูแลฐานทัพเรือร่วมกับ BCDA ตามแผนการบริหารโดยที่ BCDA จะสามารถบริหารเขตเองได้ด้วยรายได้ที่เกิดจากเขตโดยไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลาง โดยการสร้างรายได้จากการให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นฐานทัพแก่เอกชน และสร้างสวนอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาอื่นๆ อนึ่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศฟิลิปปินส์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก แต่สร้างขึ้นเพื่อดึงแรงงานฟิลิปปินส์กลับมาทำงานในประเทศโดยเพิ่มกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศตนเอง”[i]
เรื่องราวการย้ายฐานทัพเพื่อป้องกันการรัฐประหารในประเทศฟิลิปปินส์ชวนให้นึกถึงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ว่าด้วยการย้ายกองกำลังของกองทัพเรือออกจากกรุงเทพมหานครหลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 [ii] ซึ่งการกบฎครั้งนี้ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือ ทำให้บทบาทและแสนยานุภาพของกองทัพเรือถูกบั่นทอนลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก เนื่องจากถือเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวง ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี ส่งผลให้กองทัพเรือถูกลดแสนยานุภาพลง ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจสามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา
โดยเฉพาะการย้ายกำลังรบหลักของกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ, ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ, ย้ายกองเรือรบ ตลอดจนเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้เปลี่ยนชื่อกองเรือรบเป็น “ กองเรือยุทธการ” ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร(พระราม4) ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของ โครงการ ONE Bangkok (เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ทีซีซี และกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพัฒนาที่ดินบริเวณหัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ขนาด 104 ไร่ ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 30+30 ปี พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส One Bangkok แหล่งรวมพื้นที่ออฟฟิศบิลดิ้ง รีเทล โรงแรม และที่พักอาศัย[iii]) นั่นเอง
แม้จะมีลักษณะของการย้ายฐานทัพคล้ายคลึงกัน (การแทนที่ฐานทัพด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อป้องกันการรัฐประหารโดยกองทัพของฟิลิปปินส์และการย้ายกำลังรบของทหารเรือออกจากกรุงเทพฯเพื่อป้องกันทหารเรือทำรัฐประหาร) หากแต่ผลของทั้งสองเหตุการณ์ต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า “บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจ(ในสมัยนั้น)สามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา”
หลังจาก เวลาผ่านไปกว่า 63 ปีหลังกบฏแมนฮัตตัน กองทัพบกไทยที่มีบทบาททางการเมืองและมีกองกำลังทหารจำนวนมากในกรุงเทพมหานครยังคงเข้าแทรกแซงทางการเมืองหลายครั้งหลายครา จนกระทั้งนำไปสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผลต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งนี้ยังนำไปสู่การใช้คำสั่งรัฐทหารสร้างนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
พ.ศ.2558 รัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดน โดยได้ประกาศพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกในเดือนมกราคม 2558 จำนวน 5 เขต ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว ตราด สงขลา และมุกดาหาร และต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกันได้ประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 เขต ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย กาญจนบุรี เชียงราย นครพนม และนราธิวาส
ซึ่งปรากฏว่าพบปัญหามากมายจากกระบวนการจัดการที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดย การจัดหาที่ดินและการใช้ทางลัดยกเว้นการใช้บังคับใช้กฎหมายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามคำสั่งคสช.ที่ 17/2558 และคำสั่งคสช.ที่ 3/2559 เป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนและอำนายความสะดวกให้กับนักลงทุนในการใช้ประโยชน์ที่ดินมากที่สุด ขณะเดียวกันการดำเนินงานของรัฐในการจัดหาที่ดินก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการถือครองที่ดินของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของชาวบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 97 ครอบครัว ถือครองที่ดินเนื้อที่ 2,182 ไร่ ที่ชาวบ้านต้องถูกเรียกคืนที่ดินไปทั้งหมด และในกรณีที่หน่วยงานรัฐใช้วิธีการฟ้องร้องชาวบ้านเพื่อบังคับให้ออกจากที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ชาวบ้านจำนวน 33 รายที่อาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุม โดยอัยการได้สั่งฟ้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ซึ่งผลกระทบเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไร้ธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้รัฐบาลทหารอย่างแท้จริง
“เมื่อไรที่อำนาจเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญเที่ยงธรรม กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาอย่างเต็มใบ การผลักดันนโยบายการใช้ที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน คงจะเป็นของประชาชนสักที”
[i] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ.-เชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,2561,น.75-76
[ii] กบฎแมนฮัตตัน,สถาบันพระปกเกล้า
เข้าถึงได้ที่ :
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8E%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99
[iii] เจ้าสัว ‘เจริญ’ ทุ่ม 1.2 แสนล้านพัฒนาโครงการยักษ์ One Bangkok แยกพระราม4-วิทยุ , forbesthailand,
เข้าถึงได้ที่ : http://forbesthailand.com/news-detail.php?did=1551
ที่มา: landwatchthai.org/1131[full-post]
แสดงความคิดเห็น