Posted: 02 Aug 2018 09:37 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-08-02 23:37


นลธวัช มะชัย

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2561
21.30 น. บ้านห้วยน้ำใส พัทลุง

ผมเดินทางถึงพัทลุงในช่วงเย็นของวันนี้ เป็นปกติที่ผมเดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อ-แม่ ในช่วงวันสำคัญๆ ที่จะมีวันหยุดยาวติดกันหลายวัน เพียงแต่การเดินทางกลับบ้านของผมครั้งนี้ไม่ได้เพื่อกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงหยุดยาวสงกรานต์อย่างเดียว แต่ผมกลับมาเพื่อผ่อนผันทหารอีกด้วย

อันที่จริงหากใครติดตามการแสดงทัศนะเรื่องการเกณฑ์ทหารของผมก็จะรู้ดีว่าผมสนใจติดตามประเด็นการ “ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร” เรื่อยมา ไม่ใช่เพราะว่าผมยังอยู่ในช่วงผ่อนผันทหารเลยไม่อยากให้ตัวเองลำบาก หรือกลัวการเกณฑ์ทหารแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า “คำถาม” ที่เคยคิดเล่นๆ ไว้ตอนเด็กว่า เราจะเกณฑ์ทหารกันไปทำไม? นำไปสู่การพยายามหาคำตอบของผมโดยการไล่อ่านประวัติศาสตร์สงคราม ปรัชญาการเมือง รวมถึงวัฒนธรรมศึกษาและวรรณกรรม ทำให้ผมได้คำตอบว่า “ประเทศไทยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร” อีกต่อไปแล้ว ควรเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจมากกว่า ส่วนในเหตุผลรายละเอียดปลีกย่อยผมคงจะมีโอกาสได้เสนอในโอกาสต่อไป

ระหว่างที่นั่งรถจากสนามบินนครศรีธรรมราชมาจังหวัดพัทลุงผมนั่งคิดเล่นๆ ถึงกรณีในต่างประเทศเกี่ยวกับการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารทั้งในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมัน อังกฤษ อิตาลี ก็ล้วนแล้วแต่ผ่าน “สภาวการณ์” ยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารมาแล้ว ทำให้ผมพอจะมีความหวังอยู่บ้างว่าการต่อต้านการเกณฑ์ทหารของคนรุ่นใหม่ๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ แม้จะต้องใช้ความพยายามสูงมากก็ตามที

โดยส่วนตัวผมชอบกรณีของสเปนมากที่สุด เพราะหลังจากการเกณฑ์ทหารในประเทศสเปนได้นำเนินการมานานมากกว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่ยุคพระราชาคาร์ลอสได้เริ่มจัดการเกณฑ์ทหารขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 18 แต่ปี 2002 การเกณฑ์ทหารก็ได้ถึงจุดสิ้นสุดลงมาเป็นระบบสมัครแทนด้วยเหตุผลที่ว่า กองทัพของสเปนต้องเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ และต้องการกองทัพที่เป็น “มืออาชีพ” จริงๆ การให้เหตุผลในการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของสเปนช่างน่านับถือมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าวิธีคิดแบบนี้ยังเข้าไม่ถึง “พื้นที่ทางความคิด” หรือ “เขตทหาร” ของกองทัพไทย

การปฏิเสธการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรม (Conscientious objector) ถูกใช้เป็นเหตุผลในการรณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ใช้เหตุผลนี้ในการปฏิเสธการเกณฑ์ทหารเป็นคนแรกๆ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้เขาได้เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า "ประเทศไทยเปลี่ยน เกณฑ์ทหารต้องเปลี่ยน" และเขียนคำโปรยไว้ที่หน้าปกว่า “I can love my country without having to be drafted”

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 มีคนกลุ่มหนึ่งเคยออกมาต่อต้านการเกณฑ์ทหารอย่างเอาจริงเอาจัง มีการโต้แย้งกันทั้งทางฝ่ายที่ปฏิเสธและสนับสนุนการเกณฑ์ทหาร โต้แย้งในพื้นที่สาธารณะและโทรทัศน์กันอย่างออกรส ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปบวกกับไลฟ์สไตล์ที่มากขึ้นทำให้คนสนใจประเด็นนี้มากขึ้นตามไปด้วย แต่ออกมาแสดงความคิดเห็นในพื้นที่นอกโลกออนไลน์น้อยลง แน่นอนครับว่าในโลกออนไลน์มีพลังแฝงอยู่มากมายมหาศาล เพียงแต่ว่าเราต้องการพลังที่หลากหลายรูปแบบในการต่อต้านการเกณฑ์ทหารเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า

เนติวิทย์ เป็นคนหนึ่งที่ใช้เครื่องมือทั้งออนไลน์และออฟไลน์เคลื่อนไหวประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี มีกระแสตอบโต้และโจมตีเขากลับไม่ขาดสาย แต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของกองทัพไทยที่อ่อนไหวต่อคำถามเหล่านี้อยู่เหมือนกัน เพราะคนที่หวังดีและฉลาดๆ ในกองทัพเองก็คงรู้ตัวดีอยู่แล้วว่าการเกณฑ์ทหารไม่ได้ช่วยให้กองทัพดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นเลย ช่วยได้เพียงอย่างเดียวก็คือ ยังคงพิสูจน์ให้เห็นว่ากองทัพสามารถครอบงำความกลัวแก่คนหนุ่มสาวได้อยู่ก็เท่านั้นเอง

นี่ยังไม่พูดถึงการคอรัปชันภายในกองทัพโดยการเล่นแร่แปรธาตุจากพิธีกรรมการเกณฑ์ทหารเหล่านี้นะครับ ประเด็นเหล่านี้ก็นำความเสื่อมโทรมสู่กองทัพได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ทางออกที่สำคัญคือ “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ครับ ผมเชื่อว่าจะสามารถ “สะสาง” อีกหลายๆ ปัญหาที่เป็นผลพวงจากพิธีกรรมนี้ได้

คืนนี้ขอไปนอนก่อน พรุ่งนี้ต้องตื่นไปผ่อนผันทหารแต่เช้าตรู่


วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2561
06.25 น. บนรถกระบะระหว่างเดินทางไปที่ว่าการอำเภอ

“คิดตอบแทนชาติ อย่าได้ขาดเกณฑ์ทหาร”

ข้อความบนซองพลาสติกสีขาวขุ่นที่ใส่เอกสารผ่อนผันทหารเขียนไว้อย่างนั้น ผมพลิกไปพลิกมาตรวจดูเอกสารที่ต้องใช้ ก่อนวิ่งขึ้นรถที่พี่ชายสตาร์ทเครื่องรอไว้แล้ว บ้านพักผมอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร จึงพอมีเวลาให้ได้สนทนากับพี่ชายระหว่างเดินทางมากพอสมควร

เมื่อวานตอนที่พี่ชายไปรับผมที่สนามบินนครศรีธรรมราช ตอนเดินทางกลับบ้านเราได้คุยกันถึงเพื่อนสนิทผมคนหนึ่งที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยกัน เขาเคยมาเที่ยวบ้านผมเมื่อปีที่แล้วจึงมีโอกาสได้รู้จักกับพี่ชายของผม ไม่น่าแปลกใจอะไรที่อยู่ๆ พี่ชายผมจะถามถึงเขาขึ้นมา แต่ที่บังเอิญคือ ผมกำลังติดตามเรื่องการ “จ่ายมาได้โรคไป” ของเขาอยู่พอดี เมื่อวานเราคุยกันนิดหน่อยว่าเขาทำเรื่องยื่นผ่อนผันทหารกับทางมหาวิทยาลัยไม่ทัน ทำให้เขาต้องกลับบ้านไปเกณฑ์ทหารในปีนี้

ระหว่างเดินทางไปผ่อนผันทหารที่ศาลาว่าการอำเภอ เราจึงมีเรื่องคุยกันบนรถถึงเพื่อนคนนี้ของผมต่อ

เขามีพ่อเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ มีคนนับหน้าถือตาเป็นอย่างมากในท้องที่นั้น เขาเล่าให้ผมฟังว่าครอบครัวเขาวิ่งเต้นเพื่อให้เขารอดจากการเกณฑ์ทหาร เรื่องเล่าของเขาสร้างความตื่นเต้นให้ผมได้ไม่น้อย แม้ผมจะได้ยินเรื่องการวิ่งเต้นเหล่านี้มาหลายกรณี แต่พอมาเกิดขึ้นกับเพื่อนสนิทผมในปีนี้ ก็อดคิดทบทวนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าละอายใจไปพร้อมกัน

ผมเคยถามเขาว่าคิดอย่างไรกับการเกณฑ์ทหาร เขาตอบผมอย่างหนักแน่นว่า

“…มันยังอยู่ในยุคที่เราต้องรับใช้ชาติด้วยกำลัง แรงงาน ความรุนแรงหรอ จริงหรอที่ประเทศชาติเราขาดกำลังพลในการป้องกันประเทศ ถ้าการรับใช้ 'ชาติ' หมายถึงการรับใช้สังคม รับใช้ส่วนรวม มันจะไม่มีวิธีรับใช้สังคมที่ดีกว่านี้หรือ แต่ถ้าการรับใช้ 'ชาติ' ในแง่นี้หมายถึงรับใช้ สถาบัน อำนาจฝ่ายทหาร หรือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ผมคงปฏิเสธอย่างไว ในช่วงที่ไปคัดเลือกจนถึงคัดเลือกเสร็จ ความรู้สึกหดหู่มันมีแทบทุกขณะ เราแอบร้องไห้กับเรื่องนี้หลายครั้ง มันไม่ใช่สิ่งที่คนควรถูกบังคับให้เจอ ทั้งเวลา โอกาส และความเป็นมนุษย์ถูกลิดรอน ชีวิตเราควรมีทางให้ตัวเองมากกว่านี้…”

ผมถามเขาต่อว่า แล้วทำไมถึงเลือกที่จะ “ยัดเงิน” เพื่อให้หลุดการเกณฑ์ทหาร

“…ก็เป็นสิ่งที่บ้านเราพอจะทำได้เพื่อให้ชีวิตเราหลุดพ้นจากบ่วงนี้และความเสี่ยงนี้ ก็รู้สึกต้าน อึดอัด ยิ่งในวันคัดเลือกจริง รู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์นั้นมาก เห็นใจคนที่ไม่ได้มีโอกาสแบบเรา ก็รู้ว่าสิ่งที่ทำคือการโกง แต่ให้เลือกบนความเสี่ยงนี้ เราก็รับไม่ได้ถ้าจะต้องเสี่ยงไปเป็นทหาร เราอาจจะต้องอึดอัดกว่านี้…” เขาตอบมาเช่นนี้ ผมยังคงนับถือในตัวเขาอยู่เพราะรู้ดีว่าระบบการเกณฑ์ทหารมันบังคับให้เขาต้องเลือกเช่นนี้

ครอบครัวของเขาจ่ายเงิน “55,000 บาท” ไป จึงได้ “หนังเปลือกตาตก” กลับมา

“เป็นความผิดปกติทางร่างกาย” ในใบผ่านการคัดเลือกเขาเขียนไว้อย่างนั้น

ขณะที่ผมมาถึงที่ว่าการอำเภอเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สารวัตรทหารเรียกเข้าแถวเคารพธงชาติพอดี ผมวิ่งกุลีกุจอไปเข้าแถวทันที การเข้าแถวต้องเข้าตามป้ายตำบลของตัวเอง อำเภอนี้มี 4 ตำบล มีแถวทั้งหมด 5 แถว เพราะมีแถว “ผ่อนผัน” เพิ่มเข้ามาอีกแถว ผมรีบวิ่งมาต่อแถวนี้ ภาพที่ผมเห็นคือ มีนายทหารยืนเรียงหน้ากระดานและมีแพทย์ประจำหน่วยอีกหนึ่งคนที่ใส่เครื่องแบบต่างออกไป ป้ายเหนือหัวตรงหน้าเขียนข้อความว่า “หน่วยตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง”

หลังจากเคารพธงชาติเสร็จ นายทหารและแพทย์ประจำหน่วยก็แยกย้ายกันไปประจำหน้าที่ของตัวเอง ผู้บัญชาการหน่วยก้าวขึ้นมาข้างหน้าอ่านสารจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2561 ต่อด้วยโฆษกประจำหน่วยตรวจเลือกมาอธิบายขั้นตอนในการเกณฑ์ทหารครั้งนี้ แล้วแยกคนที่เกณฑ์ทหารออกจากคนที่ผ่อนผันเพื่อสะดวกในการตรวจสอบเอกสาร คนที่เข้าตรวจเลือกก็ไปถอดเสื้อรอเรียกชื่อตามลำดับตำบลที่อาศัยอยู่ ส่วนผมและเพื่อนๆ ที่ยังคงผ่อนผันทหารต่อ ไปเข้าแถวทำเรื่องและตรวจสอบเอกสารเสร็จก็กลับบ้านได้เลย หลักๆ เอกสารที่ผมต้องใช้ก็มีแค่บัตรประชาชนและใบหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (ได้มาจากการผ่อนผันทหารเมื่อปีที่แล้ว)

ระหว่างนั่งรอเรียกชื่อให้ไปตรวจสอบเอกสารกับประทับลายนิ้วมือ ผมนั่งอ่านข้อความหลังใบ สด.35 (ใบหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร) มีข้อความคำเตือนเขียนแจ้งไว้ข้างหลังว่า

คำเตือน
เมื่อผู้ใดได้รับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร เห็นว่าตนสมควรจะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันด้วยเหตุใดๆ ให้นำหลักฐานไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันรวมคนตรวจเลือกก่อนจับฉลาก หรือก่อนกำหนดให้เข้ากองประจำการในกรณีที่ไม่มีการจับฉลาก มิฉะนั้น ถือว่าหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน

ถ้าจะขอผ่อนผันในลักษณะที่จำเป็นต้องเลี้ยงบิดามารดา ซึ่งทุพพลภาพหรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู หรือที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ หรือที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ซึ่งบิดามารดาตายหรือประกอบอาชีพด้วยกำลังทรัพย์ของตนเอง และผลที่ได้หรือเสียไปเป็นของตนเองโดยแท้ ทั้งได้เสียภาษีหรืออากรแล้ว ไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงสำหรับอาชีพนั้นๆ ก็ให้ไปชี้แจงต่อนายอำเภอเสียก่อนวันตรวจเลือกไม่น้อยกว่าสามสิบวัน กับให้ร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกดังกล่าวในข้อ 1 นั้นด้วย

ในวันกำหนดรวมคนตรวจเลือกให้นำใบสำคัญทหารกองเกิน หรือถ้ามีความรู้วิชาการอย่างใด ให้นำประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษานั้นๆ ไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือกด้วย

ผู้ที่หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปให้คณะกรรมการตรวจเลือกเข้ากองประจำการตามกำหนดหรือหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนเพื่อจะไม่เข้ารับราชการทหารกองประจำการ มีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 45 ต้องจำคุกไม่เกินสามปี

หมายเรียกเข้ารับราชการทหารฉบับนี้ ถ้าจะโดยสารรถไฟ ผู้ที่ถูกเรียกต้องนำติดตัวไปให้เจ้าพนักงานรถไฟตรวจได้เสมอ

ผมแอบได้ยินเพื่อนที่นั่งข้างๆ ก่นบ่นก่นด่าทำนองว่า “นี่เราต้องพกหมายเรียกขึ้นรถไฟด้วยเหรอ แล้วถ้าขึ้นเครื่องบินต้องพกไปด้วยไหมวะ” ผมได้ยินแล้วแทบหลุดขำออกมา เพราะไม่คิดว่าจะมีคนอ่านแล้วคิดเหมือนกัน แถมพูดออกมาดังเสียด้วย

ในการตรวจเลือกทหารกองเกินมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้ครับ โต๊ะที่ 1 กรรมการจะเรียกชื่อทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือก , โต๊ะที่ 2 กรรมการแพทย์จะตรวจร่างกายว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ กรรมการสัสดีกำหนดคนเป็น 4 จำพวก คือ จำพวกที่ 1 คนร่างกายสมบูรณ์ดี จำพวกที่ 2 คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ จำพวกที่ 3 คนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีโรครักษาให้หายไม่ได้ภายใน 30 วัน จำพวกที่ 4 คนที่ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร , โต๊ะที่ 3 วัดขนาด กรรมการจะวัดขนาดสูงและขนาดรอบตัวของร่างกาย

ผมใช้เวลาในการผ่อนผันทหารประมาณ 15 นาที ก็กลับบ้านได้ บ้านผมเป็นอำเภอเล็กๆ มีคนไม่มาก กระบวนการจึงค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนคนที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร กระบวนการที่ใช้ก็ประมาณ 1 วันเต็ม น้องๆ ผมหลายคนในหมู่บ้านที่ต้องเกณฑ์ทหารปีนี้ เข้ามาทักทายผมไม่ขาดสาย เพราะนานๆ ครั้งกว่าผมจะได้กลับบ้านแล้วมีเวลาว่างมากพอไปเจอพวกเขาที่วิ่งเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก

น้องๆ หลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ ออกจากโรงเรียนมาช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ยังไม่จบมอต้น จึงไม่มีโอกาสได้เรียนวิชารักษาดินแดน (รด.) และไม่มีสิทธิผ่อนผันทหารแบบผม เมื่ออายุ 21 ปี จึงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารอย่างไม่มีเงื่อนไข ผมได้แต่โอบกอดและกระซิบบอกไปว่า “พี่เป็นกำลังใจให้นะ” ทั้งๆ ที่ผมก็รู้ทั้งรู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาไม่ได้ต่างอะไรกับลูกไก่ในกำมือพวกบ้าอำนาจเหล่านั้น จะบีบก็ตายจะคลายก็ไม่รอด พวกเขาไม่สามารถเลือกชะตากรรมและอนาคตของตัวเองได้เลย จะวางแผนอะไรในระยะยาวก็ต้องรอให้ผ่านพ้นพิธีกรรมเหล่านี้ไปก่อน ถึงจะมีอิสระจากการขูดรีดเลือดเนื้อโดยกองทัพไทย ในนามของรัฐ หน้าที่พลเมือง และความหวังดีต่างๆ นานา ที่รัฐไทยประทานให้ แม้ผมจะตกอยู่ในพิธีกรรมเดียวกันกับพวกเขาในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ผมก็พอจะมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง ต่างจากพวกเขาที่ต้องโดนพิพากษาอนาคตของพวกเขาจากกองทัพ ในนามเราทุกคนที่ยังนิ่งเฉยและปล่อยให้คำอ้างกลไก “หน้าที่ของชายไทย” เดินหน้าต่อไป


วันอังคารที่ 10 กันยายน 2561
15.30 น. เหนือน่านฟ้า นครศรีธรรมราช – กรุงเทพฯ

เมื่อวานยุ่งทั้งวันจนไม่มีเวลาได้หาข้อมูลมาตอบคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจ ขณะนั่งรอเครื่องที่สนามบินผมจึงลองค้นหาในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมดูว่า “สาร” ฉบับเต็มของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ผู้บัญชาการหน่วยตรวจเลือกทั่วประเทศอ่านให้ฟังตอนเข้าแถวเคารพธงชาติ เขียนไว้ว่าอย่างไรบ้าง เพราะมีคำว่า “หน้าที่ของชายไทย” ย้ำหลายครั้งในสารฉบับนั้นจนติดหูผมมาสองวันแล้ว เสียดายวันนั้นผมฟังอย่างละเอียดไม่ทันทั้งหมด แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีประกาศไว้

ผู้คนที่เดินกวักไกวในสนามบิน กลิ่นอายของการเคลื่อนไหว การมีอยู่ และความหมายของทุกสรรพสิ่ง เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ไฉนหน้าที่และความหมายของชายไทยจึงถูกทำให้หยุดนิ่งอยู่กับ “การเป็นทหาร” เช่นนี้ ผมคงนั่งเหม่อลอยคิดเรื่องนี้วนไปวนมาอยู่สักพักใหญ่ รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่พนักงานเอาเอสเพรสโซ่เย็นมาเสิร์ฟ

ผมค้นเจอคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประกาศไว้ว่า

“…การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือที่รู้จักกันดีคือการเกณฑ์ทหารนั้น ตามปกติกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดไว้ในเดือนเมษายน (วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 11 เมษายน ของทุกปี) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้ว จะต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดในหมายเรียก โดยนำหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) หมายเรียก (แบบ สด.35) บัตรประจำตัวประชาชน ประกาศนียบัตร หรือ หลักฐานทางการศึกษาไปแสดงด้วย หากทหารกองเกินผู้ใดไม่ไปถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และในวันตรวจเลือกนั้น ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนจะได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (แบบ สด.43) หรือที่รู้จักกันคือใบผ่านการเกณฑ์ทหารนั่นเอง…”

ก่อนกลับเชียงใหม่ผมไปคุยกับน้องๆ อีกสี่ห้าคนที่เกณฑ์ทหารปีนี้ คนหนึ่งตัดสินใจดรอปเรียนมหาวิทยาลัยมาสมัครทหารเกณฑ์เพราะอยากเป็นทหาร อีกคนหนึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ เมียกำลังท้องได้สี่เดือน โชคดีหน่อยที่เขาจับได้ใบดำ ภาพที่เขาวิ่งตาลีตาเหลือกไปกอดเมีย ยังทำให้ผมอดอมยิ้มไม่หาย ไม่อยากคิดเลยว่าถ้าเขาจับได้ใบแดงขึ้นมาลูกน้อยของเขาจะต้องเป็นเช่นไร ส่วนอีกคนเป็นกะเทยที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในอำเภอ เรียกเสียงฮือฮามากตอนเขาออกไปจับใบดำใบแดง ไม่กี่วินาทีต่อมาเขาร้องไห้โฮและเป็นลมล้มพับลงไปเพราะจับได้ใบแดง ทบ.1 ปัตตานี แต่บรรยากาศตอนนั้นกลับเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะจากคนที่ยืนมุงดูอยู่ เท่าที่ผมคุยด้วยทุกคนมีความรู้สึกนึกคิด ผมดีใจมากกับคนที่อยากเป็นทหารแล้วมีโอกาสได้เป็น ในขณะเดียวกันผมก็เสียใจอย่างสุดซึ่งกับคนที่ไม่ได้อยากเป็นทหาร แต่ก็ต้องจำใจยอมต้องเป็น เพราะมีความผิดตามกฎหมายหากปฏิเสธ

“…หน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องรับราชการทหาร ซึ่งการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารเป็นเรื่องที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เพราะกองทัพไทยจะฝึกฝนผู้เข้ารับราชการหารให้มีระเบียบ วินัย ฝึกหัดวิชาชีพเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากแก่ทหารเกณฑ์ทุกคน ซึ่งปกติการเกณฑ์ทหารจะกระทำกันในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ปีละครั้งและต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปี แต่มีข้อยกเว้นและผ่อนผันสำหรับ ผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหารและกฎกระทรวง…” ในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมระบุไว้อย่างนี้

ผมปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ เดินไปขึ้นเครื่องตามเสียงประกาศของสายการบิน ยังใจหายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนผ่อนผันทหารอยู่จนทำอะไรไม่ค่อยถูก ได้แต่ทบทวนแล้วคิดในใจว่า “เราจะต่อต้านการเกณฑ์ทหารได้อย่างไร” เพื่อยืนหยัดว่าหน้าที่ของชายไทย สามารถมีได้หลายรูปแบบ

และนี่คงเป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิตของผม

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย (Nontawat Machai) สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม นักศึกษาการละคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลางปี 2560 กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 หรือที่เรียกกันว่าคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” จากการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา ปัจจุบันยังคงเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ บ้านครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา) มูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.