Posted: 02 Aug 2018 08:21 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-08-03 10:21



กยศ. เสนอให้สถานศึกษามีส่วนค้ำประกัน ‘ภูมิใจไทย’ ชี้พักหนี้ 5 ปี ประหยัดงบกว่า 20,000 ล้าน เสนอเรียนฟรีจบ ป. ตรี ‘เพื่อไทย’ เสนอชำระหนี้เมื่อรายได้ 15,000 บ. ขึ้นไป ด้านนักวิชาการวิพากษ์ 'แนวคิด กยศ. การศึกษาคือการลงทุน' แต่ที่จริงการศึกษาคือสวัสดิการที่ทุกคนควรได้ฟรี 'ภาคปชช.' ชี้ปัญหาคือกำหนดเวลาจ่ายทั้งที่คนยังไม่มีงานทำ-อัตราดอกเบี้ยหลังผิดนัดสูงไป


จากกรณี วิภา บานเย็น หรือครูวิภา ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ให้นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน ทำให้ครูวิภาถูกยึดทรัพย์ โดยจาก 60 ราย มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย และล่าสุด (31 ก.ค.) พบว่ายังมีลูกศิษย์อีก 17 ราย อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย โดย กยศ. เผยว่าจาก 17 ราย ผู้กู้ได้มาปิดบัญชีแล้ว 5 ราย และมาติดต่อชำระบางส่วนแล้ว 3 ราย ที่เหลือกำลังทยอยติดต่อเข้ามา เชื่อว่าจะสามารถติดตามหนี้ได้ทั้งหมด โดยจะไม่มีการบังคับคดี

ตามมาด้วยกรณี สรพงศ์ เค้ากล้า ครูโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้ค้ำประกันเงินกู้กยศ.ให้ศิษย์ได้เรียนมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ ปี 2539-2548 ประมาณ 40 ราย รายละ 3-4 แสนบาท ขณะนี้กยศ. มีหมายศาลให้ครูติดตามมาไกล่เกลี่ย ผ่อนใช้เงินกู้คืนได้ 13 ราย ที่เหลือยังติดตามไม่เจอ ตอนนี้มียอดหนี้รวม 3-4 ล้าน

อีกรายคือกรณีครูไกรวิทย์ สุขสำอางค์ อายุ 58 ปี อดีตครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านหนองแขม ค้ำประกันให้ลูกศิษย์ 40-50 ราย และถูกเบี้ยวหนี้ จนศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องออกจากอาชีพครู มียอดหนี้กว่า 6 ล้านบาท ต้องแยกทางกับภรรยา อีกทั้งตอนนี้ยังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ อาศัยทำมาหากินโดยเลี้ยงปลาหมอสี ได้อาศัยญาติพี่น้องช่วยเหลือ

จากข้อมูล กยศ. มีจำนวนลูกหนี้สะสมทั้งสิ้น 5.4 ล้านคน มูลหนี้รวมทั้งหมดกว่า 5.7 แสนล้านบาทเอาเฉพาะปีนี้ กยศ. มีลูกหนี้ที่ต้องชำระคืน ประมาณ 3.5 ล้านคน มูลค่าหนี้รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท และ 2.5 ล้านคนกำลังจะโดนฟ้อง ทาง กยศ. มีศักยภาพในการฟ้องร้องต่อปีที่ 100,000 คน ซึ่งกำลังกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะ กยศ.ต้องเสียค่าจ้างทนายความในการดำเนินคดี ที่ 10,000 บาทต่อคดี คืองบระมาณที่เสียไปกับการจ้างทนาย หรือรวมทั้งปีคือ 1,000 ล้านบาท และหากรวมทั้งหมด 2.5 ล้านคน จะคิดเป็นงบกว่า 20,000 ล้านบาท


ประชาไทรวบรวมข้อเสนอและข้อวิพากษ์จากหลายฝ่าย ทั้งจาก กยศ. พรรคการเมือง ภาคประชาชน และนักวิชาการ
กยศ. เสนอให้สถานศึกษามีส่วนค้ำประกัน เปิดโครงการช่วยผู้ค้ำ

สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา และกรรมการ กยศ.กล่าวว่า เตรียมเสนอให้คณะกรรมการ หรือ บอร์ด กยศ. พิจารณาปลดล็อกเงื่อนไขการค้ำประกัน ด้วยการให้สถานศึกษา ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้มีส่วนค้ำประกันให้นักเรียนนักศึกษา เพราะโรงเรียน และมหาวิทยาลัยได้ประโยชน์โดยตรง จากเงินค่าเทอม ที่ กยศ.ได้โอนเงินเข้าโรงเรียน และมหาวิทยาลัย คือ จ่ายค่าเทอมแทนเด็ก ๆ ที่กู้ยืมเรียน ดังนั้นสถานศึกษา ควรเข้ามาช่วย ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ด้วย

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. เปิดเผยการจัดทำโครงการไกล่เกลี่ยเพื่อครูที่ไปค้ำประกันให้กับนักเรียน เพื่อช่วยเหลือครูที่ไปค้ำประกันให้กับนักเรียนจำนวนมาก แต่ไม่แน่ใจว่านักเรียนที่ค้ำประกันให้จะชำระหนี้หรือไม่ หรือครูที่ถูกแจ้งบังคับคดี รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ประสบปัญหาไปค้ำประกันให้กับนักเรียนเป็นจำนวนมาก จนถูกตามยึดทรัพย์เช่นเดียวกัน บุคคลเหล่านี้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือกับ กยศ.โดยตรง

เบื้องต้น การไกล่เกลี่ยหนี้สิน กยศ.จะร่วมมือกับกรมบังคับคดี เมื่อ กยศ.ยึดทรัพย์ผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกันแล้ว กรมบังคับคดีจะกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ หากผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ ไม่อยากให้ทรัพย์ของตนถูกขายทอดตลาด ก็เข้ามาไกล่เกลี่ยกับ กยศ.เพื่อขอผ่อนชำระหนี้ เมื่อผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันมาทำข้อตกลงกับ กยศ. ทาง กยศ.จะชะลอการขายทรัพย์ไว้ชั่วคราว เมื่อผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหาเงินมาจ่ายในเวลาที่กำหนด กยศ.จะถอนการยึดทรัพย์ต่อไป

'ภูมิใจไทย' ชี้พักหนี้ 5 ปี ประหยัดงบกว่า 2 หมื่นล้าน เสนอเรียนฟรีจบ ป.ตรี

พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิดในการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การพักชำระหนี้ไม่ได้ยกหนี้ให้ เพียงแต่พักการใช้หนี้ไว้ก่อน ระหว่างนั้นค่อยมาตกลงในรูปแบบของเงื่อนไขการจ่ายหนี้ ที่สำคัญการดำเนินนโยบายดังกล่าว สามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการฟ้องร้องลูกหนี้จำนวน 2.5 ล้านราย คิดเป็นงบกว่า 20,000 ล้านบาท และจะเป็นการต่อลมหายใจให้กับประชาชนด้วย

พรรคภูมิใจไทยยังชี้ว่าที่คนเหล่านี้ต้องมากู้ เพราะระบบการศึกษาไทยดูแลไม่ครอบคลุมทั่วถึง สังคมคาดหวังให้เด็กเรียนต่อถึงระดับปริญญาตรี แต่รัฐสนับสนุนให้เรียนฟรีเพียง 15 ปี หรือแค่จบมัธยม หลังจากนั้นเด็กต้องหาเงินเรียนเอง เมื่อไม่มีเงินก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นรัฐควรที่จะทำนโยบายให้โอกาสทางการศึกษา ขยายการเรียนฟรี ไปต่อจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ซึ่งทางพรรคกำลังทำนโยบายในการสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะทำงานและจ่ายภาษีคืนแก่ประเทศชาติอยู่แล้ว

'เพื่อไทย' เสนอ ชำระหนี้เมื่อรายได้ 15,000 บ. up

นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ผู้กู้เงินเพื่อการศึกษาต้องชำระเงินคืนกองทุนต่อเมื่อมีงานทำและมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท ไม่ใช่ต้องชำระหลังเรียนจบหรือเลิกเรียน เพราะผู้กู้หลายคนอาจยังตกงาน โดยเฉพาะปัจจุบันจำนวนคนที่จบปริญญาตรีแล้วยังตกงานจำนวนนับแสนคน ซึ่งไม่มีความสามารถในการใช้เงินคืน นอกจากนั้นควรพิจารณาว่าครอบครัวคนยากคนจนคนหาเช้ากินค่ำหาผู้ค้ำประกันไม่ง่าย จึงควรพิจารณาว่าควรยังให้มีผู้ค้ำอยู่หรือไม่เพราะเมื่อเด็กหาใครไม่ได้ก็ไม่พ้นต้องขอให้ครูเซ็นค้ำให้และครูก็เมตตาศิษย์จำยอมเซ็นให้ แต่ต่อมาก็อาจเสี่ยงถูกฟ้อง ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับครูที่มีหน้าที่สอน จึงควรยึดหลักการว่าการกู้ยืมเป็นภาระส่วนตัวของผู้กู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบชำระคืนเงินกู้เมื่อตนมีความสามารถทางการเงิน ดังนั้นควรนำหลักการของกองทุน กรอ. กลับมาใช้

'ภาคปชช.' ชี้ปัญหาคือกำหนดเวลาจ่ายทั้งที่คนยังไม่มีงานทำ-อัตราดอกเบี้ยหลังผิดนัดสูงไป

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือ แม้จะมีการแก้กฎหมายระบุให้มีการเปลี่ยนระยะเวลาการใช้คืน แต่ก็ให้อำนาจคณะกรรมการในการออกประกาศเกณฑ์ระยะเวลาในแต่ละปี ซึ่งที่ผ่านมากำหนดให้เริ่มจ่ายคืนหลังจากจบ 2 ปี ปัญหาคือ ภายในสองปีอัตราการได้งานทำก็ไม่ใช่ 100% และแม้ได้งานก็อาจได้รายได้ที่ต่ำ หลายคนจึงไม่พร้อมจะใช้คืน ดังนั้นคณะกรรมการควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะกำหนดให้ทุกคนชำระในระยะเวลาเดียวกันอาจเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่หละหลวมตั้งแต่การติดตามคนกู้ยืม ไม่รู้ที่อยู่ ที่ทำงาน ปัญหาประการต่อมาคือการกำหนดให้ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีหลังจากผิดนัด แม้ถือว่าไม่มากแต่ก็อาจจะมากเกินจำเป็น ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เสนอให้อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี

นักวิชาการวิพากษ์ 'กยศ. = การศึกษาคือการลงทุน' แต่แท้จริงคือสวัสดิการที่ทุกคนควรได้ฟรี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของหนี้ กยศ. เกี่ยวข้องกับสิทธิสวัสดิการด้านการศึกษา เริ่มจากที่รัฐบาลรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ และพยายามจะจำกัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการการศึกษา มองว่าการศึกษาเป็นสินค้า เป็นการลงทุน ช่วงที่ผ่านมา 10 กว่าปีจะเห็นได้ว่าค่าเทอมแต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มไม่เท่ากัน ในมหาวิทยาลัยรัฐก็มีโครงการพิเศษต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และเราจะเห็นความแตกต่างของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยต่างๆ พอค่าเทอมสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐบาลแก้ไขโดยการตั้งกองทุน กยศ. ซึ่งเป็นการให้งบประมาณที่ตั้งไว้กองหนึ่งแล้วให้เงินส่วนนี้หมุนเวียนไป ซึ่งแนวคิดของ กยศ. มองการศึกษาที่ดีคือการลงทุน มีราคาสูง รัฐบาลจะช่วยโดยการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พอจบออกมาก็มีปัญหาอีก เพราะการศึกษาไทยไม่สามารถทำให้มีการเลื่อนสถานะได้จริง ขณะที่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้น

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า แนวทางเชิงนโยบายระยะสั้น คือการปรับโครงสร้างหนี้ ทำอย่างไรให้หนี้ กยศ. น้อยที่สุด และใช้คืนได้มากที่สุด ต้องมีสองอย่างประกอบกัน คือ หนึ่ง เงินของ กยศ. จะมีส่วนค่าครองชีพและส่วนค่าเทอม เราอาจจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ให้เปล่า สมมติกู้ทั้งหมด 300,000 ถึงเวลาคืนคืนแค่ 200,000 หรือ 150,000 เพื่อให้การศึกษาเกิดความเสมอภาคมากขึ้น อีกด้าน กยศ. เป็นการผูกติดกับสถานะของพ่อแม่ ต้องมีการประจานความจน ต้องทำความดีถึงสามารถกู้ได้ ถ้าสามารถเปลี่ยน กยศ. ให้เป็นสิทธิถ้วนหน้า อัตราการเป็นหนี้เป็นมิตรมากขึ้น

ส่วนในระยะยาว การศึกษาควรเป็นสิทธิ เป็นสวัสดิการ การศึกษาไม่ควรถูกทำให้กลายเป็นสินค้า ควรมีการกำหนดค่าเทอมของทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยรัฐบาลรวมทั้งเอกชนสามารถสูงได้แค่ไหน อย่างในมาเลเซียค่าเทอมในมหาวิทยาลัยรัฐของเขาพอๆ กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับค่าครองชีพ ดังนั้นค่าเทอมจึงต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพหรือค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเราอยู่ที่ 7,500 บาท แต่ค่าเทอมอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท เท่ากับการทำงานขั้นต่ำสองเดือน แต่ค่าเทอมควรจะเท่ากับค่าครองชีพหนึ่งเดือนไม่เกินนี้

ษัษฐรัมย์ชี้ว่า นอกจากนี้ต้องทำให้มีเงินเดือนของนักศึกษา มองว่าการมาเรียนก็เหมือนการทำงาน ต้องมีระบบจัดการเรื่องค่าครองชีพให้เขา เพราะไม่งั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนจะเป็นหนี้มากขึ้น พอเป็นหนี้มากขึ้น อำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจจะน้อยลง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะไม่เกิด

“การศึกษาควรถูกลงทุนโดยรัฐบาลเป็นพื้นฐาน เหมือนกับเป็นน้ำ เป็นอากาศ ที่คนควรได้รับสิ่งที่ดี การศึกษาก็เหมือนการสร้างคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ เช่น มีสวนสาธารณะ มีศูนย์ศิลปะ ไม่จำเป็นว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนสาขาที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานอย่างเดียว แต่ควรเป็นสิทธิในการเลือกของประชาชนโดยทั่วไป ถ้าอยากเรียนต้องได้เรียน ไม่อยากเรียนก็ไม่เป็นไร แต่คนจะสามารถกลับเข้าสู่การศึกษาได้ทุกเมื่อ” ษัษฐรัมย์ กล่าว

อ้างอิง Thaipost, Matichon, Thairath, Ch7 , Matichon2
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.