Posted: 10 Aug 2018 07:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-08-10 21:07


เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา รายงาน

ตัวแทนนานาชาติร่วมถอดบทเรียนเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกที่ลาว ชี้ กระบวนการสร้างเขื่อนน่าสงสัยตั้งแต่ร่วมทุนถึงกระบวนการก่อสร้าง กฟผ. มีบริษัทลูกเป็นคู่ค้าถึง 9 จาก 11 โครงการทั่วลาว เปิดสถิติการใช้ไฟฟ้าไทย ผลิตได้มากกว่าที่ใช้สูงสุดหลายพันเมกะวัตต์ รายงานกรรมาธิการน้ำโขงเผย อีก 22 ปี เขื่อนให้ประโยชน์แค่นายทุน ประมง กสิกรรมเสียหายหนัก

เหตุการณ์เขื่อนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมากกลายถูกสปอตไลท์ของประชาคมโลกสาดส่องในฐานะแท่นบูชายัญของโครงการพัฒนาของประเทศที่หวังจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของประชาชนในประเทศ

แม้สายธารของความช่วยเหลือทั้งเรื่องปัจจัยยังชีพและการกู้ภัยจะมีจำนวนมาก แต่ปมปัญหาที่ต้องสะสางเพื่อไปให้ไกลกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการไปกู้ภัยและช่วยเหลือทุกครั้งคือกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและข้อกังขาเรื่องการร่วมทุนของบริษัท ไปจนถึงคำถามในทางหลักการว่า เอาจริงๆ แล้วเขื่อนผลิตไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้วหรือยัง เพราะนับจากปี 2479 ที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกกำเนิดขึ้นที่สหรัฐฯ (เขื่อนฮูเวอร์) มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 82 ปีแล้ว

เมื่อ 9 ส.ค. 2561 มีการจัดเวทีเสวนาประชาชนหัวข้อ “เขื่อนในลาว (แต่) ไม่ใช่เขื่อนลาว บริษัทเกาหลี การไฟฟ้าไทย และเงินช่ว่ยเหลือข้ามชาติในธุรกิจเขื่อนที่แตกพัง” โดยกลุ่มเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (Laos Dam Investment Monitor [LDIM]) ได้มีการพูดถึงเส้นทางการเงินและการรวมกลุ่มทางธุรกิจในระดับรัฐและเอกชนและส่งผลกระทบมายังประชาชนใต้เขื่อนในท้ายที่สุด และผลกระทบบนแม่น้ำนานาชาตินั้นส่งผลกระทบข้ามพรมแดนแบบไม่ต้องกรอกวีซ่าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง


ซ้ายไปขวา: เปรมฤดี ดาวเรือง สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี วิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ โซยอนคิม นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เมียด เมียน

เวทีเสวนาได้เชิญเมียด เมียน นักเคลื่อนไหวที่ลงพื้นที่ในลุ่มน้ำเซกอง เซซานและสเรป็อกในกัมพูชา หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักเชียงของ ผศ.โซยอน คิม สถาบันโซกังเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยโซกัง เกาหลีใต้ วิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส สำนักพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นวิทยากร โดยมีจากประชาสังคมทั้งจากไทยและลาว ผู้แทนสถานทูต ผู้แทนบริษัทเอกชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย
เส้นทางการเงินไทย-เกาหลีใต้สู่ลาว จากโครงการพัฒนาสู่วินาศกรรม

โซยอนคิม นำเสนอประเด็นเงินสนับสนุนจากเกาหลีที่ไปลงทุนในเขื่อนลาวว่า ปัจจัยหลักที่เน้นย้ำมีสามประการ หนึ่ง โครงการพัฒนาเหล่านี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน แนวนโยบายของเกาหลีที่ต้องการเปิดตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคำถามสุดท้ายคือ วินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นธุระของเกาหลีจริงหรือ

เธอเล่าต่อไปว่า เงินทุนสร้างเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยมาจากการร่วมทุนระหว่างสี่บรรษัทได้แก่ เอสเค เอนจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด บริษัทโคเรียเวสเทิร์นพาวเวอร์ จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทรัฐวิสาหกิจลาว จดทะเบียนภายใต้กิจการร่วมค้าชื่อบริษัทพลังงานเซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (The Xe-Pian Xe-Namnoy Power Co., Ltd. - PNPC)


แผนภาพจากสไลด์ของโซยอนคิม

เกาหลีใต้เริ่มให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาในต่างประเทศในฐานะเครื่องมือทางการทูตผ่านการช่วยเหลือธุรกิจของเกาหลีในต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2541 สมัยประธานาธิบดีลีมุงบัก และต่อด้วยประธานาธิบดีปักกึนเฮ โดยสัดส่วนเงินที่เกาหลีใต้สนับสนุนโครงการเงินสนับสนุนการพัฒนา (Official Development Assistance - ODA) ในธุรกิจพลังงานที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นเงินลงทุนจากเกาหลีที่ไปลงกับกิจการพลังงานคิดเป็นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับการลงทุนในชนิดเดียวกันทั้งหมด

โซยอนคิมยังตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามลดเวลาก่อสร้างให้น้อยลงด้วยการลดขั้นตอนการก่อสร้างบางอย่าง ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง มีรายงานข่าวว่าเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่จะสร้างแล้วเสร็จตามแผนในปีหน้ากลับถูกกักเก็บน้ำไว้แล้ว ทั้งที่ควรจะต้องทดสอบความปลอดภัยก่อน โดยคิดว่าสาเหตุที่ต้องรีบเก็บน้ำเพราะว่าเวลาที่จะใช้เก็บน้ำก่อนที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี การเร่งรัดเก็บน้ำก่อนก็เพื่อจะให้ได้กำไรมากขึ้น
โปร่งใส? จาก 11 โครงการที่ กฟผ. ซื้อไฟฟ้า มี 9 โครงการที่บริษัทลูกเข้าร่วมทุน

วิทูรย์กล่าวว่า การลงทุนในเขื่อนแม่น้ำโขงเกิดขึ้นในช่วงที่มีการโปรโมทเรื่องการลงทุนภาคเอกชน หรือ IPP ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รัฐบาลลาวเป็นผู้ให้สัมปทาน เอกชนต้องหาผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งในที่นี้คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มต้นจากรัฐบาลลาวเป็นผู้ให้สัมปทานกับบริษัท ซึ่งกรณีนี้บริษัทเอสเค เอนจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชัน จำกัดเป็นผู้ที่รับสัมปทาน เมื่อรับมาแล้วก็จะพัฒนาโครงการออกแบบทางเทคนิคและหาผู้ร่วมทุนทั้งในหุ้นและกิจการร่วมค้า จึงมีการหาอีกสามบริษัทมาร่วมทุน จากสัมปทานก็มีการสร้าง JV หนึ่งในนั้นก็คือบริษัทลาว โฮลดิ้ง คอมปานี นำไปสู่การร่วมทุนขั้นต้น ทางเกาหลีให้เงินกู้กับรัฐบาลลาวในส่วนที่เป็นทุนประเดิมเพื่อให้มาร่วมทุน

หลังจากได้รับสัมปทานก็มีกิจการร่วมค้าสี่ราย บริษัทที่รับสัมปทานก็ต้องตั้งชื่อกันใหม่เหมือนตั้งชื่อกลุ่ม เป็นบริษัทจำกัดที่จะดูแลโครงการ หมายความว่าบริษัทแม่สี่บริษัทจะไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกินกว่ามูลค่าที่ร่วมทุนจดทะเบียน หลังจากนั้นก็ต้องหาผู้ซื้อไฟฟ้าซึ่งในที่นี้ คือ กฟผ. ทำข้อตกลงซื้อไฟฟ้าที่เรียกว่า PPA (Power Purchase Agreement) การได้มาซึ่ง PPA เป็นใบที่ทำให้ธนาคารในไทยสี่แห่งให้กู้เงินอีก 3 เท่าของเงินต้นที่ร่วมทุนกัน เนื่องจากธนาคารมั่นใจว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะได้รับชำระจากทาง กฟผ. ที่จะจ่ายเงินคืนในรูปแบบของเงินบาท

ตัวละครอีกตัว คือราชบุรี โฮลดิ้ง เป็นบริษัทลูกของ กฟผ. และเมื่อค้นดูก็พบว่าโครงการที่ กฟผ. เป็นคู่สัญญาซื้อไฟก็จะมีบริษัทลูกของตัวเองเป็นคู่สัญญาขายไฟ ใน 11 โครงการที่อยู่ในลาว มีบริษัทลูกของ กฟผ. เป็น JV ถึง 9 โครงการ หากอธิบายในทางที่ดีคือมีบริษัทลูกก็ดีเพราะคุยกันได้ ไม่มีช่องว่าง ทุกอย่างเป็นประโยชน์ของไทย แต่อีกด้านคือ การที่ กฟผ. เป็นคู่สัญญาแทนประชาชนไทยในการรับซื้อไฟฟ้า แต่กลับไปมีบริษัทลูกในโครงการที่ตัวเองซื้อไฟฟ้า แล้วเราจะไว้วางใจได้อย่างไรว่า กฟผ. จะไม่มีลับลมคมใน ไม่มีความโปร่งใส การกระทำแบบนี้ถือเป็นการขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ จึงต้องทบทวนการลงทุนแบบคู่สัญญาในเชิงผลประโยชน์ที่อาจขัดกัน โครงสร้างที่มีลักษณะอัฐยายซื้อขนมยายแบบนี้ทำให้ธุรกิจและธนาคารกลายเป็นตัวขับที่แท้จริงมากกว่าความต้องการไฟฟ้าในไทยที่เราเคยเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการสร้างเขื่อน ถ้าโครงสร้างการลงทุนยังไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาลแบบนี้ ประชาชนก็ยังต้องรับเคราะห์กรรมหรือแบกรับภาระบนวิถีชีวิตที่บริษัทเอาผลกำไรสูงสุดมาเป็นตัวตั้ง

วิทูรย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ความเสียหายที่ลาวอาจส่งผลกับชาวไทยได้ หากการทำ PPA วางระบบกำหนดราคาซื้อไฟฟ้าไว้ว่าเป็นระบบต้นทุนบวกกำไร ก็จะสามารถใส่ค่าใช้จ่ายอะไรที่คิดว่าเป็นต้นทุนลงไปก็ได้ เช่น ถ้าโดนค่าเสียหาย 100 ล้านบาท บริษัทก็เจรจากับ กฟผ. ว่า สามารถใส่ค่าเสียหายเป็นหนึ่งในต้นทุนได้หรือไม่ ถ้าได้ค่าเสียหายก็จะไปอยู่ในค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ถ้าเป็นแบบนั้นคนที่รับผิดชอบกับความเสียหายก็คือผู้จ่ายค่าไฟฟ้า แล้วบริษัทจะแคร์อะไรถ้ามีคนจ่ายให้
เปิดสถิติใช้ไฟฟ้าไทยผลิตเกินใช้ ท่าทีลาวต่อ ‘แบตเตอรี่เอชีย’ เปลี่ยนคือสัญญาณความตายของเขื่อนไฟฟ้า?

สุภลักษณ์ กล่าวว่า บทเรียนเขื่อนแตกในครั้งนี้เข้าทำนองว่า โครงการพัฒนามากเกินไปทำให้การเติบโตของลาวพัง ลาวมีพื้นที่น้อย เต็มไปด้วยภูเขาและแม่น้ำ จึงสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเกินที่ตัวเองใช้เพื่อขายไฟฟ้าให้ประเทศรอบบ้านที่อุปสงค์สูงทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา ปัจจุบันล่วงเลยไปถึงมาเลเซียแล้วผ่านการขายต่อของไทย ทั้งนี้ ลาวส่งให้ไทย 2-3 พันเมกะวัตต์ จากที่ตั้งเป้าไว้ 9 พัน เมกะวัตต์ ความแตกต่างนี้ทำให้ตนตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ภูมิประเทศตัวเองผลิตพลังงานให้ทั้งภูมิภาคอาจเป็นจินตนาการที่เป็นจริงยาก

หลังเขื่อนแตก เมื่อวันอังคารได้มีประชุมพิเศษ ครม. ลาว และมีมติที่ให้ทบทวนความปลอดภัยของเขื่อนทั่วประเทศ โดยสาระสำคัญมีสามเรื่อง หนึ่ง ตรวจเขื่อนทั้งหมดทั้งที่สร้างแล้วและกำลังก่อสร้าง สอง สั่งระงับหรือแขวนการลงทุนใหม่ในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า สาม รัฐบาลลาวจะทบทวนยุทธศาสตร์ และแผนงานเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตว่าด้วยการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด แม้ปฏิบัติการบนภาคพื้นดินจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่นายกฯ ก็ลงพื้นที่เร็วในแบบที่ตนไม่เคยเห็นจากรัฐบาลลาวชุดก่อนๆ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของลาวควรต้องเปลี่ยน ลาวควรจะหยุดสร้างเขื่อนเพราะจำนวนที่มีอยู่ก็พอที่จะใช้ในประเทศและขายให้ไทยได้แล้ว จำนวนการเติบโตของอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าไทยตาม กฟผ. ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจไม่จริงเพราะเศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ การพึ่งพาพลังงานจากเขื่อนก็ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนเพราะต้องอิงกับสภาวะอากาศ สร้างเขื่อนเท่าใดก็ไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ในการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาก็ไม่เคยนำต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมและผลกระทบข้ามพรมแดนมาเป็นปัจจัยในการคิด แต่ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวต้องคิดคำนึง ลาวต้องกลับมาคิดว่าจะขายอะไรมากไปกว่าไฟฟ้า ต้องมีการลงทุนเรื่องใหม่ๆ ลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ให้คิดนวัตกรรมได้ ลงทุนกับเรื่องที่มีอยู่แล้ว เช่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น

สุภลักษณ์ยังวิเคราะห์ในด้านการเมืองระหว่างประเทศที่จีนมีอิทธิพลกับลาวสูงเพราะเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลายด้าน โดยกล่าวว่า การทบทวนจุดยืนของลาวเรื่องการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียถ้าทำได้สักครึ่งของที่คิดไว้ก็ดีแล้ว เพราะเพราะทุนจีนที่มีอยู่ในโครงการเขื่อนหลายโครงการก็มีกำลังในการบังคับลาวได้อยู่

ส่วนความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง ล้านช้าง แม่โขง (Lancang Mekong Initiative - LMC) ที่ริเริ่มโดยจีน ก็มีเรื่องว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ที่กรุงปักกิ่งก็มีสถาบันว่าด้วยสิ่งแวดล้อมจัดตั้งอยู่ แม้ขอบเขตของการดูแลอาจจะยังไม่ชัดเจนแต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจีนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น หน้าที่พวกเราก็คือต้องตีประเด็นขึ้นมาว่ามีความเสียหายให้ลาวและจีนขยับได้

วิทูรย์กล่าวถึงสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในไทยว่า ตอนนี้ไทยสามารถจัดหาไฟฟ้าด้วยกำลังผลิตในระบบได้ 42,299 เมกะวัตต์ กฟผ. ผลิตเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) ร้อยละ 36 ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ร้อยละ 18 และนำเข้าร้อยละ 9 ในวันที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด (พีค) ของปี 2560 อยู่ที่ 34,101 เมกะวัตต์ แต่ว่ายอดพีคการใช้ไฟฟ้าจาก กฟผ. ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 3.5 พีคของทั้งระบบลดลงร้อยละ 2.2 สะท้อนว่ามีการใช้พลังงานอื่น ลดการพึ่งพิงการไฟฟ้ามากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ สนามบินสุวรรณภูมิมีโรงไฟฟ้าขนาด 140 มว. เป็นของตัวเอง หรือโรงงานน้ำตาลที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลของตัวเอง





ที่มาภาพ: สไลด์ของวิทูรย์/ กระทรวงพลังงาน

หากดูจากเป้าหมายในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) จะพบว่าในปี 2560 พลังงานไฟฟ้าทางเลือกที่ผลิตได้มีจำนวน 10,013.29 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายทั้งหมด 19,684.40 เมกะวัตต์ ถ้าสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ก็เท่ากับว่าไทยจะสามารถผลิตพลังงานได้รวมทั้งสิ้นราวหกหมื่นเมกะวัตต์ ก็ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือเขื่อนใดๆ เพิ่มอีก
กรรมาธิการน้ำโขงคาด อีก 22 ปี เขื่อนทำพิษประมง กสิกรรม ระบบนิเวศหนัก แนะ ผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีอื่น

วิทูรยังได้นำเสนอผลการศึกษาการจัดการอย่างยั่งยืนและการพัฒนาแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก (The Study on Sustainable Management and Development of the Mekong River including Impacts of Mainstream Hydropower Projects) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ที่ประกอบขึ้นจากรัฐบาลอาเซียนสี่ประเทศลุ่มน้ำโขง ผลการศึกษารายงานว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก แม้มีผลดีกับการสร้างกำลังผลิตไฟฟ้า แต่จะมีผลกระทบกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมาก เมื่อเทียบกับปีฐาน (พ.ศ. 2540) การศึกษาพบว่าเขื่อนบนลำน้ำสายหลักทั้งหมด 11 เขื่อนจะมีอิทธิพลถึงร้อยละ 50 จากทั้งหมดผลผลิตของภาคเกษตรบริเวณลุ่มน้ำโขงลดลงราว 0.6-1 ตัน/เฮกตาร์ ผลผลิตในส่วนที่ห่างไปจากแม่น้ำโขงกระแสหลักลดลงกว่า 0.5 ตัน/เฮกตาร์

การศึกษาคาดการณ์ว่า ในปี 2583 กระแสน้ำที่ไหลมากขึ้นในหน้าแล้งและภาวะดินเค็มที่ลดลงจะทำให้ผลผลิตนาปรังเพิ่มขึ้นสูงสุดราว 0.2 ตัน/เฮกตาร์ แต่ในบางพื้นที่จะเสียจำนวนผลผลิตลงสูงสุด 2.4 ตัน/เฮกตาร์ เนื่องจากประสบปัญหาการไหลของกระแสน้ำที่ซับซ้อน และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

ตะกอนดินต่างๆ ที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกถูกกั้นไว้โดยเขื่อนตั้งแต่ที่จีน ถ้ายังสร้างเขื่อนถึงปี 2040 จะเหลือแค่ ร้อยละสามเท่านั้นที่จะไหลถึงปากแม่น้ำโขง นอกจากนั้นปลาในแม่โขง ปลาธรรมชาติจะสูญพันธุ์ จะมีปลานอกท้องถิ่นเข้ามาแทนที่ เมื่อคำนวณประโยชน์จากหลายๆ ด้านก็พบว่าผลกระทบด้านเกษตรกับประมงจะทำให้ประชาชนไม่ได้ผลประโยชน์ซึ่งกระจุกอยู่กับผู้ลงทุน ตัวรายงานจึงแนะนำให้ประเทศสมาชิก MRC หาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าอื่นๆ มาแทนที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ วิทูรทิ้งท้ายว่า รายงานชุดนี้ใช้งบประมาณราว 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 140 ล้านบาทในการจัดทำ แต่ทางการไทยและสื่อไทยกลับไม่นำมาเผยแพร่

การใช้ปี 2540 เป็นปีฐานเนื่องจากเป็นปีก่อนที่โครงการเขื่อนไซยะบุรีบนลำน้ำสายหลักจะเกิดขึ้น และการคาดการณ์ก็มองไปในปี 2563 จะมีโครงการไซยะบุรี ดอนสะโฮง และคาดการณ์ต่อไปจนถึงปี 2583 ในเงื่อนไขว่าโครงการเขื่อนเหล่านั้นปฏิบัติการไปตามปกติ

นิวัฒน์กล่าวว่าเขื่อนเป็นการผลิตพลังงานที่ตกยุคตกสมัยแล้ว สมัยก่อนคนยังน้อย ทรัพยากรยังเยอะ แต่ตอนนี้เขื่อนเยอะ คนก็เยอะขึ้น ทรัพยากรที่หาอยู่หากินน้อยลง เขื่อนทำลายวิถีชีวิต แต่สร้างเขื่อนทำเงินได้เยอะจึงมักถูกสร้าง ทั้งที่ท้ายประชาชนมากที่สุดในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐศาสตร์นิเวศ ส่วนรัฐบาลลาวก็คิดแต่เรื่องเงิน พลังงานในลาวใช้นิดเดียว เขื่อนในลาวที่ไปดูก็อันตราย เพราะอยู่ในภูเขา ถ้าฝนตกเยอะมากๆ มีปัญหาแน่นอน หลายที่ก็เป็นเขื่อนดิน ส่วนบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง ตอนเขื่อนแตกไม่นานก็ได้ออกมาบอกว่าเขื่อนตัวนี้เป็นตัวเล็ก สามารถสร้างเขื่อนต่อไปได้ ทั้งๆ ที่คนตายไปต่อหน้าต่อตา แบบนี้แย่ที่สุด อย่ามาพูดเรื่องธรรมาภิบาล แบบนี้คนที่อยู่กับเขื่อนจะคิดอย่างไร ถ้ารัฐบาลลาวยังให้สร้างอยู่ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลของบริษัท รัฐบาลต้องออกมาพูดว่าจะฟื้นฟูทั้งชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไปด้วย ธนาคารเองก็ต้องสอบถามการกู้เงินจากบริษัทเหล่านี้ด้วยถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน แถมเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยยังไม่เสร็จก็เก็บน้ำแล้ว แบบนี้มาตรฐานการก่อสร้างมีไหม แบบนี้คืออันตรายต่อเพื่อร่วมโลก การบอกว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ไม่ใช่ ในอดีตเขื่อนจิ่งหงในจีนปล่อยน้ำออกมาครั้งเดียวน้ำโขงสูงขึ้นเกือบหนึ่งเมตร นอกจากนั้น การใช้เหตุผลของอธิปไตยมาสร้างเขื่อนของใครของมันนั้นไม่ควรทำแล้ว เพราะแม่น้ำเป็นของที่ใช้ร่วมกัน การกั้นน้ำหนึ่งที่ส่งผลกับอีกที่
ความเสียหายที่ข้ามพรมแดน: เล่าเรื่องลงพื้นที่กัมพูชา คาด ประชาชนลำบากไปอีก 1-2 ปี

เมียด เมียน เล่าว่าบ้านตามลำน้ำเซกองที่กัมพูชาที่เมืองเซียงปาง เมืองต่อเขตกับแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว มีประมาณ 4 กลุ่มหมู่บ้านชนเผ่าที่ถูกกระทบ เมื่อเขื่อนแตก ภาครัฐทั้งลาวและกัมพูชาไม่ได้มีการแจ้งเตือนมา แต่ชาวบ้านได้รับข่าวด้วยโทรศัพท์และเฟซบุ๊กและบอกต่อกัน ตอนน้ำมาถึงเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ก็มาแบบรุนแรง ใช้เวลาไม่นาน ชาวบ้านไม่ได้เตรียมตัว ส่งผลให้ปศุสัตว์ การเกษตรเสียหาย คนไม่ตายเพราะหนีขึ้นที่สูงทัน แต่โคลนที่มากับน้ำและข้าวของเครื่องใช้ก็ทำให้พื้นที่ริมน้ำเซกองเสียหาย กลุ่มชนเผ่าต่างๆ ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเข้าไม่ถึงบริการรักษาสุขภาพ แถมของที่ปลูกมาก็เสียหายหมด ไม่มีเก็บ อาจจะส่งผลกับปากท้องไปอีก 1-2 ปี เมียด ยังระบุว่าอยากให้กัมพูชามีระบบเตือนภัย และให้ลาวรับรู้ไว้ว่าการใช้แม่น้ำเดียวกันกับกัมพูชานั้น จะตัดสินใจทำอะไรคนเดียวในเรื่องโครงการพัฒนาไม่ได้เพราะผลกระทบนั้นข้ามพรมแดน[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.