Posted: 06 Aug 2018 08:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-06 22:57


พสิษฐ์ ไชยวัฒน์

หลังจากรอคิวนัดสัมภาษณ์มาหลายสัปดาห์ ในที่สุดก็มีโอกาสนั่งคุยกันในบรรยากาศแบบง่ายๆ สบายๆ กับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นักการเมืองผู้ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในโลกออนไลน์ขณะนี้ แต่เนื่องจากภารกิจที่ค่อนข้างรัดตัว จึงมีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน และก็ทำให้ได้รู้จักตัวตน มุมมอง และความคิดในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยมาก่อน รวมถึงบางคำถามที่ไม่ค่อยได้ถูกสัมภาษณ์มากนัก ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่มาที่ไปของแนวคิด รวมทั้งวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกสะสมและตกผลึกจนกลายมาเป็น ธนาธร ในทุกวันนี้

1. หลังจากประกาศตัวตั้งพรรคการเมืองแล้ว ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน

หนักมาก หนักสุดๆ เลย ผมคิดว่า 40 ปีไม่เคยทำงานหนักเท่า 3 เดือนที่ผ่านมา คนคาดหวังกับพรรคอนาคตใหม่มาก ดังนั้นการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องคิดเยอะ มีคนต้องการอยากเจอแทบจะทุกจังหวัด ตามตารางปฏิทินผมจะลงพื้นที่ทุกวันเสาร์ , อาทิตย์ , จันทร์ เริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ขณะนี้ไปมาแล้ว 35 จังหวัด ต้องบอกว่าทุกจังหวัดมีเวลาให้ไม่พอ โดยเฉลี่ย 1 จังหวัดต้องไปเจอ 4-5 กลุ่ม มีแต่คนเรียกร้องเวลา มันเกินความคาดหมายจริงๆ ว่าเรามาไกลขนาดนี้ได้ภายใน 4 เดือน ทำให้เตรียมทรัพยากรต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตไม่ทัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ทำให้เจอหน้าครอบครัวน้อยมาก

2. มีวิธีหรือเทคนิคการเลี้ยงลูกอย่างไร

ผมจะปล่อยให้ลูกเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเอง ไม่เคร่งครัดหรือกดดันเรื่องการเรียนมากนัก ผมนิยมชมชอบให้ลูกๆ ซุกซน จะไม่บอกว่า ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ เพราะเชื่อว่าเด็กจะเติบโตได้ต้องมี 2 ทาง ก็คือ อย่างแรกต้องสนุก ใช้ชีวิตให้สนุก เติบโตตามวัย ปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตอิสระ อย่าไปกดทับหรือบีบบังคับ อย่างที่สอง อย่าไปห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเรากำลังปิดโอกาสการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น จะปล่อยให้ลูกเล่นกลางฝน เล่นดินโคลน หรือปีนต้นไม้ ซึ่งผมปฏิเสธการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ถ้าผมมีเวลาและบางวันที่ฝนตก ก็เคยพาลูกออกไปเล่นน้ำฝนด้วยกัน

3. มีการแบ่งหน้าที่กับภรรยาในการเลี้ยงลูกอย่างไร

ถ้ามีเวลา ผมจะให้เวลาทั้งหมดกับครอบครัว เรื่องโรงเรียน การเรียน การจ่ายค่าเทอม ไปประชุมผู้ปกครอง ภรรยาจะเป็นคนดูแลทั้งหมด แต่เวลาที่ลูกมีการแสดงที่โรงเรียน ผมจะไปตลอด ถ้าลูกมีกิจกรรมที่โรงเรียน ผมพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลูก พยายามให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ ผมจะเป็นคนสอนค่านิยมให้ลูก อย่างเช่น ระหว่าง หมาป่า , แกะ , หมาเฝ้าแกะ จะบอกลูกตลอดว่า 1) อย่าเป็นหมาป่า เพราะไม่อยากให้ไปรังแกคนอื่น 2) อย่าเป็นแกะ เพราะไม่อยากให้ถูกหมาป่ากิน 3) แต่อยากให้ลูกเป็นหมาเฝ้าแกะ ที่คอยป้องกันแกะจากฝูงหมาป่า

4. เมื่อลูกโตขึ้นได้ตั้งความหวังหรือวางอนาคตไว้อย่างไรบ้าง

สิ่งเดียวที่อยากเห็นจากลูกก็คือ อยากให้รักความเป็นธรรม รักความยุติธรรม ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะเป็นอย่างไร ต้องปล่อยให้ลูกเติบโตและเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเอง นั่นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้คาดหวังว่า ลูกจะต้องมาสืบทอดธุรกิจ แต่คาดหวังว่า ให้เติบโตมาเป็นคนมีจิตใจดี เป็นคนดี ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น และรักความยุติธรรม

5. ปกติยามว่าง ชอบอ่านหนังสือประเภทไหน และหนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านคืออะไร

ก่อนหน้านี้เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะประมาณ 20 เล่มต่อปี แต่ช่วงนี้อ่านน้อยลงประมาณ 5-6 เล่มต่อปี หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบไป คือ All The Light We Cannot See เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) เกี่ยวกับเด็กผู้หญิงตาบอดและเด็กผู้ชายกำพร้าในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่เยอรมันไปยึดครองเมืองใหญ่ในยุโรป เด็กผู้หญิงคนนี้อาศัยอยู่ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส และย้ายออกไปเมืองอื่น ต้องระเหเร่ร่อนตามคุณพ่อ

ผมจะไม่อ่านหนังสือประเภท Romantic Comedy แต่ชอบอ่านหนังสือที่สำรวจความเป็นคนอย่างลุ่มลึก ถ้าเป็นแนว Fiction จะอ่านหนังสืออย่างเช่น จอมโจรหนังสือ , The Pianist เป็นต้น ผมชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน , การต่อสู้ของมนุษย์ , ความสวยงามของชีวิต แต่ถ้าเป็นแนว Non-Fiction จะอ่านหนังสือเกือบทุกประเภท ตั้งแต่แนวเศรษฐศาสตร์ , ธุรกิจ , การเมือง , ปรัชญา เป็นต้น

สมัยเป็นเด็ก หนึ่งในคนที่มีอิทธิพลทางความคิดก็คือ สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก (ศุ บุญเลี้ยง) และ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ที่อ่านครบทุกเล่มตั้งแต่ ม.3-ม.4 ขณะเรียนมหาวิทยาลัยจะเริ่มอ่าน วิหารที่ว่างเปล่า (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) , ใบไม้ที่หายไป (จิระนันท์ พิตรปรีชา) , ติช นัท ฮันห์ หรือหนังสือเกี่ยวกับการแสวงหาตัวตน อย่างเช่น เจ้าชายน้อย , ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ , บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ เป็นต้น เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงแสวงหาของชีวิต

หลังจากนั้นเริ่มมาสนใจงานของฝ่ายซ้าย อย่างเช่น บันทึกกบฎ , บันทึกลับเสรีไทยภูพาน พอโตขึ้นมาก็เริ่มอ่านงานของ คาร์ล มาร์กซ์ , วลาดีมีร์ เลนิน หลังจากเรียนจบก็อ่านงานแนวโพสต์โมเดิร์นจำนวนหนึ่ง พอเริ่มทำงานก็จะอ่านหนังสือธุรกิจและการเงินมากขึ้น เช่น Barbarians at the Gate , Too Big to Fail เป็นต้น หนังสือเหล่านี้จะสะท้อนตัวตนหลายอย่างว่า การเดินทางแต่ละช่วงเวลาของชีวิตก็จะมีหนังสือที่ชอบหรือสนใจอ่านแตกต่างกันไป

ข้อมูลเพิ่มเติม :

- All The Light We Cannot See แต่งโดย Anthony Doerr

- The Book Thief (จอมโจรหนังสือ) แต่งโดย Markus Zusak

- The Pianist: The Extraordinary True Story of One Man’s Survival in Warsaw: 1939-1945 แต่งโดย Wladyslaw Szpilman

- The Little Prince (เจ้าชายน้อย) แต่งโดย Antoine de Saint-Exupery

- The Diving Bell and the Butterfly (ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ) แต่งโดย Jean-Dominique Bauby

- The Diary of A Young Girl (บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์) แต่งโดย Anne Frank

- Barbarians at the Gate: The Fall of RJR Nabisco แต่งโดย Bryan Burrough and John Helyar

- Too Big to Fail แต่งโดย Andrew Ross Sorkin

- บันทึกกบฎ แต่งโดย ยุค ศรีอาริยะ

- บันทึกลับเสรีไทยภูพาน แต่งโดย นายสีดอกกาว

6. เวลารู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ มีวิธีผ่อนคลายหรือการสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไรบ้าง

ช่วงที่ทำงานหนักและรู้สึกเหนื่อย ผมจะไปปีนเขาหรือเดินป่า

7. ถ้ามีเวลาว่าง ยังมีกีฬา Extreme อะไรบ้างที่อยากทำ

ถ้าผมไม่ได้มาทำงานการเมือง เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ผมต้องไปงานแข่งวิ่งที่เป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดในโลก ต้องข้ามเทือกเขาพิเรนีส (The Pyrenees Mountain) ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน ระยะทางประมาณ 960 กว่ากิโลเมตร ความชันประมาณ 98,000 เมตร ส่วนปลายปี (2561) ผมก็ต้องไปขั้วโลกใต้ ผมมีแผนปีนเขา มีแผนวิ่ง มีแผนผจญภัยเยอะ แต่ทุกอย่างต้องมายกเลิกเมื่อมาทำงานการเมือง ถ้าถามว่า ผมอยากทำอะไร นอกจากการอ่านหนังสือ , ดูแลครอบครัว และทำงานแล้ว นั่นคือ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ซึ่งบางครั้งก็พาครอบครัวไปปีนเขา เดินป่า หรือไปกางเต็นท์ด้วยกันหลายครั้ง

8. ทำไมสนใจเรียนเพิ่มเติมด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง

เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นวิชาที่มีเสน่ห์ เป็นส่วนผสมที่มีกลิ่นอายความก้าวหน้าของฝ่ายซ้ายเก่าที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทุน , รัฐ และประชาชน

9. ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่รัฐต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ , การจ้างงาน , การรักษาเสถียรภาพของระดับราคา , การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เป้าหมายประเภทใดที่คุณธนาธรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักจะบอกว่า GDP แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ GDP ไม่ได้บอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปอยู่ในกระเป๋าใคร ไม่ได้บอกว่า ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พูดกันน้อยคือ เราจะกระจายความมั่งคั่งอย่างไรให้กับสังคม นั่นเป็นสิ่งที่ฝ่ายก้าวหน้าควรจะทำ เพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย แต่ไม่มีใครให้ความสนเรื่องนี้เท่าที่ควร

คนไทยมักจะยกย่องบูชาคนร่ำรวยมหาศาลโดยมีที่มาจากการผูกขาด ทั้งๆ ที่ไม่เคยนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ดีขึ้นให้กับสังคมเลย ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา คนบางกลุ่มร่ำรวยเป็นแสนล้านจากสัมปทานรัฐที่ถือว่าเป็นค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ต้องพูดถึงการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายความมั่งคั่งด้วย

10. มีมุมมองด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง

คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ปัญหาการศึกษาไทยไม่ใช่เรื่องงบประมาณ เพราะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการมีอัตราส่วนสูงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน หรือเทียบกับประเทศอื่นในโลก ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่รัฐไทยไม่เคยมีที่ว่างให้กับการบริหารการศึกษาโดยท้องถิ่นเลย มีคำถามง่ายๆ ว่า คนในจังหวัดไหนของประเทศไทย อยากให้โรงเรียนในจังหวัดหนองคายมีโรงเรียนที่ดีที่สุดในประเทศ คำตอบก็คือ ต้องเป็นคนในจังหวัดหนองคาย จะไม่มีคนในจังหวัดอื่นที่ต้องการให้หนองคายมีโรงเรียนที่ดีที่สุดนอกจากคนหนองคายด้วยกันเอง แต่ปัจจุบันใครเป็นคนบริหารโรงเรียนในจังหวัดหนองคาย นั่นก็คือ คนที่นั่งอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่กรุงเทพฯ และต้องไม่ลืมว่า ส่วนราชการทั้งหมด ประชาชนไม่สามารถให้คุณให้โทษได้ คนในพื้นที่ก็ไม่สามารถให้คุณให้โทษได้เช่นกัน คนที่กรุงเทพฯ จะมีนโยบายให้โรงเรียนในหนองคายมีรถรับส่งนักเรียนที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยที่สุดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ต้องคืนการศึกษาให้กับคนในท้องถิ่น เพื่อให้ไปบริหารจัดการกันเอง ลดหลักสูตรที่เป็นภาคบังคับหรือครอบงำจากส่วนกลางลง และเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบการศึกษาเองได้ เพราะคนในท้องถิ่นจะทราบดีว่า ต้องพัฒนาการศึกษาอย่างไรจึงจะเหมาะสมและตอบสนองต่อคนในท้องถิ่น นี่คือโจทย์หลักของประเทศ ไม่ใช่โจทย์เรื่องงบประมาณ ผมเชื่อว่า การศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ด้วยการนำโรงเรียนคืนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเรื่องนี้มีอยู่แล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่เคยคืนโรงเรียนให้กับท้องถิ่นเลย เราจึงเห็นหลายท้องถิ่นไปตั้งโรงเรียนกันเอง มีหลายโรงเรียนที่ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น และผมเชื่อว่า ในอนาคตโรงเรียนเหล่านี้จะพัฒนาแซงหน้าได้

อีกเรื่องหนึ่ง วิชาที่ควรถูกสอนในโรงเรียนอย่างจริงจังแต่ก็ไม่เคยเลย ก็คือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ มีความพยายามทำให้คนลืมประวัติศาสตร์ เป็นความพยายามของรัฐไทยที่จะทำให้เด็กไทยลืมประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนของการพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างคนรุ่นผม เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ถูกสอนในโรงเรียนเพียง 2 ย่อหน้า หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย ผมไม่เคยถูกสอนเรื่องสิทธิพลเมือง เรื่องเหล่านี้เป็นความจงใจของรัฐไทยที่จะทำให้คนไม่รู้หรือลืมเลือน เด็กอีสานไม่เคยเรียนเรื่องกบฏผีบุญ คนล้านนาไม่เคยเรียนเรื่องครูบาศรีวิชัย คนภาคใต้ไม่เคยเรียนเรื่องหะยีสุหลง ไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องเหล่านี้ เพราะรัฐไทยกดทับท้องถิ่นเอาไว้

เราจึงควรจัดระเบียบการบริหารกระทรวงศึกษาธิการเสียใหม่ ทั้งเรื่องหลักสูตรการศึกษา , วิธีการศึกษา ยกตัวอย่าง ครูเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสารมากที่สุด ทุกวันนี้เวลามากกว่าครึ่งของครูถูกใช้ไปกับการประเมินการศึกษา เช่น ประเมินโรงเรียนสีขาว , โรงเรียนศีลธรรม เป็นต้น เป็นการประเมินในเรื่องที่ไม่ใช่ความเป็นเลิศทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ถ้าอยากจะประเมินเรื่องอะไร ควรปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินเอง มีความพยายามบอกว่า ทุกโรงเรียนในประเทศไทยต้องทำแบบเดียวกันถึงจะได้เด็กที่ดีที่สุด ตั้งแต่ใช้หลักสูตรเดียวกัน แบบเรียนเดียวกัน การแต่งกายแบบเดียวกัน ต้องมีพิธีกรรมแบบเดียวกัน เป็นแบบแผนที่มาจากส่วนกลางทั้งหมด และมีการบอกกับสังคมว่า รูปแบบนี้จะเป็นการผลิตนักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ถ้าประวัติศาสตร์บอกอะไรเราได้ 1 อย่าง กระบวนการที่ทำอยู่ทุกวันนี้ถือว่าล้มเหลว

รัฐไทยมีงบประมาณหรือมีทุนการศึกษาที่เพียงพอต่อการทำให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนฟรีภายใต้งบประมาณเท่าเดิม โดยการบริหารจัดการการศึกษาเสียใหม่ หากมองไปในกระทรวงศึกษาธิการ อัตราส่วนคนที่ไม่ใช่ครูหรือคนที่ทำงานในส่วนกลางเทียบกับครูแล้วมีสัดส่วนที่สูงมาก หากมีการตั้งคณะกรรมการโรงเรียนที่มาจากคนในท้องถิ่น เช่น ศิษย์เก่า , ครู , นักเรียน , คนในพื้นที่ เป็นต้น และให้คณะกรรมการเหล่านั้นเป็นผู้บริหารงบประมาณของโรงเรียนเอง โดยที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องชี้นำหรือกำหนดกรอบ รับรองว่าโรงเรียนจะดีขึ้นกว่านี้มาก เพราะลูกหลานของคณะกรรมการก็เรียนอยู่ในโรงเรียนด้วย นี่จะเป็นรูปแบบที่ง่ายมาก

11. Positioning ของประเทศไทยควรอยู่ที่ใดในเวทีการค้าโลก

ต้องเป็น Leader of Asean ให้ได้ เราสามารถเป็นผู้นำในอาเซียนได้ ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเป็นแบบอย่างของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน เราสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นได้ ยังมีคนอีกหลายร้อยล้านคนในอาเซียนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ มีการกดขี่ และมีคนอีกหลายร้อยล้านคนที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในการพัฒนาด้วย ประเทศไทยสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนเหล่านั้นได้

ในทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรมกำลังจะหมดยุคแล้ว อายุเฉลี่ยของเกษตรกรปัจจุบันประมาณ 50 ปีปลายๆ ดังนั้นเกษตรกรตัวจริงจะเหลือน้อยลงมาก เหลือแต่แรงงานนอกระบบที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร อยู่ในสวนหรือไร่นา สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ

เกษตรกรรมไม่เท่ากับความล้าหลังเสมอไป เกษตรกรยุคนี้จะเป็นยุคสุดท้าย และกำลังเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรุ่นเก่ามาสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ เราจะทำอย่างไรเมื่อเกษตรกรรุ่นใหม่มีน้อยลง แต่ทำอย่างไรให้มีผลผลิตเท่าเดิม คำตอบก็คือ ต้องสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้าและทันสมัย ยกตัวอย่างเช่น โรงสีข้าวที่ใช้คนงานเพียงแค่ 2 คน หรือโรงงานแปรรูปผลไม้ที่ใช้คนงานเพียงแค่ 10-20 คนเท่านั้น นี่คืออนาคตของการเกษตรสมัยใหม่ ผมกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรขนาดเล็กในท้องถิ่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรที่ทันสมัย และควรจะเป็นเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศไทยด้วย

วิสัยทัศน์ด้านการเกษตร คือ ทำให้ประเทศไทยเป็นซิลิคอนวัลเลย์การเกษตรของโลก ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดเรื่องครัวของโลกที่พูดถึงแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้าที่สุด โดยอาจเกิดจากการรวมตัวของสหกรณ์การเกษตรต่างๆ รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมของการสร้างเทคโนโลยีการเกษตรด้วย ซึ่งตรงนี้มีความเป็นไปได้ อย่าเชื่อว่า เกษตรกรรมเท่ากับความล้าหลังเสมอไป การเกษตรที่ก้าวหน้าสามารถเกิดขึ้นได้หรือเป็นไปได้ในฟาร์มขนาดเล็ก ผมเชื่อว่าประเทศไทยสามารถสร้างอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเกษตรที่ก้าวหน้าในประเทศได้

12. จะฝากข้อความถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง

สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าอย่างแรกก็คือ อย่ายอมจำนนต่อสภาวะปัจจุบันที่ล้าสมัย จงเชื่อเสมอว่า ทุกคนมีศักยภาพ และจงเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ขอให้ทุกคนกล้าที่จะเปิดประตูบานใหม่ อย่าเกรงกลัวต่อโลกาภิวัตน์ นี่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับเยาวชนไทย ทุกคนต้องกล้าฝันให้ไกล ฝันให้ใหญ่แล้วไปให้ถึง ต้องมีความพยายาม มีความทะเยอทะยาน อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะถ้ามีความกลัวสิ่งเหล่านี้แล้ว คุณจะก้าวออกไปไม่ได้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้กับคนรุ่นต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.