Posted: 06 Oct 2018 11:53 PM PDT (อ้าาอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-07 13:53


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง หลักการการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นธรรม ระบุการห้ามเผยแพร่คำเบิกความคดีฐนกร (สงวนนามสกุล) เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

7 ต.ค. 2561 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออก แถลงการณ์ เรื่อง หลักการการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นธรรม โดยระบุว่าจากกรณีที่ศาลทหารกรุงเทพได้เรียกไต่สวนทนายความ อานนท์ นำภา กรณีเผยแพร่คำเบิกความของพยานโจทก์ในคดีที่อัยการทหารฟ้องนายฐนกร (สงวนนามสกุล) ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการแชร์ผังทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการกดไลค์เพจเฟสบุ๊คที่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสั่งให้นายอานนท์ นำภา แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ลบข้อมูลคำเบิกความและรายงานการพิจารณาคดีนายฐนกรออกจากเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามนำคำเบิกความและรายงานการพิจารณาคดีนายฐนกรไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด มิฉะนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาลนั้น


7 เหตุผลที่ทนายอานนท์ต้องขอเพิกถอนคำสั่งห้ามเผยแพร่คดีฐนกร
ศาลทหารนัดไต่สวนทนายอานนท์ เผยแพร่คำเบิกความคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา
ทหารผู้กล่าวหาคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น แต่เห็นว่าแค่กดไลค์เพจหมิ่นฯ ก็ผิด 112

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เห็นว่าการห้ามดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการเรื่องการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งคือการพิจารณาคดีและสืบพยานอย่างเปิดเผย อันเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองทั้งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172

ทั้งนี้ การจะสั่งพิจารณาคดีใดๆ เป็นการลับและการจำกัดการรายงานเกี่ยวกับการสืบพยานและการพิจารณาคดีควรจะดำเนินการเป็นมาตรการสุดท้ายเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่น ในกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการจงใจบิดเบือนผลการพิจารณาคดี หรือเป็นการรายงานที่จะกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้เยาว์หรือผู้ตกเป็นเหยื่อหรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทว่าการรายงานการพิจารณาคดีของนายฐนกรไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าว เพราะเป็นการรายงานข้อเท็จจริงของการเบิกความหรือการพิจารณาคดีในศาลโดยทั่วไป ถือเป็นสิทธิที่พึงได้รับการรับรองเพื่อเป็นหลักประกันการพิจารณาคดีที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยเฉพาะในการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารและคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ผ่านมามักจะมีการสั่งการพิจารณาคดีลับ ห้ามจดบันทึกกระบวนการพิจารณาคดี และห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดี ถือเป็นการปิดกั้นการดำเนินคดีอย่างโปร่งใสและโอกาสในการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม

คนส. มีความห่วงใยต่อการจำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการห้ามเผยแพร่รายละเอียดการพิจารณาคดีต่อสาธารณะในคดีนายฐนกร จึงขอเรียกร้องให้กระบวนการพิจารณาคดีโดยเฉพาะคดีทางการเมืองและการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารยึดหลักการการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด โดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อให้หลักนิติธรรมกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.