Posted: 29 Nov 2018 04:29 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-29 19:29

เครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ จัดงานรำลึก 10 ปี วันหลากหลายทางเพศ ชูสิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลายให้ภาครัฐและพรรคการเมือง


29 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ (29 พ.ย.) เครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTI and Non-binary) ประเทศไทย ร่วมจัดงานรำลึก 10 ปี วันหลากหลายทางเพศขึ้น โดยใช้หัวข้อในการจัดงานว่า “สิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลาย” โดยมีกิจกรรมทั้งเวทีอภิปราย เพื่อสิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลาย

ช่วงเช้า เปิดเวทีเพื่อนำเสนอให้สังคมเห็นทั้ง ทางเลือกในการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กำลังเสนอผ่านกรมคุ้มครองสิทธิ และแนวทางที่ต้องการแก้ไขประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์ หลังจากเวทีข้อเสนอ ในที่ประชุมร่วมกันร่างแถลงการณ์ เพื่อยื่นให้กับภาครัฐและพรรคการเมือง โดยมีประเด็นในแถลงการณ์ดังนี้

เรา สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิแก่คนทุกคนในการสมรสและก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีการทบทวนเพื่อแก้ไข ปพพ. ที่ยังเป็นข้อจำกัด อันนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงของครอบครัว ความไม่เป็นธรรมทางเพศ และความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้เยาว์โดยกำหนดอายุขั้นต่ำ ที่ 18 ปี โดยไม่มีเงื่อนไข
เรา ไม่ยอมรับร่าง พรบ. จดทะเบียนคู่ชีวิตที่เปิดรับฟังความคิดเห็น ในเดือน พฤศจิกายน 2561 ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม (70 มาตรา) ทั้งนี้ถ้ารัฐยังต้องการเสนอ พรบ.คู่ชีวิต ต้องรับรองสิทธิทุกด้านให้เท่าเทียมกับคู่สมรสหญิงชาย โดยวางอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษย์ชนและการมีส่วนร่วม อนึ่งในที่ประชุมต่างเห็นพ้องในการแก้ ปพพ. เราจึงเรียกร้องให้ กรมคุ้มครองสิทธิ /หรือรัฐ ต้องเสนอระยะเวลาในการแก้ไข ปพพ. ที่มีระยะเวลาที่ชัดเจน
หลักการและบทบัญญัติของกฎหมายต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษย์ชนสากล
วิธีการผลักดันกฎหมาย จะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เข้าไปนั่งในกระบวนการตั้งแต่กระบวนการแรก จนกระบวนการสุดท้าย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย โดยระบบรัฐสภา
การผลักดันกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตทุกฉบับ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการ ปพพ. บรรพ 5 และ 6 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของครอบครัว
รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างความรู้และสร้างความเข้าใจ ที่ครอบคุลม และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ให้หน่วยงานรัฐ และประชาชนทุกระดับทั่วไป ถึงรูปแบบครอบครัวใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึง มิติความสิทธิความหลากหลายทางเพศ แก่ทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะ โดยหลายรูปแบบ เช่น การบรรจุเนื้อหาเรื่องความหลากหลายทางเพศในแบบเรียน และการให้ภาครัฐผลักดัน ให้เป็นวาระแห่งชาติ
ให้รัฐสนับสนุนความเท่าเทียมของการแต่งงานของครอบครัวที่มีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งเป็นรูปแบบครอบครัวที่มีอยู่จริงในสังคมโลก เช่น การจัดตั้งครอบครัวที่ ไม่ได้จำกัดเพียงสองคน หรือ พหุสมรส (Polyamory) โดยให้เจตนาสมรสมาจากการตัดสินของคู่สมรส ไม่ใช่ให้กฎหมายมาตัดสินใจแทน
ถ้อยคำที่ใช้บัญญัติตัวบทกฎหมายจะต้องเป็นคำที่มีความเป็นกลางทางเพศ โดยเคารพทุกอัตลักษณ์ทางเพศ เพศภาวะ เพศสรีระ และเพศวิถีที่หลากหลาย ( เช่น บิดามารดา ใช้คำว่า บุพการี , สามี ภรรยา เป็นคู่ชีวิต คู่สมรส)

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอประเด็นอื่นจากที่ประชุม คือในกรณีที่ระบุให้ เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ต้องมีผู้ปกครอง เซ็นอนุญาตในการรับบริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ จึงเสนอให้มีการแก้ไข โดยให้เด็กสามารถเป็นผู้พิจารณาและเข้ารับการบริการด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ยังมี เวที เยาวชนเพศหลากหลาย (Youth Talk For Change) และ เวทีแสดงวิสัยทัศน์จากพรรคการเมืองต่างๆ

สำหรับที่มาของ 'วันสิทธิความหลากหลายทางเพศ' นั้น มาจากวันที่ 29 พ.ย. 2549 ณ เป็นวันที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อความในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (แบบ สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (แบบ สด. 5) และใบสำคัญ (แบบ สด. 9) ในส่วนที่ระบุว่าตน ‘เป็นโรคจิตถาวร’ การระบุเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย ซึ่งในที่สุดศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญที่ระบุข้อความว่า ‘เป็นโรคจิตถาวร’ และแก้ไขเป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ใน พ.ศ. 2554 กลุ่มหลากหลายทางเพศจึงยกให้วันนี้เป็นหมุดหมายสำคัญเป็น “วันแห่งความหลากหลายทางเพศ”
 
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.