Posted: 11 Dec 2018 05:29 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-11 20:29


กสม.มอบ 13 รางวัลแก่บุคคล-องค์กรด้านสุขภาพ สันติศึกษา สิทธิคนพิการ สิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สิทธิชุมชน จนถึงสิทธิด้านสัญชาติ ประธาน กสม. ชี้ กสม. ก็ถูกละเมิดสิทธิโดย พ.ร.ป.ในการเซ็ทซีโร่องค์กร ทำให้ปฏิบัติหน้าที่อาจไม่มีอำนาจและความน่าเชื่อที่อย่างที่ควร แนะหลังเลือกตั้งควรมีการแก้ไข รธน. เหตุพิกลพิการทั้งบททั่วไปและบทเฉพาะกาล แต่แน่นอนว่าแก้ไขยาก

11 ธ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดงาน “70 ปี ปฏิญญาสากล: สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน” เพื่อร่วมรำลึกถึงการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ.1948)

ภายในงานมีการมอบรางวัลเกียรติยศผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการแม่ตาวคลินิก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และเสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights : AICHR)

รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 10 รางวัล แบ่งออกเป็น ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทชายแดนใต้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และ อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยฝ่ายสตรี ประเภทเด็กและเยาวชน ได้แก่ สโมสรนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีผลงานช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานะบุคคล (คนไทยพลัดถิ่น) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประเภทสื่อมวลชน ได้แก่ นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me, หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ Luke Duggleby ช่างภาพอิสระชาวอังกฤษ ผู้ริเริ่มโครงการนิทรรศการภาพถ่าย “แด่นักสู้ผู้จากไป” และประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด, ฝ่ายสตรีสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ซินเธีย หม่อง กล่าวว่า หลังจากได้ร่วมงานกับกลุ่มผู้อพยพในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก เราได้ร่วมงานกับองค์กรของทั้งไทยและต่างประเทศ ในปี 2012 พม่าได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเมือง แต่ในช่วงรัฐบาลทหารเราขาดการเข้าถึงในการช่วยเหลือเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก ดังนั้นคนทำงานด้านมนุษยธรรมและคนที่ทำงานด้านการพัฒนาต้องทำงานไปด้วยกันเพื่อให้เกิดการเข้าถึงความช่วยเหลือ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศของเรา เราได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศอาเซียนเพื่อให้มั่นใจว่าความช่วยเหลือจะเข้าถึงกลุ่มคนยากจนอย่างแท้จริง

ฐิติญานันท์ หนักป้อ กล่าวว่า รางวัลนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเมืองไทยยังไม่ใช่สวรรค์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เรายังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเท่าเทียม เพื่อนเราหลายคนที่เป็นสาวประเภทสองไม่สามารถเข้าใช้บริการสถานที่บางแห่งได้ พวกเราถูกเลือกปฏิบัติเป็นจำนวนมากในการสมัครงาน ซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตอย่างลำบาก อยากยืนยันว่าพวกเรามีตัวตนอยู่ในสังคม พวกเรามีความรู้ความสามารถที่จะทำงานให้สังคมได้

ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในสังคมทุนนิยมที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกวันการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นได้โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ในสังคมที่ทุกคนเป็นผู้บริโภค มูลนิธิอยากให้ทุกคนตื่นรู้ มูลนิธิทำหน้าที่เป็นสื่อ เบื้องหลังองค์กรมีทั้งเครือข่ายและนักวิชาการร่วมมือกัน เราอยากเห็นในอนาคตผู้บริโภคทุกคนตระหนักรู้ เท่าทัน ภารกิจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะสำเร็จโดยดีก็ต่อเมื่อไม่จำเป็นต้องมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกแล้ว รัฐสามารถออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน


ประชาไทได้สัมภาษณ์ วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพิ่มเติมต่อประเด็นการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในระบอบอำนาจนิยมตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา วัส กล่าวว่า เราพ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิฯเพราะการเซ็ทซีโร่จาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่แม้จะเขียนให้รัฐธรรมนูญปี 2560 เคารพสิทธิ เคารพหลักนิติธรรม แต่ท้ายสุดการเซ็ทซีโร่ กรรมการสิทธิฯ และ กกต. อย่างไม่เป็นธรรม อย่างเลือกปฏิบัติก็ขัดกับหลักนิติธรรม นี่จึงถือว่ากรรมการสิทธิฯ เองก็ถูกละเมิดสิทธิโดย พ.ร.ป.ดังกล่าว

แม้ผู้ร่างกฎหมายรวมทั้งองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องบอกว่ากฎหมายไม่ได้เขียนให้คณะกรรมการสิทธิชุดนี้รักษาการณ์ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไปได้ ซึ่งถูกในข้อกฎหมาย แต่ผิดในข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงคือคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ แม้กระทั่งกับหน่วยงานของรัฐด้วยกันก็ผิดข้อตกลง ไม่ต้องพูดถึงองค์กรเอกชน

เมื่อถามว่าหลังจากนี้ถ้ามีการเลือกตั้งคาดหวังอย่างไร วัส ตอบว่า ขึ้นอยู่ที่ผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาลักษณะไหน สภาที่ได้จากหลังการเลือกตั้งจะเห็นอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นควรมีการแก้ไข เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่พิกลพิการทั้งบททั่วไปและบทเฉพาะกาลแต่แน่นอนว่าแก้ไขยาก เพราะได้เสียงข้างมากยาก และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ได้สะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่ได้ ทั้งบัตรเลือกตั้ง ทั้งกลไกที่จะแปรผลการเลือกตั้งให้มาเป็นคะแนนเสียง

“ในระหว่างที่เราปฏิบัติหน้าที่อาจไม่มีอำนาจและความน่าเชื่อที่อย่างที่ควร แต่เราก็ทำได้ในระดับหนึ่ง เราก็มีการดำเนินการ ดำเนินคดี แต่มีความลำบาก มีอุปสรรคเยอะกว่าปกติ” วัส กล่า

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.