(สวมกุญแจมือ) ฮาคิม อัล อาไรบี (ที่มา: Facebook/Banrasdr Photo)

Posted: 11 Dec 2018 05:20 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-11 20:20


ศาลอาญาฝากขังฮาคิม อัล อาไรบี นักเตะชาวบาห์เรนที่ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลีย ผู้ถูกจับกุมที่ประเทศไทย เป็นเวลา 60 วัน ทนายคัดค้านการฝากขัง เหตุไม่จำเป็น ออกหมายจับโดยมิชอบ ขอประกันตัวแต่ศาลปฏิเสธ ด้านกระทรวงการต่างประเทศระบุ แม้ไทย-บาห์เรนไม่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ประเทศต้นทางสามารถขอให้ส่งตัวได้ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทย

11 ธ.ค. 2561 เฟซบุ๊คของสำนักกฎหมาย NSP Legal Office รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ของฮาคิม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศออสเตรเลีย แล้วถูกจับกุมขณะกำลังเข้าประเทศไทยเมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมาว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนำตัวเขาเข้าขออนุญาตฝากขังที่ศาลอาญา รัชดา

ทนายความของฮาคิมได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากการควบคุมตัวต้องเป็นการควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อการสอบสวน แต่คดีนี้ไม่มีเหตุให้พนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนในความผิดตามหมายจับ จึงไม่มีเหตุให้ต้องฝากขัง อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ไม่สามารถออกหมายแดงได้กับผู้ลี้ภัย หรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ได้รับการยืนยันแล้ว ซึ่งกรณีฮาคิมได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยโดยประเทศออสเตรเลียแล้วตั้งแต่ปี 2560 การออกหมายจับของสำนักงานอัยการสูงสุดจึงเป็นการออกหมายจับโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิต่อผู้ลี้ภัย

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 60 วัน ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และทนายความสิทธิมนุษยชนใช้ตำแหน่งทนายความประกันตัว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากฮาคิมถูกขังในระหว่างการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและอยู่ระหว่างการรอเอกสารจากประเทศผู้ร้องขอ จึงยกคำร้อง

ฮาคิมเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1058/2561 ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2561 กรณีทางการบาห์เรนขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในข้อหาวางเพลิง ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายในสถานที่สาธารณะและใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมฯ ครอบครองวัตถุไวไฟและทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตามหนังสืออัยการสูงสุด ด่วนที่สุดที่ 0004.2/14210 ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2561

NSP Legal Office ยังระบุอีกว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอ้างว่า ฮาคิมถือเอกสารรับรองการเดินทางจากประเทศออสเตรเลีย เลขที่ PU 0074841 เดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ทางสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อออกจากเครื่องบิน ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้แสดงตัวและควบคุมตัวฮาคิม เนื่องจากทวีโชติ ตติยเพิ่มพูน นักการทูตชำนาญการ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้ตรวจสอบผู้โดยสารชื่อนายฮาคิม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อัล อาไรบี ผู้ต้องสงสัยจากบาห์เรนตามหนังสือ กต.1402/2737 ลงวันที่ 27 พ.ย. 2561 เรื่อง คำร้องขอให้จับกุมบุคคลสัญชาติบาห์เรน และหนังสือจากสถานทูตบาห์เรนเลขที่ 2/2/107-18-81

เมื่อ 8 ธ.ค. ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้มีแถลงชี้แจงกรณีการจับกุมฮาคิมว่า เขาถูกกักตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสุวรรณภูมิเมื่อเดินทางมาถึงจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 27 พ.ย. 2561 เวลา 20.50 น. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 การกักตัวดังกล่าวเป็นไปโดยการตอบสนองต่อการแจ้งหมายแดง ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนจากสำนักงานกลางตำรวจสากลแห่งชาติออสเตรเลีย (Interpol National Central Bureau) และคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลบาห์เรนเพื่อจับกุมและขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

โดยในวันที่ 3 ธ.ค. สถานเอกอัครราชทูตบาห์เรนได้นำส่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบคำร้องขอจับกุมชั่วคราวต่อฮาคิมแก่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาคำร้องขอจับกุมชั่วคราวได้ถูกส่งให้แก่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ระหว่างรอผลพิจารณาของศาลข้างต้น ฮาคิมก็ถูกกักตัวไว้ที่สถานกักกันตัวคนต่างด้าวสวนพลู ตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง โดยภายใต้กฎหมายไทยศาลเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าการกักตัวอาจได้รับการขยายระยะเวลาหรือไม่ หากได้รับอนุญาต ระยะเวลาที่ขยาย จะไม่เกิน 12 วันต่อคำร้องขอแต่ละครั้ง

ตามแนวทางของพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดอาจพิจารณายื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อศาลตามคำร้องขอของรัฐบาลบาห์เรนภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่จับกุม เมื่อศาลรับพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวแล้ว ศาลจะดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนหลักฐานและคำให้การของพยานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ฮาคิมมีสิทธิในการให้ ข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และพยานหลักฐานต่างๆ ต่อศาล

นอกจากนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว บุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิจารณาและทบทวนต่อไปอีก ถ้าหากมีการอุทธรณ์ การดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะถึงที่สุดภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น

ในกรณีหมายแดงนั้น ข่าวของ กต. ระบุว่า แม้หมายแดงจะถูกถอนจากฐานข้อมูลของตำรวจสากลแล้ว แต่กระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทางการไทยได้รับคำร้อขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลบาห์เรนเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 และการนำส่งต่อมาซึ่งเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับออกหมายจับชั่วคราวเมื่อ 3 ธ.ค. 2561 ทั้งนี้ แม้ไทยกับบาห์เรนไม่มีข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ฝ่ายบาห์เรนก็สามารถขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักประติบัติต่างตอบแทนและความร่วมมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ


‘ฟีฟ่า’ ขอไทยปล่อยตัวแข้งบาห์เรนลี้ภัยกลับออสเตรเลีย หลังกักตัวตั้งแต่ 27 พ.ย.

แอมเนสตี้ฯ ร้องทางการไทยปล่อยตัวนักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรนกลับออสเตรเลีย

ฮาคิม ผู้ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2557 ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลปลายทางให้อาศัยในออสเตรเลียได้ไม่จำกัดเวลา หลังเขาถูกทางการบาห์เรนจับกุมตัวและทรมานในปี 2555 เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นเขาก็ออกมาพูดเรื่องการถูกทรมานอย่างเปิดเผย แต่เขาถูกจับโดยหมายแดงขององค์การตำรวจนานาชาติหรือ INTERPOL หลังเดินทางจากนครเมลเบิร์น ออสเตรเลียมายังสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา

การถูกจับตัวโดยหมายจับของตำรวจนานาชาติถูกตั้งคำถามโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ เนื่องจากหมายแดงของ INTERPOL ไม่สามารถใช้กับผู้ที่ได้รับการยืนยันสถานะเป็นผู้ลี้ภัย โดยฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวเมื่อ 1 ธ.ค. ว่า “ไม่มีเงื่อนไขใดที่เขาจะถูกส่งกลับไปยังบาห์เรน”

ด้านสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้มีแถลงการณ์ออกมาเพื่อขอให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคิมเมื่อ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยต้องการให้เขาได้เดินทางกลับไปยังออสเตรเลียโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคาดหวังว่ากรณีนี้จะได้รับการแก้ไขตามมาตรฐานสากล ทั้งยังขอให้องค์กรฟุตบอลของออสเตรเลียนำเรื่องของฮาคิมไปถึงรัฐบาลออสเตรเลียโดยเร็ว

หลังมีการเรียกร้องจากฟีฟ่า สโมสรฟุตบอลในออสเตรเลียรวมถึงสโมสรปาสโก เวล เอฟซี ต้นสังกัดของนักเตะชาวบาห์เรนก็ได้ออกมาสนับสนุนฮาคิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต้นสังกัดไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้เลย และยังมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการปล่อยตัวฮาคิมไปชุมนุมกันที่หน้าสถานกงสุลไทยในนครเมลเบิร์นด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.