Posted: 27 Nov 2018 06:40 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-27 21:40


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

“จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยภายหลังจากการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ปีหน้า?”

คือ คำถามส่วนหนึ่งที่ผมได้รับจากเพื่อนอเมริกันที่สนใจการเมืองไทย อย่างน้อยอเมริกันชนเหล่านี้ก็มีบริบทของความสัมพันธ์กับเมืองไทยไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เช่น เคยเดินทางไปเมืองไทย เคยอาศัยอยู่เมืองไทย หรือมีภรรยาเป็นคนไทย ฯลฯ

ผมตอบพวกเขาเหล่านั้นไปว่า ผมจนปัญญาที่จะคาดการณ์ เพราะอะไรๆ ต่างๆ ล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน ยิ่งการเมืองด้วยแล้ว เป็นเรื่องจับให้มั่นคั้นให้ตายไม่ได้มากที่สุดในบรรดาเรื่องราวหลากหลายในโลก เพราะการเมืองเป็นเรื่องของคน เรื่องของมนุษย์

แต่อย่างน้อยสำหรับการเมืองในประเทศไทยนั้น ก็มีสิ่งผิดปกติให้เห็นอยู่ประการหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในปีหน้าก็คือการให้สัมภาษณ์ของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ออกอาการร้อนตัว จนไม่อยากจะให้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ

แน่นอนว่านักสังเกตการณ์จากสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งจะเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทย ทั้งที่ตามวิสัยปกติแล้ว หากการเลือกตั้งไม่ส่อเค้าว่าจะมีการโกง รัฐบาลไทยก็ไม่ควรร้อนตัวไปกับการเข้าไปของคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ซึ่งว่าไปแล้ว รัฐบาลไทยจะอนุมัติอย่างเป็นทางการให้กลุ่มคนนักสังเกตการณ์ชาวต่างประเทศเหล่านี้เดินทางไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม มันมีผลแค่ภาพลักษณ์ความร้อนตัวของรัฐบาลไทยเท่านั้น หาได้มีผลในแง่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การเลือกตั้งในไทยแต่อย่างใดไม่

เพราะในฝ่ายอเมริกันที่เมืองไทยได้ตระเตรียมคนของเขาเพื่อลงพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยเอาไว้แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า ฝ่ายอเมริกันในไทยที่มีทั้งคนทั้งกำลังทุน จะมีการลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทยครั้งที่จะถึง แบบไม่เป็นทางการไปด้วย ไม่ว่าองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากสหภาพยุโรปจะเข้ามาไทยหรือไม่ก็ตาม

เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลอเมริกันผ่านกงสุลอเมริกันที่กรุงเทพ ขึ้นไปรับฟังความเห็นจาก นคร มาฉิม อดีต สส.พิษณุโลก ถึงเส้นสนกลในการเมืองไทยผ่านปากนักการเมืองไทยโดยตรง อย่าคิดว่า รัฐบาลอเมริกันจะเชื่อลมปากรัฐบาลเผด็จการทหารเพียงด้านเดียว ทั้งฝ่ายพลเมือง ฝ่ายการทูตและฝ่ายความมั่นคงอเมริกันล้วนมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ทางการเมืองหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว ใครๆ ก็ทราบดีว่า “ฝ่ายอำนาจมักเล่นตุกติก” ที่จะให้เชื่อฟังคำของนายดอน ปรมัตถ์วินัย คนเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน

การเลือกตั้งคราวนี้ ฝ่ายอเมริกันจึงแอบซุ่มจับตาดูในบางพื้นที่ ก่อนส่งรายงานเข้าสถานทูตอเมริกันที่กรุงเทพ และถูกส่งไปยังวอชิงตัน ดีซี

ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายจัดการเลือกตั้งในไทย เช่น กกต. เป็นต้น จะไขสืออ้างว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงใดก็ตาม มันจะมิใช่สิ่งที่มีผลต่อความเชื่อถือต่อรัฐบาลไทย กกต. หรือผู้จัดการการเลือกตั้งในประเทศไทย ที่ถูกแล้ว ฝ่ายอเมริกันเชื่อถือในข้อมูลที่พวกเขาไปหามาได้เองต่างหาก

การระงับยับยั้งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากชาติตะวันตกที่นายดอนพยายามจะอ้างความเป็นเอกเทศ เอกราชของไทยจึงไม่มีผลใดๆ ต่อข้อมูลที่รัฐบาลอเมริกันจะแสวงหาด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งนายดอนย่อมรู้อยู่แก่ใจดีในฐานะของการเป็นอดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ มาหลายประเทศ

กลับมาที่คำถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้ง ถ้าเป็นไปตามที่สื่อฝั่งตะวันออกของอเมริกันหลายสำนัก เช่น วอชิงตันโพสต์ นิวยอร์คไทมส์ เป็นต้นพากันวิเคราะห์ก็จะเห็นว่า สื่ออเมริกันมีความเชื่อในทฤษฎีอำนาจเก่า-อำนาจใหม่

อำนาจเก่า หมายถึง กลุ่มอำนาจเดิม คือ กลุ่มข้าราชาการ นายทุน(ผูกขาดเดิม) ขุนศึก(กองทัพ) หรือก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทย

อำนาจใหม่ หมายถึง กลุ่มอำนาจใหม่ขั้วตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจเก่า คือ กลุ่มทุนใหม่ และกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย

สื่ออเมริกันเหล่านี้มองว่า ไม่ว่ากลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มอำนาจใหม่จะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม โอกาสที่จะเกิดกลียุคมีเท่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีกำลังของตน ไม่มีใครยอมแพ้ใคร ถ้ากลุ่มอำนาจเก่าชนะ กลุ่มอำนาจใหม่ที่มีประชาชนอยู่ในมือมากกว่าก็จะไม่ยอมเช่นกัน ขณะเดียวกันถ้ากลุ่มอำนาจใหม่ชนะ กลุ่มอำนาจเก่าก็คงไม่ยอม พวกเขาต้องการคงอำนาจไว้เหมือนเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แรงเบียดเสียดทางการเมืองเช่นนี้ย่อมทำให้โอกาสของความรุนแรงเข่นฆ่าเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่กติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ไม่เอื้อต่อฝ่ายกลุ่มอำนาจใหม่เลย กลุ่มอำนาจเก่าเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างมาก

“คะแนนเสียงของประชาชนจะเป็นเสียงชี้ชะตาของประเทศไทย” Steve Russo ล็อบบี้ยีสต์และผู้สนใจการเมืองไทยมาหลายปีจากไทสัน คอร์นเนอร์ เวอร์จิเนีย บอกผม “แต่...มันอาจไม่จบลงแค่นั้น มันอาจมีภาคต่อไป”

เขาบอกว่า ดูเผินๆแล้ว สถานการณ์ที่น่าเหลือเชื่อนี้ไม่น่าจะเกิด แต่มันอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อความขัดแย้งในสังคมไทยยังดำรงอยู่ เกิดแรงเสียดทานขึ้น และเมื่อนั้นฝูงปิศาจย่อมปรากฏกาย

นี่คือความน่ากลัวของการเมืองไทยภายหลังจากการเลือกตั้ง

เพราะไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็คงไม่อาจเลี่ยงความรุนแรงได้ อาจส่งผลให้เกิดวงจรอุบาทว์รัฐประหารซ้ำซาก ซึ่งก็จะเดินไปเข้าทาง “กลุ่มอำนาจเก่า”

ส่วนราคาคุยของตัวแทนกลุ่มอำนาจเก่านั้นเขาบอกว่า กลุ่มสามมิตรตั้งราคาตัวเองไว้สูง ซึ่งหากดูโปรไฟล์ของของพวกเขาก็จะเห็นว่า กลุ่มการเมืองเก่าเหล่านี้ประสบความล้มเหลวในการตั้งพรรคการเมืองใหม่มาแล้วอย่างไร (พรรคมัชฌิมาธิปไตย ; ผู้เขียน) ครั้งนี้ เป็นเพียงการโหนกระแสทหารที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา แห่งฝ่ายอำนาจเก่า

ที่สำคัญ กลุ่มอำนาจเก่าเหล่านี้ ไม่มีแรงดึงดูดต่อชุมชนต่างจากประเทศเอาเลย ในยามที่ข้าราชการไทยในต่างประเทศหน่วยงานต่างๆ ต่างพากันใส่เกียร์ว่าง อยู่ไปวันๆ สิ้นเดือนรับ สิ้นเดือนรับ

แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปในทางร้าย ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายดอน ปรมัตถ์วินัยพูดไว้แทบทั้งหมด !! (ถ้าลองสำรวจสถิติกันใหม่ๆ กันอีกครั้ง เช่น ตัวเลขนักท่องเที่ยวไปไทย ตัวเลขสินค้าของไทยมาตลาดอเมริกันเป็นต้น)

จะหวังอะไรกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาอเมริกันและสายตาคนยุโรปด้วยเล่า เพราะมันป่นปี้แหลกเหลวจากความเป็นรัฐเผด็จการไปตั้งนานแล้ว...

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.