ภาพเรือดำน้ำของกองทัพจีน (ที่มา:วิกิพีเดีย)

Posted: 27 Nov 2018 04:30 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-27 19:30


ทางการจีนกำลังวางแผนสร้างฐานสำหรับเรือดำน้ำที่ความลึกราว 6,000 - 11,000 ม. ในทะเลจีนใต้เพื่อเป็นแหล่งปฏิบัติการทางการทหารและวิทยาการเรือดำน้ำที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์จัดการแทนคน ซึ่งอาจเป็นอาณานิคมใต้น้ำแหล่งแรกของโลกที่มีปัญญาประดิษฐ์

เมื่อ 26 พ.ย. 2561 สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่าทางการจีนได้เปิดโครงการสร้างฐานปฏิบัติการใต้ทะเลในทะเลจีนใต้ เพื่อรองรับเรือดำน้ำแบบไร้มนุษย์ที่จะปฏิบัติภารกิจด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคง ในร่องลึกของมหาสมุทรที่เรียกระดับความลึกนี้ว่าเขตฮาดาล (Hadal Zone) หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเดินทางไปเยือนสถาบันใต้น้ำอีกแห่งหนึ่งที่มณฑลไห่หนานเมื่อเดือน เม.ย. สีจิ้นผิงกล่าวไว้ว่า "ไม่มีถนนที่ใต้ทะเลลึก พวกเราไม่จำเป็นต้องไล่ตาม (ประเทศอื่น) พวกเรานี่แหละคือถนน"

พื้นที่ๆ เรียกว่า "เขตฮาดาล" ที่ตั้งชื่อตามฮาเดส เทพเจ้าแห่งยมโลกตามปกรณัมกรีก ชวนให้นึกถึงเรื่องราวที่เหล่านักวิทยาศาสตร์และคนเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่นชอบคือเรื่องการดำลึกลงท้องทะเลและเรื่องราวเมืองใต้ท้องทะเลอย่างนครแอตแลนติส เขตฮาดาลที่จะถูกใช้สร้างฐานทัพนี้จะมีลักษณะเป็นหลุมรูปตัววีในจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรที่ความลึกระดับ 6,000-11,000 เมตร

โครงการนี้จะใช้เงินจากภาษีของประชาชนจำนวน 1,100 ล้านหยวน (ราว 5,200 ล้านบาท) โดยที่นักวิทยาศาสตร์ในโครงการกล่าวว่ามันจะเป็น "เทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนโลกได้" และบอกว่ามันมีความท้าทายเทียบเท่ากับการสร้างอาณานิคมบนดาวดวงอื่น โดยที่วิศวกรของโครงการบอกว่าฐานใต้น้ำนี้จะมีลักษณะคล้ายสถานีอวกาศ โดยจะมีท่าจอดและต้องพัฒนาวัสดุที่ทนต่อแรงดันน้ำในทะเลลึกได้

SCMP รายงานว่า ฐานดังกล่าวจะใช้เรือดำน้ำหุ่นยนต์ในการลาดตระเวนสำรวจพื้นดินใต้ทะเลเพื่อบันทึกและจัดรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตรวมถึงเก็บตัวอย่างแร่ โดยจะมีห้องแล็บปฏิบัติการภายในตัวเองเพื่อวิเคราะห์ตัวอย่างเหล่านี้และรายงานให้กับหน่วยงานทางภาคพื้นดิน โดยระบบปัญญาประดิษฐ์ในฐานเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่อย่างอัตโนมัติ

นักวิทยาศาสตร์รายอื่นๆ มีความกังขาในเรื่องฐานทัพนี้ว่าจะเกิดปัญหาในระดับการเมืองหรือไม่ เพราะมันตั้งอยู่ที่ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ทางน้ำที่มีข้อพิพาทสูงสุดในโลก มีประเทศจำนวน 7 ประเทศที่อ้างสิทธิเหนือเขตแดนนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนการสร้างฐานใต้น้ำ มองว่าจีนอาจจะอ้างใช้ฐานปฏิบัติการนี้เพื่อเอาข้อมูลไปแลกเปลี่ยนกับประเทศใกล้เคียงเป็นการซื้อใจพวกเขา

ยังมีข้อวิจารณ์อีกประการหนึ่งจากนักวิทยาศาสตร์คือเรื่องที่พื้นดินใต้ทะเลลึกเป็นสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเลวร้ายมากไม่ว่าจะมาจากแรงดันน้ำสูง การกัดกร่อนหน้าดิน แถมสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและแผ่นดินไหวก็อาจส่งผลต่อสิ่งก่อสร้างใต้ทะเลและมีโอกาสทำให้ต้องใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนเกินจากงบเดิมที่ประเมินไว้อย่างมาก

นักวิทยาศาสตร์ยังระบุถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะพยายามสร้างความร่วมมือจากฟิลิปปินส์ในการขอสร้างฐานทัพใต้น้ำที่ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลาซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟใต้น้ำ รวมทั้งประเด็นความอ่อนไหวทางการเมือง แต่นักวิทยาศาสตร์จีนบอกว่าพวกเขาเชื่อว่าจะขอความร่วมมือจากฟิลิปปินส์ได้

เรียบเรียงจาก

Beijing plans an AI Atlantis for the South China Sea – without a human in sight, SCMP, Nov. 26, 2018

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.